ฮาบีบ กูนา INSouth ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมการเขียนข่าวเบื้องต้นและการรายงานข่าวสุขภาพ อินเตอร์นิวส์
นายจิรโชติ สัจจกุล ผู้ประสานงานสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขายะลา เปิดเผยว่า จากการสำรวจผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือเชื้อเอดส์และผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาสของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ตั้งแต่ปี 2531 ถึง 30 มิถุนายน 2554 พบว่า จังหวัดยะลามีผู้ติดเชื้อเอดส์และผู้ป่วย 1,633 ราย ปัตตานี 3,026 ราย นราธิวาสประมาณ 3,000 กว่าราย สาเหตุหลักเกิดจาการมีเพศสัมพันธ์ รองลงมา คือ การใช้ยาเสพติดชนิดฉีด รวมประมาณ 6,500 ราย
นายจิรโชติ กล่าวว่า ในความเข้าใจของสัมคมในพื้นที่คิดว่า ผู้ติดเชื้อเอดส์ไม่ใช่มุสลิมและ โรคเอดส์ห่างไกลจากสังคมมุสลิมมาก แต่ในความเป็นจริงมีชาวมุสลิมติดเชื้อเอดส์ด้วย เฉพาะในจังหวัดยะลา มีชาวมุสลิมที่มารับยาต้านไวรัสเอชไอวี จำนวน 336 ราย จากจำนวนผู้ได้รับยาต้านทั้งหมด 900 ราย
นายจิรโชติ เปิดเผยว่า ในในจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยของจังหวัดยะลา 1,633 ราย แยกเป็นการติดเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์ 71% ติดจากการเสพยาเสพติดชนิดฉีด 17% ผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อหลังจากแต่งงาน จะตรวจพบต่อเมื่อไปฝากครรภ์
นายจิรโชติ กล่าวว่า สาเหตุที่โรคเอดส์แพร่ระบาดในสังคมมุสลิม อาจเป็นเพราะทัศนคติเชิงลบของคนในพื้นที่ว่า ผู้ติดเชื้อเอดส์ส่วนใหญ่เป็นคนส่ำส่อน จึงไม่ค่อยตระหนักในการป้องกัน และทำให้ไม่มีการรณรงค์ให้ความรู้ต่อปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเอดส์ ทำให้สถิติการติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ผู้หญิงส่วนใหญ่ติดเชื้อหลังจากแต่งงาน
ผู้ติดเชื้อเอดส์รายหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ตนติดเชื้อจากสามี ซึ่งเคยเป็นผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดมาก่อน ตนเพิ่งรู้ตัวว่าติดเชื้อเมื่อตอนไปตรวจครรภ์ ตนไม่เคยคาดคิดว่าตัวเองจะติดเชื้อเอดส์ และยากที่จะยอมรับได้ เพราะตนเชื่อมาโดยตลอดว่า เอดส์ระบาดเฉพาะในหมู่หญิงขายบริการ จึงไม่ตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
นายอุสมาน ราษฎร์นิยม นักวิชาการประจำวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงสาเหตุที่โรคเอดส์ระบาดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแหล่งอบายมุขต่างๆ ที่มีมากในพื้นที่ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเข้าไปใช้บริการด้วย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวมุสลิมติดเชื้อเอดส์ด้วย
นายอุสมาน กล่าวว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจแก่องค์กรศาสนาในการควบคุมแหล่งอบายมุข จึงไม่สามารถป้องกันไม่ให้ชาวมุสลิมเข้าไปเที่ยวสถานบันเทงและแหล่งอบายมุขได้ ประกอบกับความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว ซึ่งเปรียบเสมือนวัคซีนป้องกันกันโรคที่ดีที่สุด