อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
เมื่อประมวลภาพย้อนหลังเหตุรุนแรง ณ ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย แม้จะนานกว่า 7 ปีแล้ว แต่ภาพแห่งการทำลายล้าง และผู้คนบาดเจ็บล้มตาย ดูทีท่าว่าสถิติเหล่านั้นจะไม่ลดลง และมักมีคำถามตามหลังมาอีกมากมายว่า ใครทำ? ทำเพื่ออะไร? แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป?
แต่ในภาวะความขัดแย้งเช่นนี้ ก็มักจะแยกแยะไม่ออกว่าใครเป็นใคร ใครมีส่วนเกี่ยวข้อง ใครอยู่เบื้องหลัง แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม คือประชาชนธรรมดา แม้แต่ข้าราชการของรัฐที่ต้องทำหน้าที่แก้ปัญหา ก็ยังเป็นผู้ได้รับผลกระทบเหมือนกัน
บุกเขมร - ตัวแทนเยาวชนและคนทำงานภาคประชาสังคมจากประเทศไทยทั้ง 17 คน เข้าร่วมการอบรมหลักสูตร OPERACY ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ถ่ายรูปหมู่
เมื่อทุกคนคือ “...ผู้ที่อยู่ในวงจรของปัญหา …” ทุกคนจึงพยายามมองหาทางแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนว่า แต่ละคนก็มีวิธีการแก้ปัญหาที่เสมือนเป็นกรอบบางอย่างครอบอยู่ บางที่การออกนอกกรอบ แล้วมองย้อนกลับไปในกรอบของแต่ละคน ก็อาจทำให้มองเห็นวงจรของปัญหาที่มันเชื่อมร้อยปมเงื่อนต่างๆ เอาไว้ ก็คงจะช่วยแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น
นั่นคือคำอธิบายวัตถุประสงค์ของ คือ โครงการ SAPAN หรือ โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย (SAPAN) เพื่อนำไปสู่ฉันทามติ ดำเนินการโดย DAI (Thailand) Ltd. ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษา มีเป้าหมายเพื่อเสริมและสร้างศักยภาพความเป็นผู้นำให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ
โครงการนี้ได้รับงบสนับสนุนจากองค์กร USAID หรือ กองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development) ซึ่งส่วนหนึ่งของกลุ่มเป้าหมายการอบรม คือเยาวชนและคนทำงานขับเคลื่อนประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เป็นการจัดการอบรม “OPERACY” ณ เมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 15 – 28 พฤษภาคม 2554 เพื่อสร้างคนที่จะมามองปัญหาจากนอกวงจร และไม่ติดกับดักของปัญหานั้น
โดยเป็นการอบรมพร้อมกับคณะทำงานด้านประชาสังคม บุคคลากรในมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศไทย ทั้งหมด 17 คน ทั้งนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วม และเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างพื้นที่ เพื่อส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ที่มีประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ตามเจตนารมณ์ของโครงการสะพานของ DAI นั้นเอง
OPERACY โดยศัพท์แล้วไม่มีความหมายในพจนานุกรม มีแต่มีคำขยายความที่เข้าใจง่าย คือ การสร้างให้คนตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองและพลิกจากคนที่ไร้เป้าหมายสู่ผู้นำที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
ผู้ดำเนินกระบวนการอบรมเข้มในสองอาทิตย์นี้คือ เจ้าตำรับหลักสูตร OPERACY นั้นก็คือ CHRISTOPHER LEE ชาวออสเตรเลียเชื้อสายอินโดนีเซีย มีผู้ผ่านการอบรมของเขามาแล้วเกือบสองแสนคน จากประเทศ คืออินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์กรขององค์กรที่มีชื่อว่า HUMAN AND EARTH DEVELOPMENT CENTER หรือ HEDC
HEDC ทำงานบนเป้าหมายหลักคือ สร้างผู้นำแห่งอนาคต BUILDING LEADERSHIP FOR THE FUTURE
CHRISTOPHER LEE หรือที่ผู้เข้าร่วมอบรม เรียกว่า Teacher Christ มีประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ภัยพิบัติ และภาวะสงคราม ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการทำงานเดิมไปแบบลูกจ้างทำงานให้แหล่งทุนที่มีโปรเจ็กต์ในพื้นที่เหล่านั้นในรูปแบบการพัฒนาทั้ง UNDP (united nation development program) AUSAID ประเทศออสเตรเลีย และอีกหลากหลายโครงการของแหล่งทุนในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา
Teacher Christ ได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น ทำให้มองเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า “ทรัพยากรสำคัญที่จะทำให้ประเทศที่ประสบปัญหาเหล่านั้น ฟื้นขึ้นมาคือคนในพื้นที่นั้นต้องมีส่วนร่วม” teacher Christ กล่าวย้ำ
แต่คำถามที่ท้าทายการอบรมเหล่านี้คือ เหยื่อที่ถูกกระทำจะลุกขึ้นแก้ปัญหาเหล่านั้นได้...เป็นไปได้อย่างไร
ที่ผ่านมา HEDC ได้จัดการอบรมให้กับคนเกือบสองแสนคน จากหลากหลายองค์กร ในสามประเทศคืออินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว และกัมพูชา
ผู้ที่เข้าร่วมอบรมที่ผ่านมาของHEDCนั้น มีหลากหลายอาชีพและหลากหลายอายุ ที่น่าสนใจคือ ผู้เข้าร่วมไม่ใช่กลุ่มคนที่มีปัญหา แต่เป็น นักพัฒนาชุมชน เยาวชน คนรากหญ้า องค์กรที่มีชื่อเสียง แม้กระทั่งข้าราชการระดับสูงที่เป็นผู้ผ่านการอบรมให้การยอมรับ และให้ความสนใจจะขยายการอบรมในลักษณะนี้ ไปสู่กลุ่มคนระดับล่างลงไปจากองค์ของตัวเองอีกด้วย เพื่อการยกระดับความคิดของพนักงานในองค์กร และจากสิ่งนั้นจะสามารถทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากเนื้อหาของ OPERACY แล้ว การเข้าอบรมครั้งนี้ ยังได้พบเรื่องราวที่น่าสนใจกว่า ดังเช่นหลายกรณีตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมา
“ทุกอย่างที่เราสอนคือสิ่งที่ทุกคนทราบอยู่แล้ว และเป็นสิ่งที่อยู่กับทุกคน แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ เราสอนให้คนเหล่านั้น รู้จักศักยภาพของตัวเอง พลังของความคิด รู้จักปรับเปลี่ยนเป้าหมายของตัวเองให้ชัด เชื่อมั่นในมัน”
“แต่นั้นยังไม่เพียงพอ เมื่อทราบแล้ว ต้องนำไปใช้ให้เป็นด้วย ซึ่งนั่นเป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ คือรู้แต่ไม่ทำ เราสร้างให้คนที่ผ่านการอบรมกับเราเชื่อมั่น แล้วเขาจะเปลี่ยนตัวเองไปสู่ความสำเร็จอย่างน่าประหลาดใจ” อาจารย์คริสต์กล่าว
คนที่ผ่านการ OPERACY ในครั้งนี้ มีความพิเศษกว่าทุกครั้งคือ พวกเขากลับไปพร้อมเทคนิคกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อนำไปต่อยอดกกับผู้อื่นในประเทศไทย โดยเจตนารมณ์ของโครงการสะพาน ที่ตั้งใจให้คนกลุ่มนี้ เป็นคนที่สร้างความเป็นผู้นำให้คนในประเทศ โดยการ OPERACY
ทั้งนี้เพื่อการลดปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้หลายอย่าง เช่น เรื่องภาษาที่ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอินโดนีเซีย จึงเป็นสิ่งที่ต้องลดให้เหลือน้อยที่สุด จึงกลายเป็นนำคนในไทยออกมารับองค์ความรู้ เพื่อขยายต่อในประเทศ และคุณภาพระดับปัจเจกของคนในประเทศจะส่งผลถึงคุณภาพโดยรวมของประเทศไทยเอง
แต่ละประเทศที่อาจารย์เคยให้การอบรม มีปัญหาที่ต่างกันไป บริบทของแต่ละประเทศต่างกัน ทำให้การสร้างคนในพื้นที่นั้น ต่างไปด้วย อย่างประสบการณ์การฟื้นฟูจิตใจของคนที่ตกอยู่ในภวังค์กับฝันร้ายจากสึนามิ อย่างเขตปกครองพิเศษแบบอิสลามของอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ที่ประสบภัยสึนามิ เมื่อเจ็ดปีที่แล้ว
อาจารย์เล่าให้ฟังว่า คนเหล่านั้นต้องเจอกับความหดหู่สุดขีด เพราะบางคนไม่เหลืออะไรเลยในชีวิต บางคนคิดฆ่าตัวตาย แม้จะมีความช่วยเหลือจากหลายประเทศ ก็ยังไม่สามารถเยียวยาคนกลุ่มนั้นได้ ในการให้ OPERACY แก่พวกเขา ก็ต้องมีการตระหนักเรื่องนี้เป็นพิเศษ
OPERACY พิสูจน์ให้คนอาเจะห์เห็นว่า ชะตากรรมไม่อาจกำหนดได้ก็จริง แต่ชีวิตที่เหลือต้องดำเนินต่อไป คนที่ผ่าน OPERACY ที่ฟื้นจากความรู้สึก ที่ฆ่าตัวเองมานานหลายเดือน สู่คนที่พร้อมจะเริ่มเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เพื่อชีวิตที่เหลือที่ดีกว่าเดิม
“เปาะฮุไซนี เป็นตัวอย่างของกลุ่มคนที่ฟื้นฟูจิตใจขึ้นมาได้”
อาจารย์บอกว่า หลังจากที่เข้ารับการอบรมไม่นาน ได้ข่าวอีกทีชีวิตเปาะฮูไสนีเปลี่ยนไป เขาเริ่มเก็บซากไม้ที่คลื่นยักษ์พัดพามา สร้างร้านขายของชำ
“ตอนนั้นคนรอบข้างหัวเราะเยาะใส่เขา ไม่มีใครคิดว่า จากสิ่งที่เขาเริ่มต้นในวันนั้นกับซากไม้และความเชื่อมั่นว่า มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อล้มเหลว แต่เกิดมาเพื่อประสบความสำเร็จ วันนี้ เขามีมินิมาร์ทครบวงจรเพียงระยะเวลาอันสั้น”
อาจารย์คริสต์ยังให้ความเห็นด้วยว่า เยาวชนในพื้นที่ความขัดแย้ง ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะวัยแห่งการเรียนรู้ พวกเขาจะจดจำภาพความรุนแรงต่างๆ ไว้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจได้ง่าย โดยจะทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่กระด้าง มีจิตใจด้านชา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่พึ่งประสงค์ตามมา
อาจารย์คริสต์จึงแนะเยาวชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่เข้าการอบรมในครั้งนี้ว่า ต้องนำกระบวนการ OPERACY ไปขยายต่อในพื้นที่ แม้ว่ามันอาจจะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมในวันนี้ได้ไม่มากก็ตาม แต่ในอนาคตเป็นของเด็กในยุคนี้ อาจเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น
“เราต้องเรียนรู้ความผิดพลาดจากผู้ใหญ่ในวันนี้ แล้วสร้างคนแห่งอนาคตไม่ให้ตามรอยเดิม” อาจารย์คริสต์ บอก
การอบรมครั้งนี้ YOUTH For DEVELOPMENT ASSOCIATION หรือ สมาคมเยาวชนเพื่อการพัฒนา เป็นแกนกลางในการรวมตัวกันของเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยในครั้งนี้มีนายตูแวดานียา ตูแวแมแง ประธานสมาคม ที่มีบทบาทในการทำงานด้านความคิดกับเยาวชนในพื้นที่ เป็นผู้ประสานงานหลัก โดยมีความคิดว่า การอบรมในลักษณะนี้จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของเยาวชนได้
นายตูแวดานียา บอกว่า “การอบรมในลักษณะนี้ ทำให้เราได้ทบทวนการทำงานทั้งตัวเองและองค์กรที่มีบทบาทในพื้นที่ และคิดต่อว่าจะขยายมันสู่ผู้อื่นอย่างไรโดยไม่กระทบต่อบริบทหลักของพื้นที่ เป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะสร้างคนเพื่อแก้ปัญหา
ในอนาคต SAPAN เตรียมที่นำคนกลุ่มนี้ไปแพร่ขยายแนวคิดนี้ต่อ เพราะเชื่อว่าการสร้างความเป็นผู้นำในระดับปัจเจกได้ จะส่งผลต่อส่วนรวมของประเทศไทย
“การที่จะแก้ปัญหาในสังคม โดยการออกมายืนนอกวงจรของปัญหา แล้วมองย้อนกลับไปให้เห็นภาพรวมของปัญหาและค่อยหาทางแก้ คือ วิธีการหนึ่งที่เยาวชนเหล่านี้กำลังเรียนรู้อยู่ โดยเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะสามารถแก้ปัญหาได้”
เยาวชนกับการ OPERACY เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อสร้างเยาวชนให้รู้จักตัวเองและมองเห็นความเชื่อมโยงของตัวเองกับปัญหาต่างๆ จึงเชื่อว่า สิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่กับความขัดแย้งนั้น จะสามารถลดลงได้ด้วยมือของพวกเขาเองในอนาคต