มูฮำหมัด ดือราแม โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
ผศ.ดร.เสถียร แป้นเหลือ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นของประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 หรือ OEC Poll จำนวน 3,000 ตัวอย่างโดยการสัมภาษณ์ ระหว่าง วันที่ 13 – 19 มิถุนายน 2554 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้นำถือศาสนาอิสลาม
ผลการสำรวจ พบว่า ร้อยละ 98.9 ตั้งใจจะไปเลือกตั้ง ร้อยละ 1.1 ไม่ไปเลือก ร้อยละ 69.4 ตัดสินใจเลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองแล้ว ร้อยละ30.6 ยังไม่ตัดสินใจเลือก
พรรคการเมืองที่ประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการให้เป็นรัฐบาลมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 35.4 พรรคเพื่อไทยร้อยละ 21.6 พรรคมาตุภูมิร้อยละ 8.3 พรรคภูมิใจไทยร้อยละ 4.8 และพรรครักประเทศไทย ร้อยละ 2.1
ประชาชนส่วนใหญ่สนใจติดตามข่าวสารทางการเมืองระดับปานกลางมากที่สุดร้อยละ 46.1 มากร้อยละ 25.7 น้อยร้อยละ 15.5 น้อยที่สุดร้อยละ 8.9 และไม่ติดตามเลยร้อยละ 3.7
ส่วนช่องทางในการติดตามข่าวสารทางการเมือง ร้อยละ 78.8 ติดตามจากสื่อโทรทัศน์ ร้อยละ 7.7 ติดตามจากสื่อวิทยุ ร้อยละ 4.8 ติดตามจากเพื่อน/ญาติสนิท ร้อยละ 3.2 ติดตามจากสื่อหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 3.0 ติดตามจากการพูดคุยในร้านน้ำชา ร้อยละ 2.1 ติดตามข่าวสารจากมัสยิด และร้อยละ 0.3 ติดตามจากหอกระจายข่าวหมู่บ้าน
สำหรับเกณฑ์ที่ประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครส.ส.ในครั้งนี้มากที่สุดตามลำดับดังนี้ 1.ผู้สมัครมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง 2.ผู้สมัครมีความรู้ความสามารถ 3.นโยบายของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัด 4.ผู้สมัครมีความเป็นผู้นำ 5.ผู้สมัครเสียสละ ทำงานเพื่อส่วนรวมมาตลอด และ6.ชื่นชอบผู้สมัครเป็นการส่วนตัว
ส่วนเกณฑ์ที่ส่วนใหญ่ใช้ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองในครั้งนี้มากที่สุดตามลำดับ คือ 1.นโยบายมีรูปธรรม สามารถนำไปใช้ได้จริง 2.มีความตั้งใจ จริงใจ ในการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม 3.เข้าใจและรับฟังปัญหาของประชาชน ช่วยเหลืออย่างจริงจัง 4.มีอุดมการณ์ที่แน่นอนมั่นคง และ5.ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง มีความโปร่งใสในการทำงาน
สำหรับปัญหาที่ประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขหลังเลือกตั้งมากที่สุด ตามลำดับ คือ 1.ปัญหาเรื่องรายได้ และค่าครองชีพ 2.ปัญหาการว่างงาน 3.ปัญหาความไม่สงบ 4.ปัญหาด้านการศึกษา และ 5.ปัญหายาเสพติด
สำหรับลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย เพศหญิงร้อยละ 62.2 เพศชายร้อยละ 37.8 อายุระหว่าง 20-30 ปี ร้อยละ 51.1 อายุระหว่าง 31-45 ปี ร้อยละ 19.6 อายุต่ำกว่า 20 ปีร้อยละ 16.1 อายุระหว่าง 46-60 ร้อยละ 9.6 และอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 3.5
กลุ่มตัวอย่างนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 89.4 พุทธร้อยละ 10.5 คริสต์ร้อยละ 0.1 ระดับการศึกษาร้อยละ 34.6 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 32.6 ร้อยละ 17.2 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 15.1 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 4.1 จบการศึกษาระดับปวช.และปวส. และอื่นๆร้อยละ 4.3
กลุ่มตัวอย่างอาชีพนักศึกษาร้อยละ 25.7 ข้าราชการร้อยละ 22.7 อาชีพชาวสวนร้อยละ 15.1 อาชีพรับจ้างร้อยละ 14.0 อาชีพชาวนาร้อยละ 6.5 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 4.3 อาชีพแม่บ้าน 3.7 อาชีพอื่นๆ ร้อยละ 8.0 กลุ่มตัวอย่างอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลร้อยละ 77.8 และในเขตเทศบาลร้อยละ 22.2