Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สภาพพื้นที่ทั่วไปของจังหวัดสตูลเป็นชั้นหินปูนเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุประมาณ 400 ล้านปี คุณสมบัติหินผุกร่อน สามามารถละลายน้ำง่าย เมื่อชั้นหินผุและเกิดการละลายน้ำ ลักษณะใต้ดินจึงเป็นโพลงถ้ำ เมื่อชั้นหินพังแผ่นดินจะเกิดการยุบตัว

นายเลิศสิน กล่าวว่า สำหรับพื้นที่อำเภอควนโดนไปจนถึงตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ซึ่งจะเป็นพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนทุ่งนุ้ย เป็นชั้นหินแกรนิต ทนทานกว่าหินปูนพอสมควร ถ้าจะสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ บริเวณตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง ควรศึกษาพื้นที่โครงการและอาณาบริเวณให้รอบคอบว่า มีหินปูนอยู่มากน้อยเพียงไร มีโพรงถ้ำใต้ดินหรือไม่ สิ่งสำคัญหินปูนมีคุณสมบัติละลายน้ำง่าย เขื่อนมีโอกาสแตกสูง ทั้งนี้ควรศึกษาอย่างละเอียด

นายจอมพร เจริญวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสตูล เปิดเผยว่า บริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) อ่างเก็บน้ำคลองช้าง ตำบลทุ่งนุ้ย จะต้องศึกษาข้อมูลทุกด้าน ไม่ว่าด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพฯลฯ ซึ่งจะประเมินหมด เพราะมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านอยู่แล้ว

นายจอมพร กล่าวต่อไปว่า ถ้าจังหวัดสตูลมีชั้นหินผุจริง จะมีทางเลือก 3 ทางคือ ไม่สร้าง หรือต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างเข้ามาทำให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นฝายทดน้ำ สิ่งที่ต้องคิดก็คือ ถ้าสร้างอ่างเก็บน้ำ 30 กว่าล้านคิวไม่ได้ จะมีหนทางในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำใช้สำหรับอุปโภค บริโภค และน้ำใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้ง ของจังหวัดสตูลในอนาคตอย่างไร กระบวนการศึกษาจึงต้องนำเหตุและผลมาประเมินเชิงประจักษ์ว่า จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร