EN-US;mso-fareast-language:EN-US;mso-bidi-language:TH">ยารีนา กาสอ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่โรงเรียนตาดีกาบ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วัฒน์วงศ์ เป็นประธานการประชุมนำเสนอความก้าวหน้า และแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการฟื้นฟูภัยพิบัติ มีเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติ 3 พื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พื้นที่ลุ่มน้ำจังหวัดพัทลุงและพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี ประมาณ 60 คน
นายมะรอนิง สาและ กรรมการกลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี และประธานกลุ่มประมงหัวทราย หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการฟื้นฟูหมู่บ้านว่า หลังจากที่โครงการนี้จัดขึ้นประชาชนในหมู่บ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตนเองได้
นายมะรอนิง เปิดเผยว่า หมู่บ้านดาโต๊ะ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการ 2 ส่วน ส่วนแรก 10,000 บาท เพื่อใช้ในการบริหารจัดการภายในหมู่บ้าน ส่วนที่สอง 15,000 บาท เพื่อใช้ในการซ่อมแซมเรือประมง
“หลังเกิดภัยพิบัติไม่นาน ได้รับงบประมาณซ่อมจากรัฐบาล จำนวนหนึ่ง สามารถซ่อมเรือได้เพียง 20 ลำ จากนั้นได้รับงบประมาณซ่อมเรือจากอียู จำนวน 500,000 บาท สามารถซ่อมเรือได้เพิ่มอีก 50 ลำ เงินบางส่วนมาทำธนาคารปู แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากน้ำทะเลมีความเค็มน้อย ทำให้ปูตาย”นายมะรอนิง กล่าว
นายมะรอนิง เปิดเผยอีกว่า แนวทางแก้ปัญหาปูตาย คือ จะศึกษาการเพาะเลี้ยงปูจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประมงโดยตรง สามารถทำบ่อเพื่ออนุบาลปูได้ และจะจัดอบรมเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติในชุมชน ขณะนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น อย่างน้อยก็มีที่ปรึกษา มีคนช่วยเหลือ เพราะจะรอรัฐช่วยเหลืออย่างเดียวคงไม่ได้
นศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วัฒน์วงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ หรือวพส. เปิดเผยว่า วพส.สนับสนุนโครงการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติใน 3 พื้นที่ ได้แก่ โครงการฝ่าวิกฤตฟื้นตนเองหลังประสบภัยน้ำท่วมชุมชนเมืองหาดใหญ่ โครงการการพัฒนาและขับเคลื่อนกลไกการสร้างชุมชนเข้มแข็งให้พร้อมสำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติ : กรณีศึกษาลุ่มน้ำจังหวัดพัทลุง และโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย : กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยและสนับสนุนการสร้างกลไกของชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง โดยดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 6 เดือน
ศ.นพ.วีระศักดิ์ เปิดเผยต่อไปว่า ทั้ง 3 โครงการได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ สหภาพยุโรป หรือ อียู (EU) มหาวิทยาลัยทักษิณและประชาชนในพื้นที่ วพส.เป็นพี่เลี้ยง เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ การสร้างความสมานฉันท์ในกลุ่มผู้ประสบภัย ประชาชนมีทักษะทางวิชาการและนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาชุมชนของตนเอง เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้
ศ.นพ.วีระศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ทั้ง 3 โครงการได้มีการสนับสนุนงบประมาณให้ชาวบ้าน 15 ชุมชนของทั้ง 3 พื้นที่ โดยงบประมาณทั้งหมด มาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือพอช. และเงินบริจาคจากองค์กรต่างๆ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ศิษย์เก่า ม.อ. เป็นต้น