Skip to main content

 

 

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

 

ถึงขณะนี้ “แผนพัฒนาภาคใต้” กลายเป็นคำฮิตติดตลาดในหมู่นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวในภาคใต้

ด้วยเพราะแต่ละโครงการภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้ ล้วนแล้วแต่เป็น “อภิมหาโปรเจ็กต์” ที่พร้อมจะก่อผลกระทบต่อผู้คนในภาคใต้ในระดับพลิกเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา

หลากหลายเวที หลากหลายวงสนทนา ในหลายๆ วาระ จึงมีหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องนี้ติดอยู่ในวาระของการพูดคุย พร้อมๆ กับพูดถึง “แผนพัฒนาภาคประชาชน”

นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้แทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น วิเคราะห์ถึงปัญหาการขับเคลื่อนของเครือข่ายประชาชนภาคใต้เกี่ยวกับแผนพัฒนาว่า มาจากความไม่มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เห็นว่าบ้านของตัวเองด้อยพัฒนา จำเป็นต้องดึงโครงการของรัฐเข้ามาในจังหวัดของตน

“อีกอย่างหนึ่งที่ชี้ถึงชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของอำนาจและทุนนิยม คือการมองปัญหาเชิงเดี่ยวชาวบ้านไม่สามารถเชื่อมโยงภาพใหญ่ได้ ตรงนี้กลายเป็นจุดอ่อนทำให้มวลชนทะเลาะกันเอง เรื่องเอาไม่เอาโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ นับเป็นชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จากความร่วมมือระหว่างอำนาจกับทุน” นายกิตติภพ กล่าว

ภายใต้สภาพดังกล่าว จึงไม่แปลกที่นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเป็นอีกผู้หนึ่งที่พยายามกระตุ้นให้คนภาคใต้ ซึ่งกำลังเผชิญกับอภิมหาโปรเจ็กต์เกือบทุกจังหวัด ลุกขึ้นมาทำแผนพัฒนาของตัวเอง ถึงขั้นบรรจุให้การสนับสนุนประชาชนจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ฉบับภาคประชาชน ไว้ในแผนปฏิบัติงานหลักของคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน

พร้อมกับกำหนดให้ภารกิจการลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เป็นภารกิจหลักของอนุกรรมการสิทธิชุมชนด้วย โดยจะเชิญหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง มาเปิดเผยรายละเอียดข้อเท็จจริงของแต่ละโครงการ เพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้มีโอกาสรับข้อมูลแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของภาครัฐ

“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีโครงการอาสาสมัครคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ผมอยากให้มีตัวแทนภาคประชาชนในแต่ละจังหวัดเข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เบื้องต้น หากมีการละเมิดสิทธิประชาชน หรือประชาชนถูกคุกคาม สามารถติดต่อโดยตรงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ทันที ขณะเดียวกันคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็สามารถแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ลงปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ด้วย เวลามีเรื่องเร่งด่วนเกิดขึ้นมา จะได้สามารถลงสู่พื้นที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว

ตามด้วยเสียงตอกย้ำจากนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี อนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่บอกว่า โจทย์ที่จะระดมความคิดร่วมกันคือ จะยกระดับการต่อสู้ของเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ จนนำมาสู่การร่างแผนพัฒนาภาคใต้ฉบับประชาชนได้อย่างไร ทำอย่างไรที่จะทำให้ให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน มีกลไกในการประสานเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ในแต่ละจังหวัด

อันไม่แตกต่างจากข้อเสนอของนายสมบูรณ์ คำแหง จากเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ที่กล่าวว่า แต่ละพื้นที่จะต้องมีกระบวนการการให้ข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน พร้อมกับยกกรณีตัวอย่างโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งอยู่ในสถานการณ์คับขัน จำเป็นต้องตรึงพื้นที่ พร้อมกับดึงประชาชนจากส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เพราะส่อเค้าว่าน่าจะเป็นการต่อสู้ระยะยาว

“เราจะยกระดับให้แต่ละพื้นที่ สามารถมองปัญหาเชื่อมโยงเป็นองค์รวมได้อย่างไร เราควรจะจัดให้มีการพบปะกันภายในพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาของภาครัฐ เพื่อนำมาสู่การเคลื่อนไหวร่วมกัน พัฒนาขึ้นเป็นเครือข่ายประสานงานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละพื้นที่ให้ชัดเขจนยิ่งขึ้น ประเด็นสำคัญก็คือ เราควรจัดทำข้อมูลของแต่ละพื้นที่ โดยดึงอาจารย์และนักวิชาการในพื้นที่ เข้ามาช่วยศึกษาและรวบรวมข้อมูล” นายสมบูรณ์ กล่าว

สำหรับแผนพัฒนาภาคใต้ภาคประชาชนของจังหวัดสตูล นายสมบูรณ์ระบุว่า จะยึดเศรษฐกิจ 3 ขา คือ การท่องเที่ยว เกษตรกรรม และการประมงพื้นบ้าน แม้แผนพัฒนาภาคใต้ของประชาชนจะยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่มีแนวโน้มจะเป็นไปตามวิถีชีวิตคนภาคใต้ นั่นคือภาคการท่องเที่ยว เกษตรกรรม และประมงพื้นบ้าน

ส่งผลให้ข้อเสนอจากนายวันชัย พุทธทอง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ มุ่งตรงไปที่การจัดระบบการติดต่อประสานงานของเครือข่ายภาคประชาชนที่ควรจะเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพื่อให้แกนหลักคือเครือข่ายประชาชนจังหวัดสตูล, สงขลา และนครศรีธรรมราช ได้เชื่อมต่อกับสุราษฎร์ธานี อาทิ เครือข่ายคัดค้านโครงการผันน้ำตาปี–พุมดวง, เครือข่ายสมุย–พะงันที่ออกมาต่อต้านการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย เหมือนกับเครือข่ายประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับเครือข่ายประชาชนจังหวัดชุมพรบ่อยครั้ง

“แผนพัฒนาภาคใต้ภาคประชาชน เป็นโจทย์ที่แต่ละพื้นที่จะต้องร่างขึ้นมา จากความต้องการของตัวเอง โดยความช่วยเหลือของนักวิชาการในพื้นที่ และภาคีเครือข่าย แล้วนำมาถกกันระหว่างเครือข่ายจังหวัดต่างๆเพื่อนำเนื้อหามาเรียบเรียงต่อเชื่อมกันให้เป็นภาพรวมของแผนพัฒนาภาคใต้ภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรม”

เป็นข้อสรุปในการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ภาคประชาชน จากของนายวันชัย พุทธทอง