ลุกมาน มะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้
เปิดตัว“เสียงผู้หญิงชายแดนใต้”ปีที่2
รายการวิทยุเน้นคนทำงานภาคประชาสังคม
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 มีนาคม 2554 ทีโรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมและภาคีต่างๆ ได้เปิดตัว รายการวิทยุ “เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก Oxfam GB และ สหภาพยุโรป โดยนายสมศักด์ เหล่าเจริญสุข ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง เปิดงาน
นางโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) เปิดเผยว่า ที่มาของโครงการ มาจากความต่อเนื่องของการจัดรายการวิทยุของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงปีที่ 1 ที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ที่ผู้หญิงและคนในชุมชนได้รับผลกระทบ
“แต่ปีที่ 2 ของการจัดรายการวิทยุเน้นการนำเสนอเนื้อหาของผู้หญิงและคนทำงานภาคประชาสังคม ที่กำลังขับเคลื่อนงาน เพื่อที่จะร่วมกันก้าวข้ามสถานการณ์ความยากลำบาก” นางโซรยา กล่าว
นางสาวอัสรา รัฐการันณย์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ กล่าวว่า ผู้หญิงที่จัดรายการมีทั้งผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เคยจัดรายการปีแรกและผู้หญิงจากภาคประชาสังคม ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการจัดรายการวิทยุมาก่อน
“คาดหวังว่า การจัดรายการวิทยุ จะช่วยเสริมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญ ในการใช้เสียงและใช้สื่อวิทยุในการสื่อสารกับสาธารณะภาใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง” นางสาวอัสรา กล่าว
นางสาวอัสรา กล่าวอีกว่า สำหรับสถานีวิทยุต่างที่ร่วมภาคี ในการออกอากาศประกอบด้วยสถานีวิทยุหลักและสถานีวิทยุชุมชนรวม 13 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่การออกอากาศในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลื่อเว็บไซท์ www.civicwomen.com และ http://exten.pn.psu.ac.th โดยจะเริ่มออกอากาศทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2554 เป็นต้นไป
นายสมศักด์ กล่าวว่า ทางสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่องมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ มีการเก็บตัวเลขสถานการณ์ความรุนแรงและวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อมองเห็นสถานการณ์ที่ชัดเจน โดยมีสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (cscd) ส่วนผู้หญิงในภาคประชาสังคมจะต้องมาดูแลผู้หญิงในสังคม 2 ประเด็น คือ ความทุกข์สุขของผู้หญิงในชุมชน และประสานความช่วยเหลือกับองค์กรภาคอื่นๆ