Skip to main content

นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSJ)

 

นายอดิศร กลิ่นพิกุล เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เป็นอย่างมาก ทำให้คนไม่มั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงทำให้แรงงานนอกพื้นที่ไม่กล้าเข้ามาทำงานในพื้นที่ จึงอยากให้รัฐบาลสร้างแรงจูงใจเพื่อให้แรงงานจากนอกพื้นที่เข้ามาทำงานมากขึ้น

นายอดิศร กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี เนื่องจากการขาดสวัสดิการหรือระบบประกันสังคมที่ดี

“อยากให้รัฐบาลใหม่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของพนักงานโรงงาน โดยการสร้างที่อยู่อาศัยให้พนักงานในละแวกใกล้เคียงโรงงาน และไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพราะไม่สามารถตอบสนองค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้” นายอดิสร กล่าว

นายอดิศร กล่าวต่อไปว่า นองจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมอยากให้รัฐบาลใหม่มีนโยบายเรื่องสิทธิด้านประกันสังคมของแรงงาน อยากให้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มสวัสดิการของพนักงาน

“แม้ภาคอุตสาหกรรมคาดหวังที่จะให้แต่ละพรรคการเมืองหรือรัฐบาลใหม่มีนโยบายดูแลช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม แต่ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องพยายามช่วยเหลือดูแลกิจการของตนด้วยเช่นกัน ซึ่งในขณะนี้มีหลายโรงงานที่กำลังพัฒนาสภาพภูมิทัศน์ในบริเวณโรงงาน เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยได้ง่าย” นายอดิสรกล่าว

นายอดิศร ยังกล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ตนอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาการทำงานของข้าราชการในพื้นที่รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นที่ยังไม่มีความเป็นเอกภาพ เนื่องจากเมื่อเจ้าของกิจการที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจะต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการ ก็พบว่า ไม่มีผู้รับผิดชอบหรือดูแลปัญหาที่ชัดเจน

“ที่ผ่านมา นโยบายกับการปฏิบัติจริง ยังสวนทางกันอยู่ เช่น แม้ว่าจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ SMEs (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ที่เอื้อต่อนักลงทุนก็ตาม แต่ก็มีความซับซ้อนมากขึ้นในการขอสินเชื่อ ส่วนปัญหาด้านอุตสาหกรรมในพื้นบางอย่างก็ยังไม่ชัดเจน ที่เห็นได้ชัดเจนคือ อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่ยังไม่มีหน่วยหรือองค์กรที่รับผิดชอบที่ชัดเจน จึงอยากให้แก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย

นายอดิศร กล่าวว่า แม้ว่านโยบายของแต่ละพรรคมุ่งหวังที่จะทำประโยชน์เพื่อประชาชนก็ตาม แต่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และนโยบายเหล่านั้นไม่มีความยั่งยืน ปัญหาคอรัปชั่นซึ่งควรจะหมดไป แต่ก็ยังมีอยู่

“ฝากถึงนักการเมืองท้องถิ่นด้วยว่า อยากให้มีการบริหารจัดการ เป็นระบบมากขึ้น ต้องจริงจังกับการทำงาน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับข้าราชการ รัฐบาลควรมีความจริงใจในการแก้ปัญหา และผู้บริหารควรมีศักยภาพในการบริหารจัดการมากกว่านี้” นายอดิสร กล่าว

นายณัฐนนท์ พงษ์ธัญญะวิริยา ที่ปรึกษาประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ตนได้เจรจากับรองนายกรัฐมนตรี เรื่องโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีนเข้าประเทศมาเลเซีย ด้านอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยอยากให้เพิ่มเส้นทางสายสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสด้วย เพราะจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งลง และยังเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการขนส่งสินค้า นอกจากทางเครื่องบินหรือทางรถยนต์

นายณัฐนนท์ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาอยู่ จึงควรแก้ไขในลำดับต้นๆ เช่น การผลักดันอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกก็ยังไม่มีความคืบหน้า หรือโครงการเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด ซึ่งจังหวัดปัตตานีก็จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วยในอนาคต ก็ยังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก

“พรรคการเมืองในปัจจุบันส่วนมากเน้นนโยบายประชานิยม ซึ่งจะเรียกคะแนนจากประชาชนได้มาก แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ รวมทั้ง ควรนำนโยบายการอยู่ร่วมกันของเศรษฐกิจอาเซียนเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ มากกว่าที่เป็นอยู่” นายณัฐนนท์ กล่าว

นายณัฐนนท์ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับนโยบายให้กู้ดอกเบี้ยต่ำหรือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลที่ผ่านมา ช่วยให้นักลงทุนในพื้นที่ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ทั้งยังถึงดูดนักลงทุนนอกพื้นที่เข้ามาลงทุนมากขึ้นด้วย ซึ่งนโยบายดังกล่าว เห็นผลได้ชัดเจนในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา โดยนักลงทุนย้ายออกน้อยลง และมีนักลงทุนจากนอกพื้นที่มาตั้งโรงงานใหม่เพิ่มขึ้น 8 - 10 โรงต่อปี

นายณัฐนนท์ กล่าวด้วยว่า สำหรับนโยบายการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น โดยการยกระดับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เป็นนครปัตตานีอย่างที่พรรคการเมืองหนึ่งเสนอเป็นนโยบายนั้น ตนเห็นด้วย แต่ก็ต้องคำนึงถึงความพร้อมและศักยภาพของบุคลากร รวมถึงต้องคำนึงถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ด้วย