อารีด้า สาเม๊าะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
มัสยิดกรือเซะ
นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มาจากสหรัฐอเมริกา
ชาวมุสลิมกำลังละหมาดในมัสยิดกรือเซะ
นายฮารง เจะกาเซ็ง (ผู้ดูแลมัสยิด)โตะเซี้ยะ
ห้องแถวซึ่งเป็นร้านค้าริมถนนข้างมัสยิดกรือเซะส่วนใหญ่ปิดเงียบเพราะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว
ร.ต.ท.ชอบ เรืองดำ หัวหน้าป้อมกรือเซะ
“คนที่นี่ก็ไม่ได้นับหรอกว่า วันครบรอบเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะจะถึงเมื่อไหร่ อยู่ดีๆ ก็มีนักข่าวมาถาม มีคนมาสัมภาษณ์ชาวบ้าน ก็เลยรู้ว่า นี่กำลังจะถึงวันครบรอบรอบแล้ว เป็นอย่างนี้ประจำ”
ฮารง เจ๊ะกาเซ็ง พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมากลางวงสนทนาหลังละหมาดอัสรีในช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันหนึ่ง ส่วนคนอื่นก็ทยอยเดินออกจากมัสยิด
วงสนทนาเกิดขึ้นก่อนถึงวันที่ 28 เมษายน ซึ่งเป็นวันครบรอบปีที่ 7 ของเหตุการณ์กลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่ง บุกทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ป้อมกรือเซะ ก่อนจะยึดมัสยิดเป็นฐานที่มั่น นำมาซึ่งเหตุการณ์ยิงถล่มมัสยิดจนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน
วันนี้ดูจะมีคนมาละหมาดมากกว่าปกติ เพราะตรงกับวันตลาดนัดหน้ามัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่ริมทางหลวงสายปัตตานี – นราธิวาส ตำบลตันหยงลูโล๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
ฮารง เจ๊ะกาเซ็ง คือ โต๊ะเซียะ หรือ ผู้ดูแลมัสยิดประจำมัสยิดกรือเซะ ในวัย 74 ปี ที่ดูเหมือนว่า ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นหลังเหตุการณ์เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เพราะทรัพย์สินของมัสยิดมีมากขึ้น
ทั้งพัดลมติดผนัง พรมปูละหมาดที่ปูเต็มพื้นที่ภายในมัสยิด ม่านกั้นพื้นที่ละหมาดชาย-หญิง ตู้และชั้นวางคำภีร์อัลกุรอ่าน
สิ่งของทั้งหมด จัดไว้อย่างเรียบร้อย เหมาะสมกับสภาพภายในที่ดูโอ่อ่าสวยงาม เพราะได้รับการฉาบปูนปิดทับจนไม่เหลือเค้าของโบราณสถาน เพราะหลังเหตุการณ์ไม่นาน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 8 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงทั้งภายในและภายนอก
รวมทั้งไม่เหลือร่องรอยความเสียหายจากกระสุนปืนและระเบิด ยกเว้นภายนอกบางจุด ซึ่งสภาพภายนอกตัวอาคารมัสยิดยังอยู่ในสภาพเดิม แต่ปรากฏร่องรอยการเสริมความแข็งแรงให้กับตัวมัสยิดและมีการขุดคูระบายน้ำรอบตัวมัสยิดเพื่อป้องกันน้ำขัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมัสยิดได้
ฮารง บอกว่า หน้าที่ที่ตนเองต้องทำก็ได้แก่ การดูแลความสะอาดเรียบร้อย กวาดขยะ ทำความสะอาดห้องน้ำ ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ 2 หลัง แยกห้องน้ำชาย – หญิง และสถานที่อาบน้ำละหมาด ส่วนพื้นที่ด้านนอกมัสยิด ทางอบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) ตันหยงลูโล๊ะดูแล
ปัจจุบัน รอบมัสยิดกรือเซะมีการสร้างรั้วล้อมรอบ โดยมีอาคารบริการนักท่องเที่ยว ห้องประชุมและลานกิจกรรมตั้งอยู่ภายในรั้ว
ฮารง เล่าต่อไปว่า ที่นี่มีโต๊ะครูมาสอนศาสนาทุกวันอังคาร มีคนมาฟังกันเต็มพื้นที่มัสยิด ส่วนตลาดนัดมีทุกเช้าวันอังคาร เย็นวันพฤหัสและวันเสาร์ มีการละหมาดที่มัสยิดแห่งนี้ครบวันละ 5 เวลา ยกเว้นละหมาดวันศุกร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีมาก่อนเกิดเหตุ 28 เมษาฯ
ส่วนในวันครบรอบ 28 เมษาฯ ที่มัสยิดกรือเซะ ฮารงบอกว่า ไม่มีการจัดงานอะไรทั้งสิ้น มีเพียงการละหมดฮายัติเพื่อขอพรจากพระเจ้าให้มีความสงบสุขเท่านั้น
ฮารง เล่าต่อว่า ที่ผ่านมา เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการจัดงานศิลปวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างมุสลิมกับคนจีนบริเวณใกล้กับมัสยิด ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ส่วนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ จะมีการจัดงานเข้าสุหนัตหมู่ของเยาวชนในพื้นที่
“สิ่งที่มีอยู่ตามปกติก็คือจะมีคนเดินทางแวะละหมาดทุกวัน นักท่องเที่ยวก็มีบ้าง โดยเฉพาะชาวต่างชาติ แต่ก็น้อยกว่าก่อนเกิดเหตุ แต่หลังเกิดเหตุใหม่ๆ มีคนมาดูที่เกิดเหตุกันเยอะ พวกพ่อค้าแม่ค้าก็นำสินค้ามาขายกันเยอะ จากนั้นก็เงียบ” ฮารง เล่า
เช่นเดียวกับนายแวอูมาร์ แวดอเลาะ กำนันตำบลตันหยงลูโล๊ะ บอกว่า เมื่อมีคนตายก็ต้องมีการรำลึกถึงคนตาย คือจะมีการละหมาดฮายัตหรือการละหมาดวอนขอต่อพระองค์อัลลอฮฺให้เกิดหนทางแห่งสันติสุข ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ จะไม่กระทบต่อจิตใจของคนที่นี่มาก
“การพูดถึงเหตุการณ์กรือเซะ ก็เหมือนการย้อนเทปม้วนเก่าให้ชาวบ้านนึกถึงความเจ็บปวดเหล่านั้นอีก ซึ่งต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดมีผลกระทบกับความรู้สึกของคนที่นี่ แต่เวลาก็ช่วยบรรเทาได้ แต่ไม่ได้ลืม เพียงไม่อยากให้เน้นภาพที่เหลวร้ายนั้นมาก เพราะจะเป็นการปลุกกระแสให้เกิดความเกลียดชังอีก” นายแวอูมาร์ กล่าว
บรรยากาศแห่งความเงียบเหงาเช่นที่ฮารงพูดถึง สังเกตได้จากที่ตั้งบ้านเรือนและร้านค้าริมถนนข้างๆ มัสยิดกรือเซะที่มีเพียงร้านอาหาร 2 ร้าน กับร้านขายของฝากที่อยู่ถัดไปอีกหลายห้องตรงกับด้านหลังปูชนียสถานสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่เหลือปิดเงียบ หรือถูกปล่อยทิ้งร้างไว้
นางแอเซาะ จะนือรงค์ ชาวบ้านชุมชนห้องแถวข้างมัสยิดกรือเซะ เล่าว่า ร้านขายของส่วนใหญ่ปิดตัวลงหลังเหตุการณ์กรือเซะได้ซักประมาณ 1 เดือน เพราะไม่มีลูกค้า
เช่นเดียวกับกะ(พี่สาว)คนหนึ่ง ซึ่งเปิดร้านขายอาหารตามสั่งข้างๆมัสยิดกรือเซะ เล่าว่า เมื่อก่อนเคยขายดีมาก เพราะมีนักเที่ยวเยอะ รถทัวร์ของนักท่องเที่ยวมาจอด บริเวณนี้เป็นแถวยาวมากโดยเฉพาะจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งนักท่องเที่ยวมีสองส่วน คือ นักท่องเที่ยวมุสลิมมาที่มัสยิดกรือเซะ ส่วนคนจีนก็มาที่สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
“ก่อนเหตุการณ์กรือเซะ เคยเปิดร้านตั้งแต่แปดโมงเช้า กว่าจะปิดร้านได้ก็เกือบเที่ยงคืน ช้าสุดคือตีหนึ่ง เคยมีลูกน้องสี่ถึงห้าคน และต้องตั้งโต๊ะกินข้าวกันข้างทางฝั่งตรงข้าม แต่ตอนนี้ หกโมงเย็นก็ปิดร้านแล้ว รายได้หดหายไปด้วยเกือบสามเท่า” เธอเล่า
ร้านของเธอคือ 2 ใน 6 ร้านที่ยังเปิดขายอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน โดยร้านอื่นค่อยๆปิดตัวลงหลังจากเกิดเหตุการณ์ 28 เมษาฯ ไม่กี่เดือน ส่วนร้านขายของฝากเหลืออยู่ร้านเดียว ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นของกิน
“เมื่อก่อนมีสินค้าพื้นเมืองขายกันตลอดแนวถนนข้างมัสยิดกรือเซะ จำพวกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมุสลิม และของกิน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวมา”
แต่บรรยากาศที่มัสยิดกรือเซะดูจะดีกว่าที่ปูชนียสถานสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่ตั้งอยู่ติดกับมัสยิดกรือเซะ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประปราย ยกเว้นช่วงวันสำคัญของชาวจีน
นักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์คนหนึ่ง บอกว่า มาที่นี่เพื่อจะขอจากเจ้าแม่ให้แข่งนกเขาชวาชนะ ซึ่งจะมาที่นี่ทุกครั้งที่จะมีการแข่งนกในประเทศไทย
อีกสถานที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 28 เมษาฯ คือ ป้อมจุดตรวจกรือเซะ ซึ่งเป็นจุดแรกที่กลุ่มชายฉกรรจ์บุกเข้าทำร้ายตำรวจเสียชีวิตก่อนล่าถอยไปที่มัสยิดกรือเซะ
ป้อมจุดตรวจกรือเซะ อยู่ห่างจากมัสยิดกรือเซะประมาณ 200 เมตร โดยมีปูชนียสถานสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวคั่นกลาง ปัจจุบันถูกตั้งเป็นสถานียุทธศาสตร์ตันหยงลูโล๊ะ มีตำรวจประจำการอยู่ประมาณ 20 นาย
แน่นอนว่าสภาพภูมิทัศน์ย่อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่นเดียวกับมัสยิดกรือเซะด้วยเช่นกัน โดยมีการสร้างรั้วเหล็กล้อมรอบและอาคารที่พักเจ้าหน้าที่เพิ่มอีก 2 หลัง ด้านหน้ามีบังเกอร์และมีเจ้าหน้าที่เฝ้าอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน
ร.ต.ท.ชอบ เรืองดำ รองสารวัตรป้องกันและปราบปราม (รอง สวป.) สถานีตำรวจภูธร(สภ.) เมืองปัตตานี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ประจำสถานียุทธศาสตร์ตันหยงลูโล๊ะ บอกว่า ทุกครั้งที่จะถึงวันครบรอบเหตุการณ์กรือเซะ ผู้บังคับบัญชาได้กำชับให้เฝ้าระวังอย่างเต็มที่ หมายความว่า เจ้าหน้าที่ทุกนายจะต้องอยู่ในที่ตั้ง ห้ามไปไหน
“ผมมาประจำอยู่ที่ป้อมที่นี่หลังเหตุการณ์กรือเซะไม่นาน เช่นเดียวกับทหารที่เข้ามาตั้งฐานฝั่งตรงข้ามถนนหลังเหตุการณ์เช่นกัน ตังแต่วันนั้นมาก็ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงมัสยิดกรือเซะ ยกเว้นเหตุคนร้ายยิงใส่ป้อมครั้งหนึ่ง ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าเขาต้องมายิง เพราะมีเจ้าหน้าที่คนใหม่มา จึงทำให้เราต้องเตรียมความพร้อมตลอดเวลา” ร.ต.ท.ชอบ เล่าให้ฟัง ก่อนจะบอกต่อไปว่า
ภารกิจแต่ละวันตอนนี้ ก็ต้องมีมากกว่าเดิม คือต้องลาดตระเวนด้วย วันละสองรอบ และต้องมีการเดินตรวจในชุมชนทุกวัน
ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านกรือเซะ ร.ต.ท.ชอบ เล่าว่า ก็เป็นไปด้วยปกติ มีชาวบ้านแวะมาเยี่ยมมาหาประจำ โดยเฉพาะชาวบ้านที่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. รวมทั้งชาวบ้านที่มาแจ้งเหตุ ซึ่งก็มีบ่อย เช่น เรื่องยาเสพติด เป็นต้น
“ในพื้นที่มีปัญหายาเสพติดอยู่ด้วย มีทั้ง กัญชา สี่คูณร้อย และยาบ้า แต่การจับกุมดำเนินคดีเป็นหน้าที่ของตำรวจหน่วยอื่น ส่วนตำรวจที่นี่ยังต้องทำงานมวลชนในพื้นที่อยู่ครับ”
แม้ความบอกช้ำจากเหตุการณ์ 28 เมษาฯ ของชาวกรือเซะถูกจุดขึ้นมาทุกปี ในฐานะสัญลักษณ์ของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัญหาจริงที่กำนันแวอูมาร์บอก ก็คือปัญหาเรื่องปากท้อง เพราะรายหลักของชาวกรือเซะ มาจากอ่าวปัตตานี คือ อาชีพประมงและการทำนาเกลือ รองลงมาคือค้าขาย
“ตอนนี้ความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปัตตานีลดลง ในขณะที่ประชากรบ้านกรือเซะกับบ้านตันหยงลูโล๊ะ ซึ่งเปรียบเสมือนชุมชนเดียวกันมีเพิ่มมากขึ้น แต่ทรัพยากรเท่าเดิม ส่วนนาเกลือไม่ได้ผลมา 2 ปีแล้ว เพราะถูกน้ำท่วม” แวอูมาร์ อธิบาย
เมื่อมีปัญหา ก็ต้องมีการแก้ปัญหา ซึ่งแวอูมาร์ บอกว่า ขณะนี้ทางสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานีได้กำหนดให้กรือเซะเป็นเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยว โดยรวบรวมชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์มาอยู่ในเครือข่าย เช่น เครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวของกรือเซะ ประกอบด้วย ชุมชน กรือเซะ ชุมชนบาราโหม ที่มีสุสานของกษัตริย์คนแรกของรัฐปัตตานีในอดีต เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ขณะนี้เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจะมีมัคคุเทศก์อาสา ซึ่งก็เป็นลูกหลานของคนกรือเซะมาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่พร้อมกับให้ข้อมูลต่างๆ โดยจะนั่งประจำอยู่ที่ อบต.ตันหยงลูโล๊ะ ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ มั่นยิดกรือเซะนั่นเอง
แวอูมาร์ ซึ่งมีอีกฐานะหนึ่งคือ ประธานชุมชนท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี บอกว่า นอกจากเพื่อต้องการสร้างรายได้ให้ชาวกรือเซะแล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสในการคลายความบอบช้ำของชาวกรือเซะที่มีต่อเหตุการณ์ 28 เมษาฯ ด้วย
“อีกจุดหนึ่งที่ทำได้ คือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนมุสลิม พุทธและจีน ในพื้นที่ จะต้นทุนที่ดีในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวที่นี้ได้ด้วย เนื่องจากในอดีตกรือเซะคือศูนย์กลางทางการค้า มีพ่อค้าชาวจีน ชาวอาหรับและชาวอินเดียมาค้าขายและปักหลักอาศัยอยู่ที่นี่ จนเกิดลูกเกิดหลานมากมาย”
“จะเห็นได้ว่า ชาวกรือเซะวันนี้ มีทั้งหน้าตาออกไปทางจีน อินเดีย อาหรับและชาวมลายูท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งแต่ละเชื้อสาย ต่างก็มีญาติอยู่ในประเทศต่างๆ จึงน่าจะมีกิจกรรมที่ให้ญาติที่อยู่ในต่างประเทศเดินทางมาเยี่ยมได้”
นั่นคือความหวังของกำนันแห่งกรือเซะ ที่เสมือนตัวแทนคนในพื้นที่ ที่หวังจะฟื้นฟูชีวิตของกรือเซะให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาดังเดิม ท่ามกลางบรรยากาศแห่งสันติภาพและความสันติสุข
รัฐช่วยเหลือเยียวยาญาติเหยื่อ28เมษาฯ แซมซู แยะแยง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) |