ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSJ)
พื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี – พุมดวง ครอบคลุม 12 ตำบลใน 3 อำเภอ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายวิโรจน์ ทองเกษม คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี - พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 มิถุนายน 2554 นี้ ชาวบ้านจากเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำ–พุมดวงประมาณ 300 คน จะชุมนุมประท้วงการลงสำรวจรังวัดที่ดิน ผลอาสิน และสิ่งปลูกสร้างของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณท้องที่ตำบลท่าเคย ตำบลหนองไทร อำเภอท่าฉาง ตำบลลีเล็ด ตำบลศรีวิชัย ตำบลมะลวน ตำบลหัวเตย ตำบลท่าข้าม ตำบลพุนพิน ตำบลน้ำรอบ ตำบลหนองไทร ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน และตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2554 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงวันที่ 27 เมษายน 2554
นายวิโรจน์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เป็นการนำโครงการเก่า เมื่อปี 2510 ซึ่งขณะนั้นชาวบ้านต้องการน้ำมาทำนา มาปัดฝุ่นดำเนินการใหม่ ในขณะที่ปัจจุบันชาวบ้านหันมาปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยกรมชลประทานอ้างว่า ถึงแม้จะไม่มีนาให้ใช้น้ำจากโครงการนี้แล้ว แต่ก็สามารถนำน้ำจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงไปรดยางพาราและปาล์มน้ำมัน เพื่อเพิ่มผลผลิตได้ ชาวบ้านได้ยินแล้วงง เพราะไม่เคยทราบว่า แนวคิดนี้มีงานศึกษาวิจัยของนักวิชาการจากสถาบันไหนมารองรับ
“ฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำพุมดวงแห้ง ถ้าสูบออกไปต้องแห้งขอดลงอีก ทำให้น้ำเค็มจากทะเลอ่าวบ้านดอนทะลักเข้ามา ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ และพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะผลกระทบต่อเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังนับสองพันรายริมฝั่ง” นายวิโรจน์ กล่าว
นายสถาพร โรจนหัสดิน ผู้อำนวยการสำนักการก่อสร้าง 10 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง กรมชลประธาน กล่าวว่า ต้องการให้กลุ่มผู้คัดค้านมานั่งคุยกันกับกรมชลประทาน เพื่อร่วมมือในการบริหารน้ำภายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่ใช่มาคัดค้านโครงการโดยไม่มีเหตุผล แค่ยอมสูญเสียพื้นที่ 2-3 พันไร่ แต่ได้รับผลประโยชน์ถึง 7 หมื่นไร่ คิดอย่างไรก็คุ้มค่า เพราะที่จังหวัดชุมพรเกษตรกรใช้น้ำรดปาล์มน้ำมัน และยางพาราได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ
“เท่าที่ผมรู้ว่ากลุ่มผู้คัดค้านส่วนหนึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ ที่เดินสายต่อต้านโครงการของรัฐในภาคใต้ หาว่าสร้างขึ้นเพื่อรองรับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้(Southern Sea Bord)) ทั้งที่ความเป็นจริงไม่มีอะไรเป็นตัวบ่งชี้ว่า เอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมแต่อย่างใด”