Skip to main content

 

มูฮำหมัด ดือราแม 

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

           

 

                                    ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล

            เห็นหน้าค่าตากันแล้วสำหรับว่าที่สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. ที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งเมื่อไปวันที่ 3 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ที่แม้ผู้เข้ารับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนตามสายวิชาชีพที่หลากหลาย รวม 49 คน แต่ไฉนยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีแต่เด็กนักการเมือง จนถึงอาจถูกตั้งความหวังแค่การเป็นสภาตรายางหรือสภาหุ่นเชิด แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ระยะเวลาและผลงานเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์

                จากที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) แปลงมาเป็นสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สตต. ก่อนที่จะกลายมาเป็นสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน มีผลงานเป็นอย่างไร “ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล” นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมงานกับศอ.บต.ในฐานะที่ปรึกษา จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็นว่าที่ที่ปรึกษาชุดใหม่ล่าสุดด้วย อธิบายถึงผลงานและการทำงานของสตต.ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร บวกกับความหวังต่อสภาที่ปรึกษาชุดใหม่อย่างไร โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการร่วมกับไฟใต้

สตต.หรือสภาที่ปรึกษาชุดเดิมของสอ.บต. มีผลงาน และการทำงานเป็นอย่างไร

                ในช่วงที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในสมัยของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากถูกยุบไปในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการตั้งที่ปรึกษาของ ศอ.บต.ขึ้นมา จากนั้นถูกแปลสภาพเป็นสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สตต.

                 ผมและอีกหลายเป็นที่ปรึกษาของศอ.บต.ตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งเป็นสภาที่ปรึกษา เมื่อมีการตั้งเป็นสภาที่ปรึกษา การทำงานจึงเป็นเอกเทศมากขึ้น มีการตั้งประธานสภา มีรองประธานสภา มีเลขานุการ โดยมีการตั้งคณะทำงานของสภาที่ปรึกษาทั้งหมด 7 คณะ

                 เจตนรมย์ของ สตต. ตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ คือถ้าคนไหนเก่งเรื่องใดก็ให้มาร่วมกันทำงาน เช่น เก่งเรื่องศาสนาก็ดูแลเรื่องศาสนา คนที่เก่งเรื่องเศรษฐกิจก็ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ เอาปัญหาในทางปฏิบัติมาแก้ไข

                 ผลงานที่ผ่านมาของสภาที่ปรึกษา สตต. มีการผลักดันโครงการต่างๆ ให้ผ่านความเห็นชอบของ สตต. เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้แก้ไขปัญหา หรือมีการพัฒนาขึ้น เช่น โครงการฮัจญ์(การประกอบพิธีทางศาสนา ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย) ที่สามารถทำได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

                 ในเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบ ได้มีการทำหนังสือวิเคราะห์ปัญหาและการแก้ปัญหาความไม่สงบ จำนวน 3 เล่ม เพื่อแจกจ่ายให้ข้าราชการในพื้นที่ใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงาน เพราะทำให้ทราบว่าปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอะไรและเมื่ออ่านแล้วก็สามารถนำไปปฏิบัติได้

                  การแก้ปัญหาในเรื่องของศาสนา ในคณะทำงานด้านศาสนา มีการจัดพิมพ์หนังสืออีก 2 เล่ม คือ อิสลามความจริงที่ต้องรู้ และชุมนุมปาฐกถาผู้นำศาสนาอิสลามโลก แจกจ่ายให้ผู้นำศาสนา ตามมัสยิดหรือสถานการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อต้องการแก้ปัญหาที่ฝ่ายตรงข้ามบิดเบือนหลักศาสนาเพื่อก่อความไม่สงบ

                  อีกเรื่องที่ผลักดันและเกือบจะประสบความสำเร็จในขณะนี้ คือ การผลักดันร่างกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้นายกรัฐมนตรีลงนามและนำเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ให้ทันก่อนที่จะมีการยุบสภาในอีกไม่กี่วัน

                  ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูแลและพัฒนาในเรื่องการทำประมงชายฝั่งในจังหวัดปัตตานี มีการจัดซื้อเรือตรวจการณ์เพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย และมีการจัดสรรงบประมาณจัดทำปะการังเทียมและการป้องกันการบุกรุกชายฝั่ง

                  นี่คือผลงานหลักๆ เท่าที่ประมวลได้ นอกจากนั้น ยังมีการให้คำชี้แนะ เสนอข้อคิดเห็นต่างๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)ด้วย

ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นใดบ้างที่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และที่ผ่านมาการทำงานของสตต.ถือว่าเป็นปากเสียงของประชาชนได้ดีพอหรือยัง

                 สำหรับข้อเสนอแนะและความคิดเห็นที่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่คือข้อเสนอในเรื่องการแก้ปัญหาโดยใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร

                 โดยเรายึดอยู่ตลอดเวลาว่า การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ให้ได้ผล คือ 1.ทหารต้องใช้ระบบการเมืองนำการทหาร 2.การแก้ปัญหาความยากจน ซึ่ง ศอ.บต.ก็ได้ทำหลายโครงการ และ 3.การแก้ปัญหาความยุติธรรม เพราะเราเชื่อว่า ปัญหาเดิมเกิดจากชาวบ้านไม่ได้รับความยุติธรรม เกิดข้าราชการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความไม่สงบ เราก็จะต้องแก้ตรงนั้น และผลักดันให้เกิดความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายและความเสมอภาคในสังคม

                  นอกจากนั้นยังผลักดันเรื่องการศึกษา เพราะต้องการให้มีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เรื่องค่าตอแทนของของครูโรงเรียนตาดีกา การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับชุมชน มีการพูดกันว่า เราคิดแต่ไม่ได้ทำ จึงแก้ปัญหาโดยให้คนในพื้นที่คิดและนำไปทำเอง

                 ที่ผ่านมา สตต. เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เสียงของชาวบ้านได้เข้ามาอยู่ในโครงสร้างการแก้ปัญหาของรัฐ เป็นการสะท้อนปัญหาที่แท้จริง จนสามารถนำปัญหาที่สะท้อนมาให้รัฐบาลแก้ไขได้มาก

ความแตกต่างระหว่าง สตต.กับสภาที่ปรึกษาชุดใหม่เป็นอย่างไร

                 จากที่ทำงานมานั้น ถือว่า สตต.ชุดนี้ทำงานได้ดีที่สุด แต่ละคนที่เข้ามาทำหน้าที่ เป็นคนมีความรู้และมีความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และมีที่มาที่หลากหลายกว่าสภาที่ปรึกษาชุดใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น เพราะสภาชุดใหม่มีตัวแทนที่มาตามสาขาอาชีพ

                 ถ้าถามว่า สภาที่ปรึกษาชุดใหม่มีความครอบคลุมหรือไม่ ถือว่าครอบคลุม แต่ก็มีความโดดเด่นไม่เหมือนกัน ชุดที่มาจากการแต่งตั้ง มาตามความโดนเด่นของตัวบุคคล ส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง ได้มาจากคะแนนเสียง ไม่ใช้ความโดดเด่นของตัวบุคคลที่แท้จริง อาจไม่ใช่ตัวที่ดีจริงๆ ก็ได้ ได้มาเพราะมีคนรู้จักกว้างขวาง มีคนใส่คะแนนให้เยอะ ส่วนเรื่องความรู้ความชำนาญ ยังไม่พูดถึง เพราะจะรู้เรื่องเฉพาะในสายอาชีพของตนเอง

                  ความแตกต่างระหว่าง สตต.กับสภาที่ปรึกษาชุดใหม่ คือ สตต.มีบริบทการทำงานแค่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา แต่สภาที่ปรึกษาชุดใหม่ มีบริบทพื้นที่ที่กว้างกว่า คือ ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเพิ่มสงขลาและสตูล

                  ขณะเดียวกันระหว่างตัวแทนของ 3 จังหวัด กับสงขลาและสตูล อาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง เนื่องจากตัวแทนใน 3 จังหวัดมาจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่สตูลกับสงขลา ไม่มีผลกระทบโดยตรง ดังนั้นจึงต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกัน

                  ยกตัวอย่างเช่น ตัวแทนองค์กรปกครองท้องถิ่นของสงขลากับสตูลอาจจะคิดเรื่องเดียว คือ งบประมาณ เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยตรง อาจมองปัญหาจากผลกระทบโดยตรงไม่ชัดเจน

                  ตัวแทนทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน คือ ตัวแทนหอการค้าจังหวัดสงขลากับสตูล อาจมองเรื่องการลงทุน ทำอย่างไรที่จะให้มีการลงทุนมาก แต่ตัวแทนใน 3 จังหวัดบอกว่า จะทำอย่างไรที่จะให้มีคนไปลงทุนในพื้นที่ ถ้าให้สิทธิพิเศษเท่ากัน 3 จังหวัดจะเสียหาย เพราะคนมาลงทุนที่สงขลาหมด เป็นต้น

                  ส่วนในเรื่องอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย สภาที่ปรึกษาชุดใหม่มีอำนาจมากกว่า เพราะมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553
                  ถึงจะมีอำนาจมากหรือน้อย แต่ลักษณะที่เหมือนกันคือ ต้องปลอดจากการเมือง เพราะถ้ามีลักษณะการเมืองอยู่ เบื้องหลัง การทำงานก็จะไม่ตอบสนองนโยบายการแก้ปัญหาของประชาชน แต่จะไปตอบสนองนโยบายของพรรคการเมือง และสนองนโยบายของส่วนราชการการ ทั้งในการจัดงบประมาณ การสนับสนุนงบประมาณหรือโครงการ
                   เพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบว่า ตัวแทนทั้ง 49 คน เป็นคนของพรรคการเมืองไหนบ้าง สัดส่วนเป็นอย่างไร และใครบ้างที่ไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง
                   แต่ก็มี เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเด็กนักการเมืองทั้งนั้น น่าจะมีผมคนเดียวที่ไม่มีการเมือง นอกจากนั้นน่าจะมาจากพรรคการเมืองชื่อดังของภาคใต้กับอีกพรรคการเมืองที่ เพิ่งเปิดตัวไม่นานแต่มี ส.ส.(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร)เป็นสมาชิกพรรคแล้ว
                   เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว สภาชุดนี้ต้องทำงานพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่า ไม่ได้ทำงานสนองพรรคการเมือง ซึ่งต้องนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะเราต้องให้เวลาทำงานก่อน ตอนนี้เรายังไม่ทำงาน และตอนนี้แต่ละคนเรารู้ที่มาแต่ยังไม่รู้ถึงวิสัยทัศน์ ยังไม่เห็นว่าใครเคยทำอะไร

สิ่งที่น่าจับตาสำหรับสภาที่ปรึกษาชุดใหม่คืออะไร และอนาคตจะเป็นอย่างไร

                    สิ่งที่น่าจับตา คือ สภาที่ปรึกษาชุดนี้เราได้คนใหม่เกือบทั้งหมด ซึ่งไม่เคยทำงานกับศอ.บต.มาก่อน ไม่เคยร่วมแก้ปัญหาความมาสงบ เราจะมีคนเก่าอยู่ประมาณ 5 คน และคนใหม่ก็มาจากหลายๆ องค์กร แล้วต้องมาหลอมรวมกันให้ได้ นี่คือสิ่งที่ต้องทำให้ได้ จึงต้องใช้เวลาอีกระยะ เพื่อศึกษาปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางคนอาจศึกษามาแล้ว แต่บางคนอาจยังไม่ได้ศึกษามาก่อนเลย เข้าไปแรกๆ อาจยังไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง

                    เพราะฉะนั้นช่วงแรกๆ ถ้าหวังผลงานจริงๆ อาจยังไม่เห็น แต่หลักการจริงๆ ต้องดูว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องการโดยการตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นมานั้น มันจะสอดคล้องกับพื้นที่หรือไม่ มันจะให้ประโยชน์หรือไม่ เป็นการแก้ปัญหาความจริงใจ หรือแก้ปัญหาเพราะต้องการใช้งบประมาณ คนที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาต้องอ่านเกมนี้ให้ได้ ต้องเข้าใจเรื่องให้ได้ เพราะที่สังเกตคือ ขนาดกอ.รมน.เข้ามาแก้ปัญหาความไม่สงบนี้มา 7 ปีแล้ว ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ใช้งบประมาณเป็นแสนล้าน แต่ ศอ.บต.ใช้งบหกหมื่นล้านบาทและเป็นงบผูกพัน

                    และต้องมาดูว่าแต่ละโครงการที่มีการผลักดันจากที่ปรึกษาชุดที่แล้ว เป็นเรื่องที่ถูกต้องและแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ โดยที่โครงการที่ ศอ.บต.เอางบมาทำ ตอบสนองต่อปัญหาความไม่สงบได้หรือไม่ หรือแค่ได้ทำ เพราะต้องการใช้เงินงบประมาณให้หมด นี่คือเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าได้ตำแหน่งที่ปรึกษาแล้วก็จบ เพราะฉะนั้นต้องจับตาดูต่อไป

รายชื่อว่าที่ที่ปรึกษาชุดใหม่ศอ.บต.

ต่อไปนี้เป็นบัญชีรายชื่อ ผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2554 ในสาขาและประเภทต่าง ๆ ดังนี้

ก.ประเภท ที่มีผู้แทนจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละหนึ่งคน

 

ประเภท/จังหวัด

ปัตตานี

นราธิวาส

ยะลา

สงขลา

สตูล

ผู้แทนองค์กรปกครองส่วน

ท้องถิ่น

นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี

.ส.อ.ฮาริส มะรือสะ

นายสมุทร มอหาหมัด

นายไพร พัฒโน

นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์

ผู้แทนกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

นายสมาแอ ดอเลาะ

นายเสรี นิมะยุ

นายสมมาศ มะมุพิ

นายดลเลาะ เหล็มแหละ

นายวีระ เพชรประดับ

ผู้แทนกรรมการอิสลามประจำ

จังหวัดและอิหม่ามประจำมัสยิด

นายอัศมี โต๊ะมีนา

 

นายอับดุลอาซิซ เจ๊ะมามะ

นายรุสดี บาเกาะ

นายมูหรอด ใบสะมะอุ

นายยำอาด ลินารา

ผู้แทนเจ้าอาวาสในศาสนาพุทธ

พระครูจริยาภรณ์

พระครูสุนทรเทพวิมล

นายวิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์

พระศรีรัตนวิมล

พระครูโสภณปัญญาสาร

ผู้ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจใน

การพัฒนาสังคม ภูมิปัญญา

ท้องถิ่น หรือวิถีชีวิตของ

ประชาชนในพื้นที่

นายอับดุลเล๊าะ วาแม

 

นายกิตติพล กอบวิทยา

นายคอลีลือเราะมัน ดือราแม

นายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์

นายวรัตน์ แสงเจริญ

ผู้แทนผู้สอนและบุคลากร

ทางการศึกษา

นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร

 

นายอาดุลย์ พรมแสง

นายดนุพล อ้นพวงรัตน์

นายเสริมสุข สุวรรณกิจ

นายนิสิต ชายพักตร์

ผู้แทนกลุ่มสตรี

 

นางเบญจวรรณ ซูสารอ

นางสารีปะ สะเมาะ

นางรัตนา กาฬศิริ

นางจินตนา จิโนวัฒน์

นางรัชนี เด่นกาญจนศักดิ์

ผู้แทนหอการค้าจังหวัดและ

สภาอุตสาหกรรมจังหวัด

 

นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์

 

นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช

นายยู่สิน จินตภากรณ์

ดร.สุรชัย จิตภักดีบดินทร์

นายสมชาย ตันติ์ศรีสกุล

 

ข.ประเภท ที่มีผู้แทนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งคน

(๑) ผู้แทนศาสนาอื่น รศ.ทพ.ดร.กรัสไนย หวังรังสิมากุล
(๒) ผู้แทนสถาบันศึกษาปอเนาะตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ นายอับดุลอาซิส ยานยา
(๓) ผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา นายอับดุลรอนิ กาหะมะ
(๔) ผู้แทนสื่อมวลชน นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล
บัญชีรายชื่อ ผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
        ก.ประเภท ที่มีผู้แทนจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละหนึ่งคน
        ข.ประเภท ที่มีผู้แทนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งคน