Skip to main content

ไลลา เจะซู ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมการเขียนข่าวเบื้องต้นและการรายงานข่าวสุขภาพ อินเตอร์นิวส์

 

          พล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) เปิดเผยว่า ขณะนี้ (ปี 2554) ได้มีการวางแผนป้องกันการระเบิดซ้ำสองต่อเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยการจัดพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) และเคลียร์พื้นที่จนมั่นใจว่า จะไม่เกิดเหตุซ้ำอีก
          “ขณะนี้กองทัพได้ปรับแผนเชิงรุกเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยใช้คนพื้นที่ดูแลพื้นที่ เพื่อตัดทอนกำลังของขบวนการก่อความไม่สงบฯ ปฏิบัติการให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ลดการใช้ทหารพรานในเขตชุมชนเมือง ดึงเยาวชนที่เป็นแนวร่วมและหลงผิด มาร่วมพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน ให้ความช่วยเหลือด้านคดี เพื่อแปรเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตรทางการเมือง” พล.ต.อัคร กล่าว
           นางสาวกนกวรรณ รอดผล พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้าสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) โรงพยาบาลจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ตนไม่ค่อยมั่นใจแผนรักษาความปลอดภัยของกองทัพ โดยเฉพาะลูกหลงจากเหตุระเบิดซ้ำสอง (second bomb) เพราะตนเคยประสบเหตุขณะออกไปรับผู้ป่วย บริเวณหน้าร้านน้ำชา โรงเรียนบ้านปราณี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เมื่อปี 2549 แม้ตนจะเชื่อว่า บุคลากรสาธารณสุขไม่ใช่เป้าหมายการโจมตีของขบวนการก่อความไม่สงบก็ตาม
           นางสาวกนกวรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการดูแลหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน กรณีออกรับผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินต่างๆ ผู้บริหารโรงพยาบาลสั่งให้เข้มงวดการออกนอกพื้นที่กว่าในอดีต โดยเฉพาะหากเป็นยามวิกาลหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ควรขอกองกำลังทหาร หรือตำรวจ คุ้มกันนั่งประจำรถพยาบาลด้วย หรือกรณีประเมินแล้วมีโอกาสเสี่ยงต่ออันตราย และเป็นสถานที่ที่ไม่รู้จัก จะไม่ออกรับผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ หรือกรณีเกิดเหตุระเบิด มักมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก อาสาสมัครกู้ชีพของมูลนิธิฯ จะเผชิญเหตุเป็นทีมแรกพร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทีมเก็บกู้ระเบิด เพื่อช่วยเคลียร์พื้นที่ให้ปลอดภัยก่อน
            “รัฐควรทำประกันชีวิตกรณีบาดเจ็บขณะปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วย นอกเหนือจากการเยียวยากรณีเสียชีวิตและพิการขณะปฏิบัติงาน” นางสาวกนกวรรณ เสนอ
            นายแพทย์จิรายุวัฒน์ ชัยพานิชยกุล ผู้ดูแลระบบงานการแพทย์ฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ระบุตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตของบุคลากรสาธารณสุขระหว่างไปช่วยเหลือคนป่วยนอกพื้นที่ แต่อย่างใด
            นายอาแว มะแด หัวหน้าศูนย์ปะนาเระ มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีทั้งหมด 12 ศูนย์ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาอาสาสมัครกู้ชีพฯ ไม่เคยตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี เพราะเราทำงานเชิงรุก ร่วมกับหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เข้าช่วยเหลือคนเจ็บคนตาย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพียงความแตกต่างทางศาสนาและอุดมการณ์ วางตัวเป็นกลาง และไม่ยุ่งเกี่ยวกิจกรรมทางการเมือง
“หลายพื้นที่ที่หน่วยแพทย์ฉุกเฉินของแต่ละโรงพยาบาล ไม่สามารถออกหน่วยรับส่งผู้ป่วยด้วยตนเอง เราต้องทำแทน สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานคือ บางพื้นที่ทหารพรานมีความเข้มงวดตรวจค้นรถมูลนิธิฯ ขณะลำเลียงผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล จึงวอนให้ทหารพรานอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเราทำงานแข่งกับความเป็นตายของผู้ป่วย” นายอาแว กล่าว