Skip to main content

นางสาวอามีเน๊าะ อารง นางสาวนิมาเรียม คะเนรัตน์ นางสาวสุกัญญา อธิกธาดา นางสาวณัฐธิดา หูเขียว นางสาวปริญญา สังข์ทอง

นักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

สัมภาษณ์พิเศษ “หมอแว” นายแวมาฮาดี แวะดาโอ๊ะ ถอดบทเรียนชีวิตจากหมอนักประชาสังคม ชีวิตในวังวลคดีเจไอ ก่อนเข้าสู่ถนนการเมือง ‘อุ้ม’... คือ จุดเปลี่ยนชีวิต

 “หมอแว” นายแพทย์แวมาฮาดี แวะดาโอ๊ะ

หมอเยียวยาสังคม

           วิถีชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นชุมชนที่มีชาวคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ การดำเนินชีวิตย่อมมีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม หรือวัฒนธรรม ด้วยเพราะในสามจังหวัดชายภาคใต้ ยังมีชาวพุทธและชาวคริสต์อาศัยผืนแผ่นดินเดียวกันมาเป็นเวลาช้านาน

           หลายครั้งที่เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมกับวิถีมุสลิม จนนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิของผู้ที่ถูกหลงลืม หรือถูกละเมิดจากผู้ปกครอง จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม มักจะมีชายผู้หนึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้ ชายผู้เรียกขานตัวเองว่า “แพทย์ของสังคม”

           นั่นคือ “หมอแว” หรือนายแพทย์แวมาฮาดี แวะดาโอ๊ะ ลูกครึ่งจีนผสมมลายู จากหมู่บ้านยะกัง จังหวัดนราธิวาส ผู้มีบรรพบุรุษฝ่ายบิดามาจากเมืองจีน บรรพบุรุษฝ่ายมารดามาจากมาเลเซีย ถึงแม้จะเกิดในครอบครัวยากจน แต่ทุกคนก็พยายามเรียนหนังสือ ในบรรดาพี่น้องเรียนแพทย์ 4 คน เรียนวิศวกรรมศาสตร์ 4 คน หมอแวตระหนักเสมอว่าบ้านของเขายังขาดโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ รวมทั้งโอกาสการเข้าถึงการรักษาพยาบาลทางการแพทย์

           “ที่ผมเจอในขณะที่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล คือเรื่องความไม่เป็นธรรมในการจ่ายยา ยาราคาแพงจะใช้กับคนรวย ส่วนคนจนได้ยาคุณภาพต่ำราคาถูก ผมพยายามเรียกร้องสิทธิตรงนี้ให้กับประชาชน ก็มีปากเสียงกับผู้ร่วมงานอยู่เรื่อย แต่เราก็ภูมิใจเพราะสิ่งที่เราทะเลาะกับเขาในวันนั้น วันนี้มันเกิดผล...

            “คนในพื้นที่ไม่ค่อยมีโอกาสมาเรียนแพทย์เรียนพยาบาล ต้องเอาคนจากที่อื่นมาเป็นหมอรักษาคนที่นี่ พอเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ย้ายออกไปกันหมด แล้วก็ส่งคนอื่นมา...การรักษาโรคก็ไม่จบ ทำไมไม่เอาเด็กที่นี่เรียนหมอเรียนพยาบาล ตามหลัก ‘อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ’ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

สู่ภาคประชาสังคม

           นอกจากความไม่เป็นธรรมเรื่องสิทธิทางสาธารณสุข สิทธิการศึกษา นอกจากจะมองเห็นผ่านสายตาของผู้เป็นแพทย์แล้ว ประสบการณ์การทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO และภาคประชาสังคม ทำให้หมอแวมองเห็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิทางการสื่อสารอีกด้วย
           “ผมร่วมงานกับ NGO แล้วก็มาทำงานภาคประชาสังคม ตอนนั้นมีการรณรงค์เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน พูดถึงการเมืองแบบมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยทางตรง แล้วพูดถึงเรื่องวิทยุชุมชน มันสอดรับกับกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บัญญัติไว้ว่า ‘คลื่นความถี่เป็นของสาธารณะ’ ตอนนั้นเราก็ออกมาต่อสู้เรื่องนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แบบนี้ คลื่นวิทยุก็ต้องเป็นของของประชาชน…
          “วิทยุสมัยนั้นมีอยู่ 500 สถานี ทหารเอาไป 200 ตำรวจเอาไป 200 กรมประชาสัมพันธ์เอาไป 100 ตกลงประชาชนไม่มีคลื่นวิทยุเป็นของตัวเองเลย เราจะผลิตรายการเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนก็จะต้องไปเช่าช่วงเวลาจาก อสมท. บ้าง ทหารบ้าง เราก็เลยเรียกร้องตรงนี้...

            “ผมนำคณะไปศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมัน 11 คน เป็นเวลาเกือบ 1 เดือน เพื่อไปดูรูปแบบนำกลับมาใช้กับบ้านเรา เรื่องวิทยุชุมชนเป็นอีกประเด็นสาธารณะที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้อง ไปพูดออกทีวีบ้าง ในที่สัมมนาบ้าง ร่วมประท้วงบ้าง ออกไปเรียกร้องบ้าง ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่แหลมคมในขณะนั้น เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล... ”

สู้เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน

           “ปี 2544 ผมเข้าไปเป็นตัวแทนในพื้นที่ภาคใต้เพื่อเคลื่อนไหวและเชื่อมโยงกับส่วนกลาง เราก็ได้สัญญาณที่ไม่ดีอยู่แล้วว่า การเคลื่อนไหวของเราค่อนข้างจะแหลมคมไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาสลับสับซ้อน การเรียกร้องของคนไทยในภาคอื่นๆ มีความยากลำบากแตกต่างจากคนที่นี่ บางประเด็นถ้าคนที่นี่ออกมาเรียกร้อง อาจจะถูกแปลงสารไปเป็นเรื่องอื่นได้ง่าย โดยเฉพาะการเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความยุติธรรม มันล่อแหลมที่จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน บางทีเราเรียกร้องเรื่องหนึ่ง กลับถูกมองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
             ด้วยพื้นที่สามจังหวัดมีลักษณะเฉพาะเป็น “พื้นที่สงคราม” รัฐเชื่อว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดน อยู่เบื้องหลังความรุนแรงที่เกิดขึ้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่การเรียกร้องในลักษณะเห็นตรงกันข้ามกับรัฐ มักจะนำไปเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคง ถึงแม้ลักษณะการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น จะไม่แตกต่างจากภาคประชาชนภาคอื่นๆ ของประเทศเลยก็ตาม
             “อย่างกรณีที่ดินเทือกเขาบูโด เราบอกว่าเป็นที่ดินที่ประชาชนครอบครองมาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่รู้กี่ยุสมัยแล้ว รอบๆ เทือกเขาบูโดประกอบด้วย 9 อำเภอ 22 ตำบล มีประชาชนเข้าไปอยู่อาศัยทำกินประมาณ 5–6 พันครัวเรือน คนเหล่านี้เข้าไปปลูกยางพารา และไม้ผลอื่นๆ..
             “อยู่ๆ พอปี 2542 รัฐก็บอกว่าที่ดินนี้เป็นของเขา เนื้อที่ทั้งหมด 96,000 ไร่ ทรัพย์สมบัติของประชาชนถูกรัฐยึดไปหมด สวนยางเข้าไปกรีดไม่ได้ พอต้นยางพาราหมดอายุจะเข้าไปโค่นปลูกใหม่ก็ไม่ได้ เราก็ต่อสู้เรื่องนี้กัน มีการประท้วงกันที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ผมก็เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสมาออกวิทยุ พยายามจูนความคิดเข้าหากัน แต่ประชาชนทนไม่ไหว เลยกลับไปขุดเสาหลักเขตที่รัฐเข้ามาปักทิ้ง ผมยังจำเหตุการณ์วันนั้นได้ กำนันยังบอกว่า เขาเคยเข้าป่ามาแล้ว โดนรัฐแบบนี้เขาอาจจะต้องเข้าป่าอีกครั้ง นี่คือการเรียกร้องของพวกเรา...”

              นอกจากประเด็นป่าไม้ สิทธิทำกินบริเวณชายฝั่งก็ยังอยู่ในความสนใจของนายแพทย์คนนี้ด้วย
“อีกทั้งในกรณีของสิทธิทำกินบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย หมู่บ้านชาวประมงริมหาดนราทัศน์ มีพื้นที่ชายฝั่งยาว 5 กิโลเมตร เป็นเขตเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ปลามักจะเข้ามาวางไข่ตามชายฝั่ง ตรงนี้ก็มีกฎหมายกำหนดชัดเจนว่า 5 ไมล์ทะเล หรือ 8 กิโลเมตร เป็นพื้นที่สาธารณะ ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปลาได้ ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย เช้าไปเย็นกลับมาทานข้าวกับครอบครัว แต่พอมีประมงพาณิชย์เข้ามา ชาวบ้านได้รับการว่าจ้างให้เป็นลูกเรือพาณิชย์ วีถีชาวประมงก็เปลี่ยนไปออกทะเลนานเป็นเดือนๆ ได้กลับมาพบครอบครัวนานๆครั้ง แถมยังใช้อุปกรณ์จับปลาเป็นอวนลาก–อวนรุน ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงทำลายล้างผิดกฎหมาย พวกเราไม่เห็นด้วยพยายามเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการ ขณะเดียวกันก็ทำปะการังเทียมจากท่อ PVC ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ใต้น้ำ”
 

เจอข้อหาก่อการร้าย

            การเรียกร้องดำเนินไปตามสิทธิของพลเมืองภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ด้วยที่นี่คือดินแดนสงคราม วันหนึ่งเรื่องราวของนักต่อสู่เพื่อสิทธิของพลเมือง จึงถูกโยงสู่เข้าไปเกี่ยวพันกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า

            “วันที่ 10 มิถุนายน 2546 ผมกำลังออกไปพบปะชาวบ้านเหมือนทุกวัน ก็มีชายฉกรรจ์ประมาณ 10 คน รถสามคันวิ่งเข้ามากระชากอุ้มผมขึ้นไปบนรถยนต์ ตอนนั้นผมยังมีอาการงงๆ อยากรู้ว่ามันเป็นเรื่องอะไร คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่เราออกไปเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับชาวบ้าน อาจจะไปขัดกับผลประโยชน์อะไรใครหรือเปล่า บวกกับเรามีเชื้อสายมลายูด้วย...

            “ระหว่างทางเขาบังคับให้เซ็นต์เอกสารตลอดทาง มีการทุบตี และจอดรถเป็นช่วงๆ พอถึงปั้มน้ำมันแห่งหนึ่ง เขานำผ้าร่มมาครอบหัวแล้วรูดสาย ผมหายใจสะดวกสลบไป ฟื้นอีกทีอยู่ในห้องมืดสี่เหลี่ยมไม่มีหน้าต่าง แต่มีแอร์ ไม่ทราบเลยว่าอยู่ที่ไหน จำได้ว่าตอนเราดิ้น เขาก็ทุบตี เท้าผมบวมมากเพราะถูกเหยียบไม่ให้ดิ้น ตอนนั้นก็เดินไม่ได้แล้ว สักพักก็มีคนเข้ามา 2 กลุ่มด้วยกัน...

             “กลุ่มแรก เข้ามาเกลี้ยกล่อม กลุ่มสอง เข้ามาขู่ให้เราเซ็นต์เอกสารโดยไม่รู้มีข้อความอะไร พร้อมกับซ้อมให้รับสารภาพ วันนั้นผมเกือบถูกช๊อตด้วยไฟฟ้า เขาเตรียมจะช๊อตอยู่แล้ว แต่ผมด่ากลับไป คิดว่าไหนๆ จะตายอยู่แล้ว ขอด่าเป็นครั้งสุดท้าย จนฝ่ายตรงข้ามเลิกคิดช็อตไฟฟ้าผม...

             “พอตื่นมาตอนเช้าของวันต่อมา ก็มีเอกสารบอกว่าจะปล่อยตัวกลับไป เอาเอกสารมาให้ผมเซ็นต์ผมก็ไม่ยอมเซ็นต์ อาหารผมก็ไม่กิน น้ำก็ไม่ดื่ม เพราะกลัวจะมียาพิษ สุดท้ายเขาจึงเอาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ถ้าไม่เซ็นต์เอกสารจะโยนผมลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ผมก็ไม่ยอมเซ็นต์ ตามสบายเลย ‘อินนาลิลลาฮ วะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน.’ เป็นสิทธิของพระเจ้าและยังมีพระเจ้าที่เราจะกลับไปหา แต่สุดท้ายเขาก็ไม่รู้ว่าจะบังคับผมยังไง เพราะผมยืนยันว่าจะไม่เซ็นต์...

              “พอบังคับไม่ได้ เขาจึงนำผมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะฆ่าผมก็ไม่ได้ เพราะภาคประชาสังคมจังหวัดนราธิวาสกว่า 500 คน ไปล้อมศาลากลางจังหวัดนราธิวาส เรียกร้องให้นำตัวผมกลับมา เพื่อนๆ อีกกลุ่มก็วิ่งหาผมที่จังหวัดยะลาแต่ก็ไม่พบ มีคนวงในมาบอกครอบครัวผมว่า ผมถูกจับตัวไปไว้ที่ไหน เพราะเขารับการกระทำแบบนี้ไม่ได้...

               “เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็มีการยัดเยียดข้อกล่าวหาต่างๆ นาๆ กล่าวหาว่าผมเป็นสมาชิกกลุ่มเจไอ หรือญะมาอะห์ อิสลามียะห์ (Jama ah Islamiyah) กลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในสามจังหวัดเราก็มีทั้งพูโล บีอาร์เอ็น แต่ก็ไม่คิดที่จะนำผมไปเข้าเป็นกลุ่มเหล่านี้ จากคดีใหญ่ก็มากล่าวหาคดีเล็กๆ คือคดีซ่องโจร...

                “ผมต่อสู้ภายใต้กระบวนการยุติธรรมนานมาก ทนายผมก็ไม่ได้พบ เพราะถูกอุ้มไปเสียก่อน เพื่อนๆ ที่สามจังหวัดก็ไม่มีใครกล้าขึ้นมาเยี่ยม เพราะกลัววจะถูกกล่าวหาเป็นเจไอ มีเพียงเพื่อนๆ ที่เป็นไทยพุทธเข้ามาเยี่ยมเยือนอยู่ไม่ขาดสาย ภรรยาผมต้องอุ้มลูกบ้าง จูงลูกบ้าง ขึ้นไปเยี่ยมที่กรุงเทพฯ น่าสงสารมากครับ ตอนนั้นผมมีลูก 10 กว่าคน ลองคิดดูสิผมทำงานคนเดียว ภรรยาผมไม่ให้ทำงานเลยให้ดูแลลูกๆ จบพยาบาล จบครูก็ให้ดูแลลูก พอเราถูกจับลูกคนหนึ่งเรียนอยู่โรงเรียนนานาชาติ กัวลาลัมเปอร์ เกือบจะเสียศูนย์ไปแล้วเพราะรู้ข่าวผม ในที่สุดผมต้องเขียนจดหมายถึงลูก โดยให้ผู้คุมแสกนแล้วก็เมล์ไปที่บ้าน แล้วลูกตัวเล็กๆ ที่เรียนอยู่ชั้นอนุบาล เขารู้จักและจำเราได้แล้ว แต่สื่อกันยังไม่ได้ ผมต้องเป็นวาดรูปภาพ ส่งไปให้แม่อ่าน แม่ก็อ่านไปร้องไห้ไป ครั้งหนึ่งผมวาดรูปแม่กำลังหุงข้าว วาดเด็กสองสามคนกำลังล้างจาน ผมกำลังจะสื่อกับพวกเขาว่า ให้ช่วยแม่ล้างจานด้วย”

                 แม้ช่วงเวลานรกจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่า ความทรงจำดำมืดยังอยู่ในตัวเขามิรู้หาย
“จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ผมเริ่มจะมีอาการประสาทหลอน วันนี้ถ้าขึ้นเครื่องบินขนาดเล็กแบบสี่ที่นั่งชั้นธุรกิจ ผมนั่งไม่ได้ครับ ยอมเช็คอินแล้วลงเลย ขึ้นลิฟต์ถ้าไม่ใช่ลิฟต์ใสก็ขึ้นไม่ได้เพราะรู้สึกอึดอัด ถ้าพักตามโรงแรมต้องพักแค่ชั้น 2–3 เท่านั้น สุขภาพจิตเสียหมด ทำฟันก็ปิดตาไม่ได้ ต้องเปิดหน้าขณะทำฟัน เพราะรู้สึกอึดอัดมากเวลาที่มีผ้ามาปิดหน้า หรือเวลาที่ต้องอยู่ในที่แคบๆ”

                  แม้จะผ่านเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัวและยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่ดูเหมือนว่า กำลังใจของนายแพทย์ผู้นี้มิเคยเลือนหาย ความศรัทธาในศาสนาและกำลังใจจากคนรอบข้างเป็นพลังผลักดันในเขาต่อสู้ต่อไป
 

สู้บนเวทีการเมือง

                 การก้าวผ่านประสบการณ์ตรงนี้ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เขา ผันตัวเองเข้าสู่การเมือง
“แรงบันดาลที่ให้ลงการเมือง มาจากประชาชนมามอบเงิน 7 แสนบาทพร้อมรถ 1 คัน ตอนหลังก็ยังส่งเงินมาให้อีกกว่า 1 ล้านบาท หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมยังมีเงินเหลืออีก 6 แสนกว่าบาท ผมออกเยี่ยมชาวบ้านทั้งหมด 618 หมู่บ้าน ตื่นเช้ามาก็ออก ตกเย็นก็กลับ พอได้ได้รับเลือกตั้ง ก็ยังเวียนรอบไปเยี่ยมรอบที่ 3 หลังจากถูกรัฐประหาร ทหารที่ทำรัฐประหารก็เอาผมไปทำงานในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ…

                  “พอสภานิติบัญญัติแห่งชาติหมดอายุ ประชาชนต้องการเห็นการเมืองใหม่ ไม่ใช่คิดแต่เรื่องเดิมๆ เราเป็นผู้แทนราษฎรก็ต้องลงไปดูแลราษฎร ตอนนี้คิดจะทำพรรคการเมืองเป็นของตัวเองคือ “พรรคธรรมมาภิบาล” เอาสัก 7 ที่นั่ง พวกเราประชาชนจะได้มาอยู่ในการเมืองมิติใหม่ 1.มิตการมีส่วนร่วม 2.มิติความเป็นเจ้าของพรรค 3.มิติของการลดคอรัปชั่น ชุมชนอิสลามบอกว่าใครขโมยเงินไม่เกินหมื่นก็ต้องถูกตัดมือ แต่นี่ขโมยของประชาชนไม่รู้กี่ร้อยล้านต่อหน้าต่อตา ขโมยทรัพย์สมบัติของสาธารณะจำนานมาก แบบนี้ต้องประหารชีวิต 7 ชั่วโคตร การคอรัปชั่นเป็นมะเร็งสังคม อย่างน้อยต้องมีคนกลุ่มหนึ่งออกมาพูดเรื่องนี้บ้าง”
                  แม้ทุกวันนี้ จะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งปวง แต่ดูเหมือนว่าความทรงจำอันดำมืด และความเศร้าใจต่อความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม ยังคงฝังลึกในหัวใจของชายผู้นี้

ฟ้องเพื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

                  “หลังจากออกมา ผมก็ฟ้องแพ่งเรียกไป 132 ล้านบาท ไม่ได้หวังอะไรมาก แค่ต้องการพูดต่อหน้าศาล เพื่อจะได้ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ตอนนี้คดีกำลังพิจารณาอยู่ ถ้าได้ผมรับค่าชดเชย ส่วนหนึ่งจะมอบให้กับมูลนิธิสมชาย นีละไพจิตร อีกส่วนนำไปช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำโดยอธรรม และส่วนสุดท้ายอยากจะนำไปสร้างศูนย์เล็กๆ มีสระน้ำ มีต้นไม้ มีห้องสมุด ใช้อบรมให้เด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี…”

                  ในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง หมอแวเริ่มต้นทำทุกอย่าง ทั้งทำเพื่อครอบครัว ทำเพื่อเพื่อนบ้าน และทำเพื่อพี่น้องร่วมศาสนา ด้วยสายตาที่มองเห็นถึงความเดือดร้อนของพลเมืองผู้ถูกหลงลืม หรือถูกรังแกจากรัฐ จนกลายเป็นศัตรูของรัฐด้านความมั่นคง
                   ทั้งๆ ที่ NGO หรือผู้ทำงานภาคประชาสังคม น่าจะเป็นแขนขาของรัฐเข้าช่วยเหลือประชาชน ที่รัฐไม่อาจดูแลได้ทั่วถึง ทว่า NGO และภาคประชาสังคมในสังคมไทย กลับกลายเป็นคู่ตรงข้ามของรัฐ ยิ่งในพื้นที่ล่อแหลม ดูเหมือน NGO และภาคประชาสังคม จะถูกจับตามองอย่างเข้มงวด
                   ขณะที่สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาครัฐยังไม่สามารถจัดการกับ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ได้ NGO และภาคประชาสังคม ที่เข้ามาช่วยเหลือมวลชนแทนรัฐ กลับถูกผลักให้เป็นศัตรูของรัฐ ความขัดแย้งจึงถูกทำให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น
                   ถึงเวลาแล้วหรือยัง รัฐจะปรับตัวเพื่อหาพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนประเด็น จากความหวาดระแวงและความกลัว อันเป็นแรงขับทางอารมณ์ ที่นำไปสู่การขยายตัวความขัดแย้ง มาสร้างความไว้วางใจ และความร่วมมือจากคนในพื้นที่ให้มากที่สุด ทั้งหมดไม่ใช่เพื่อชาวบ้าน และคนทำงานในพื้นที่เท่านั้น แต่เพื่อรัฐเองจะได้ง่ายต่อการแกะรอยและออกแบบการรับมือต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
                   อย่างน้อยๆ ความขัดแย้งแฝง (Latent conflict) ระหว่างภาคประชาสังคมกับรัฐ จะผ่อนคลายขึ้น และเมื่อวันนั้น รัฐอาจมีสายตามองเห็น ความขัดแย้งที่แท้จริง (Real conflict) ของสถานการณ์สามจังหวัดก็อาจเป็นได้