Skip to main content

 

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSW)

 

เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจี้ติดแก้ปัญหาเขาคูหา รองผู้ว่าฯสงขลา ลงสุ่มตรวจบ้านพังจากเหมืองหิน ประธานสภาพัฒนาการเมืองลงพื้นที่เรียนรู้การต่อสู้ตามสิทธิชุมชนของชาวคูหาใต้

 

ว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จันทสุวรรณ คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 เมษายน 2554  นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของการทำเหมืองระเบิดหินทำให้บ้านร้าวเสียหายจำนวน 326 หลังคาเรือน จะลงพื้นที่สุ่มตรวจบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากทำเหมืองหิน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2554 ที่โรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา นายจำนงค์ จิตรพิวัตน์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) พร้อมคณะ ประกอบด้วยนางพิชยา แก้วขาว นางปรีดา คงแป้น ที่ปรึกษา คปสม. และนายไมตรี จงไกรจักร ผู้ประสานงาน คปสม.ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา มีชาวบ้านเข้าร่วมให้ข้อมูลประมาณ 50 คน

นายจำนงค์ เปิดเผยว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อตนและคณะลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้า กรณีเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาและคปสม.เข้าร่วมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ชุมนุมเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาของภาคประชาชน โดยกรณีเหมืองหินเขาคูหา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง

นายจำนงค์ เปิดเผยต่อไปว่า ล่าสุดวันที่ 29 มีนาคม 2554 นายภูเบศ จันทนิมิ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงค์หนองเตย) ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้ว เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาต่อไป

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2554 ที่โรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา หมู่ที่ 9 บ้านหัวยาง ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ศาสตราจารย์สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง และคณะจำนวน 4 คนลงพื้นที่โดยมีชาวบ้าน 20 คนร่วมพูดคุย

ศาสตราจารย์สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง เปิดเผยว่า ตนและคณะสนใจลงมาศึกษา เรียนรู้กระบวนการปกป้องสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2540 และ2550 และเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการสัมปทานเหมือนหิน

            ศาสตราจารย์สุจิต กล่าวว่า สภาพัฒนาการเมืองส่งเสริมการเสริมสร้างการเมืองภาคประชาชน ประชาธิปไตยรากหญ้า ให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เสริมสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่ สร้างฐานประชาธิปไตยโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน แสดงสิทธิพลเมือง มีการรวมตัวกันก่อให้เกิดพลัง และแสดงศักยภาพของชุมชน รวมถึงการกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาของชุมชนบนพื้นฐานทรัพยากรของท้องถิ่น

            “เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา เป็นชุมชนหนึ่งที่เข้มแข็ง ควรได้รับการส่งเสริมยกให้เป็นแบบอย่างในการรักษาสิทธิของชุมชน สิทธิภาคพลเมือง ปัญหาเป็นการทดสอบชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ ว่าสามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้หรือไม่ มีการรวมตัวกันอย่างไร นำมาซึ่งรากฐานของประชาธิปไตยรากหญ้า อาจทำให้เกิดการตื่นตัวในชุมชนอื่น เราจะผลักดันชุมชนเขาคูหา ซึ่งมีความเข้มแข็งให้เป็นแม่แบบชุมชนจัดการตัวเองให้ภาครัฐเห็นปัญหา นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ และไม่เป็นธรรมของสังคม”  ศาสตราจารย์สุจิต กล่าว