Skip to main content
นายฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมเขียนข่าวเบื้องต้นและรายงานข่าวสุขภาพ อินเตอร์นิวส์
 
ภาพประกอบจาอินเตอร์เน็ต
ภาพประกอบจากhttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=571513
 
นายโสพล จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  เปิดเผยว่า เร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนาหัวข้อแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม เพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องนี้ ซึ่งที่ประชุมมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ตามหลักศาสนาอิสลามสามารถผ่าชันสูตรศพได้ แต่ขึ้นอยู่กับการอนุญาตของญาติผู้เสียชีวิต
 
นายโสพล จริงจิตร เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการจัดทำคู่มือที่ชื่อว่าเอกสาร การชันสูตรพลิกผ่าศพในอิสลาม จัดพิมพ์ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษามลายู อักษรยาวีสำนวนปัตตานี
 
นายอับดุรรอฮมาน บินแวยูโซะ อาจารย์ประจำภาควิชาชารีอะห์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา เปิดเผยว่า ประเทศมาเลเซียอนุญาตให้มีการชันสูตรผ่าศพได้ ในกรณีที่มีการตายผิดธรรมชาติ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมาเลเซียเป็นรัฐอิสลาม มีการตั้งศาลชารีอะห์ ซึ่งเป็นศาลที่ว่าด้วยกฎหมายอิสลาม สามารถบังคับใช้กับมุสลิมได้อย่างครอบคลุมทุกมิติของชีวิต
 
“หากจะนำกระบวนการชันสูตรผ่าศพมาใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องเตรียมความพร้อมในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการมีกฎหมายชารีอะห์ มีแพทย์นิติเวชมุสลิมที่ทำการชันสูตรผ่าศพมุสลิมและมีความรู้เรื่องกฎหมายชารีอะห์ มีคำวินิจฉัยจากผู้นำศาสนาอิสลามว่า สามารถกระทำได้ในกรณีที่ตายผิดปกติ” นายอับดุลรอมาน กล่าว
 
นายอับดุลรอมาน เปิดเผยว่า ตนทำวิทยานิพนธ์ เรื่องชันสูตรพลิกศพตามบทบัญญัติอิสลามเมื่อปีการศึกษา 2549 เสนอต่อมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ผลของการวิจัยพบว่า การศึกษาวิจัยการชันสูตรพลิกศพตามบทบัญญัติของอิสลาม ยังเป็นประเด็นปัญหาที่นักวิชาการและนักกฎหมายอิสลามในปัจจุบันมีความเห็นที่แตกต่างกัน สาเหตุมาจากไม่มีตัวบทกฎหมายที่ชี้ชัดถึงการห้ามหรือการอนุโลมในการชันสูตรพลิกศพทั้งในคำภีร์อัลกรุอาน สุนนะฮ์(วัจนะ การปฏิบัติและการยอมรับ) ของท่านศาสนทูตมุหัมมัดและตำราศาสนาของปราชญ์อิสลามในยุคแรก
 
นายอับดุลรอมาน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จะพบทัศนะของบรรดานักปราชญ์ ด้านนิติศาสตร์อิสลามเกี่ยวกับกรณีการผ่าศพหญิงมีครรภ์ที่เสียชีวิต เพื่อเอาทารกที่อยู่ในครรภ์ออกมาหากมั่นใจว่าทารกยังมีชีวิตอยู่ และกรณีการผ่าท้องศพที่ได้กลืนทรัพย์สินมีค่าลงในท้องก่อนตาย เพื่อนำออกมา ซึ่งทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับประเด็นการผ่าเพื่อการชันสูตร
 
นายอับดุลรอมาน กล่าวว่า ทั้งสองกรณีเป็นการกระทำที่รุนแรงและละเมิดเกียรติศพ เช่น การผ่าชันสูตรศพในขณะที่อิสลามให้ความสำคัญต่อการให้เกียรติศพ และการทำร้ายศพประหนึ่งทำร้ายเขาขณะยังมีชีวิต แต่ด้วยเหตุผลของความจำเป็นและผลประโยชน์ที่สำคัญกว่า ทำให้การกระทำดังกล่าว เป็นประเด็นสำคัญที่นักวิชาการมุสลิมหลายท่าน ได้นำมาเป็นข้อพิพาทในการพิพากษาอนุโลมหรือไม่ในอิสลาม เช่น การชันสูตรพลิกศพมุสลิม
 
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จากการศึกษาดูงานเรื่องระบบงานการชันสูตรผ่าศพที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 25-30 มกราคม 2554 ในนามกลุ่มแพทย์นิติเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ พบว่า ประชาชนชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ที่เป็นมุสลิม เชื่อมั่นต่อวิชาชีพแพทย์และกระบวนการชันสูตรผ่าศพเพราะแพทย์นิติเวชส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและได้รับมอบหมายจากศาลซารีอะห์เป็นการเฉพาะให้มีการชันสูตรผ่าศพชาวมุสลิม เพื่อหาข้อเท็จจริงทางคดี ในกรณีที่มีการตายผิดธรรมชาติ และกรณีที่ตำรวจขอร้องให้ชันสูตรผ่าศพ เพื่อนำหลักฐานเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
 
นายแพทย์สุภัทร เปิดเผยต่อไปว่า จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า  1.ต้องมีการทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับทุกในเรื่องการชันสูตรผ่าศพชาวมุสลิม ทั้งในระดับชุมชนและผู้รู้ทางศาสนา โดยนำประสบการณ์และบทเรียนจากประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือและรัฐปีนังของมาเลเซีย ซึ่งมีบริบททางสังคมที่คล้ายกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
นายแพทย์สุภัทร เปิดเผยอีกว่า ส่วนข้อที่ 2. คือ มีข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณะสุข จัดตั้งศูนย์นิติเวชที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลาภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยต้องมีแพทย์นิติเวช2 คน และมีหนึ่งคนเป็นมุสลิม โดยมีการเสนอผ่านผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณะสุขไปแล้ว ขณะนี้ยังไม่เห็นมีการสั่งการใดๆ
 
นายแพทย์สุภัทร เปิดเผยว่า ปัจจุบันการชันสูตรผ่าศพในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องส่งศพไปผ่าพิสูจน์ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเท่านั้น ส่วนการชันสูตรพลิกศพทั่วไปทำได้ทุกโรงพยาบาล
 
“ช่วงแรกประชาชนมาเลเซียไม่เชื่อมั่นต่อการชันสูตรผ่าศพ รัฐบาลจึงต้องใช้เวลา 20 - 30 ปีในการทำความเข้าใจต่อประเด็นดังกล่าว โดยนำคำฟัตวา (คำวินิจฉัยทางศาสนาอิสลาม)ระดับนานาชาติ มาอธิบายให้ประชาชนทราบ”  นายแพทย์สุภัทร กล่าว
 
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า มีกระดูกของผู้ตายจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มีการชันสูตร ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมได้ หากมีการชันสูตรผ่าศพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจเป็นส่วนหนึ่งในการที่ติดตามผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และสามารถที่เยียวยาแก่ญาติพีน้องของผู้ที่เสียชีวิตได้