Skip to main content
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้(DSJ)
มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
 
 
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมกรรณิกา โรงแรมทักษิณ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด จัดการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ มีตัวแทนหอการค้า นักธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมประมาณ 120 คน
 
ในขณะที่นายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิช ผู้เชี่ยวชาญการวางผังเมือง นำเสนอข้อมูลอยู่นั้น นายประยุทธ์ วรรณพรหม คณะทำงานเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราช ได้ลุกขึ้นพูดว่า ทำไมวันนี้ถึงไม่มีการเชิญคณะกรรมการจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาร่วมเวทีด้วย ทั้งที่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้สภาพัฒน์ ดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
 
นายประยุทธ์ กล่าวว่า ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติบอกให้ทบทวนอย่างบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของคนภาคใต้ ไม่ใช่สภาพัฒน์ไปจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทบทวน ซึ่งขัดกับมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ต้องการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม
 
ประยุทธ์ วรรณพรหม
 

นายประยุทธ์ วรรณพรหม(ซ้าย) ยื่นแถลงการณ์เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราชให้นายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิช ตัวแทนบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด

 

 
จากนั้นนายประยุทธ์ ได้อ่านแถลงการณ์เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราช เรื่องความไม่ถูกต้องการดำเนินการทำแผนพัฒนาภาคใต้โดยสภาพัฒน์ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เนื้อหาสรุปว่า การดำเนินการของบริษัทในการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ มีความไม่ชอบธรรมในด้านกระบวนการ และกติกาที่ตกลงกันระหว่างประชาคมทั้งประเทศกับสภาพัฒน์
 
“การดำเนินการของบริษัทและสภาพัฒน์ อยู่นอกเหนือมติมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตามมติของคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กรณีแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน
 
“สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีมติเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้ โดยสรุปว่า 1.ขอให้คณะรัฐมนตรี มอบหมายให้สภาพัฒน์ ทบทวนร่างแผนแม่บทภาคใต้ โดยมีหลักการที่สำคัญภายใต้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 
2.การดำเนินการตามข้อ 1. ให้สภาพัฒน์ตั้งกรรมการที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วนด้วยการมีส่วนร่วมใช้เครื่องมือที่หลากหลาย มุ่งการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์คำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน
 
3.ให้คณะกรรมการตามข้อ 2. ผลักดันแผนให้ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งระดับภาค ท้องถิ่น กลไกติดตาม กำกับประเมิน เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนทราบ 4.ขอให้คณะรัฐมนตรีออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการตามข้อ 2. มีความต่อเนื่อง
 
“ทางเครือข่ายฯจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกับสภาพัฒน์ ที่ฝืนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และฝืนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนภาคใต้และไม่เคารพมติประชาชนทั้งประเทศ
 
“การดำเนินการของบริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ที่ผ่านมาถือว่าเป็นโมฆะ เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราช ขอให้บริษัทฯยุติการดำเนินการ และจะติดตามการดำเนินงานของสภาพัฒน์ จนกระทั่งได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป”
 
เมื่ออ่านเสร็จก็ได้มอบแถลงการณ์ดังกล่าวต่อนายศักดิ์ชัย จากนั้น ได้มีตัวแทนภาคประชาชนลุกขึ้นพูดอีกหลายคน โดยส่วนใหญ่เห็นว่าการประชุมครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรม และการประชุมครั้งนี้เป็นโมฆะ เนื่องจากไม่เชิญคนที่ร้องทุกข์ไปยังสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ เช่น ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งในที่ประชุมมีผู้ได้รับเชิญเพียง 30 คนเท่านั้น จึงขอให้ทุกคนกลับบ้าน ทำให้เกิดความวุ่นวายเล็กน้อย
 
จากนั้นผู้เข้าร่วมได้ทยอยออกจากห้องประชุมในเวลา 10.20 น. เหลือผู้ร่วมเพียงประมาณ 20 คนที่ยังอยู่ต่อและฟังประชุมจนจบ โดยมีนายประสาท เกศวพิทักษ์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายจักรกฤษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ นำเสนอ
 
ทั้งนี้ในเอกสารประกอบการประชุม ระบุความเป็นมาของโครงการว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 เห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีสาระสำคัญเพื่อให้มีการทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน
 
นายประพันธ์ มุสิกพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ สภาพัฒน์ เปิดเผยหลังการประชุมว่า กระบวนการเชิญทุกภาคส่วนมาระดมความคิดเห็นมี 2 วิธี คือ 1.สภาพัฒน์ส่งหนังสือเชิญไปยังสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะเชิญใครมา 2. สภาพัฒน์ส่งหนังสือเชิญไปยังทุกภาคส่วนทั้งราชการ นักธุรกิจเอกชน นักพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) ฯลฯ
 
นายประพันธ์ เปิดเผยว่า การประชุมกลุ่มย่อยยังมีต่อไปในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดระนองต่อไปในวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 
 
นายประพันธ์ กล่าวว่า บริษัทที่ปรึกษา และสภาพัฒน์ไม่ได้มีธงอะไรไว้ แค่ลงมารับฟัง ระดมความคิดเห็น รวบรวมข้อมูลจริงจากพื้นที่ ส่วนประเด็นที่ได้จะรับไปพิจารณาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า ข้อมูลนั้นๆเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ในการนำจัดทำจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
 
“ถ้ามีโอกาสจะจัดประชุมกลุ่มย่อยทำความเข้าใจและระดมความคิดเห็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช อีกครั้ง เพราะความเข้าใจว่า เราตั้งธงจะเดินหน้าโครงการ ทั้งที่จัดเพื่อระดมความคิดเห็นว่า คนใต้ต้องการพัฒนาไปในทิศทางไหน” นายประพันธ์ กล่าว
 
ส่วนกลุ่มชาวบ้านที่ออกจากห้องประชุมได้เดินทางไปอัดเทปรายรายเจาะ เกาะ ติด ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ประเด็นเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่บ้านสระบัว ตำบลท่าศาลา อำเภอนครศรีธรรมราช ซึ่งชาวบ้านแสดงความต้องการว่า ต้องการพัฒนาทิศทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เน้นเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
 
ก่อนหน้าเมื่อบริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ได้จัดประชุมในเรื่องนี้มาแล้ว 2 เวที โดยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมโรงแรมวังโนรา อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง มีผู้ร่วมประชุม ประมาณ 60 คน
 
ครั้งนั้น นางจิระพา หนูชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรสตรี จังหวัดพัทลุง และเครือข่ายสตรี 14 จังหวัดภาคใต้ ถามนายศักดิ์ชัยว่า ทางบริษัทได้เชิญกลุ่มคนภาคส่วนใดบ้าง กี่คน จากนั้นจึงขอให้คนที่ไม่ได้รับหนังสือเชิญลุกขึ้น ปรากฏว่ามีคนลุกขึ้นประมาณ 50 คน
 
นางจิระพา จึงกล่าวว่า การกำหนดอนาคตจังหวัดพัทลุงมีความชอบธรรมหรือไม่ในการเชิญคนมาร่วมเวทีระดมความคิดเห็นแค่ 10 คน ซึ่งนายศักดิ์ชัย ตอบว่า บริษัททำหนังสือเชิญทั้งหมด 40 คน แต่ได้รับหนังสือตอบรับแค่ 7 คน จากนั้นผู้ที่ไม่ได้รับเชิญเดินออกจากห้องประชุม
 
ส่วนเวทีก่อนหน้านั้น คือเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554  จัดขึ้นที่ห้องประชุมจามจุรี โรงแรมซากุระแกรนด์วิว อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างการนำเสนอนายกิตติภพ สุทธิสว่าง ตัวแทนกลุ่มรักษ์จะนะ และกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซไทย- มาเลเซีย กล่าวแสดงความเห็นถึงการเชิญผู้เข้าร่วมว่า เหตุใดจึงไม่มีคนที่อยู่ในเครือข่ายของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้วย หากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นแบบเดิม และคนกลุ่มเดิม การทบทวนจะมีขึ้นไปทำไม อย่างไรก็ตามการจัดเวทีดังกล่าวดำเนินการไปจนจบกระบวนการ
 
อนึ่งจากเอกสารแนบหนังสือด่วนที่สุดที่ สพท.6383/2554 ของสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่ สภาพัฒน์ ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 เชิญร่วมประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุเป้าหมายผู้ร่วมประมาณ 400 คน
 
โดยประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน นักการเมืองท้องถิ่น นักวิชาการ ประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน จากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 150 คน ตรัง 30 คน กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน พังงา กระบี่ และภูเก็ต 80 คน ระนอง 30 คน พัทลุง 30 คน นครศรีธรรมราช 30 คน สุราษฎร์ธานี และชุมพร 50 คน
           
หนังสือดังกล่าว ลงชื่อนายสมชาย ศักดาเวคีอิศร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน ประธานกรรมการกำกับการดำเนินงานโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
 
 
......................
 
 
แถลงการณ์ เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ นครศรีธรรมราช
 
เรื่อง      ความไม่ถูกต้องการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้โดยสภาพัฒน์ฯ
ภายใต้การดำเนินการของ บริษัท คอนซัลแตนท์ ออฟเทคโนโลยี จำกัด
 
การดำเนินการบริษัทที่ปรึกษาในการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ ในครั้งนี้ มีความไม่ชอบธรรมของทั้งในด้านกระบวนการ และกติกาที่ได้ตกลงไว้แล้วระหว่างประชาคมและสภาพัฒน์ฯ โดยระบุว่าการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ให้ดำเนินการภายใต้มติสมัชชาสุขภาพ ปี 2552 การดำเนินการครั้งนี้อยู่นอกเหนือมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเราไม่อาจยอมรับได้ด้วยประการทั้งปวง
 
การดำเนินการของบริษัทและสภาพัฒน์ฯ อยู่นอกเหนือมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2553 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้มีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้สภาพัฒน์ฯ ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ตามมติสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติสุขภาพแห่งชาติกรณีแผนพัฒนาภาคใต้ฯ ที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ตามหนังสือ นร 0506 / 13067
 
โดยมติสมัชชามีมติเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ โดยสรุปว่า
 
1.     ขอให้คณะรัฐมนตรี มอบหมายให้ ศสช. ทบทวนร่างแผนแม่บทภาคใต้ โดยมีหลักการที่สำคัญภายใต้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  
2.     การดำเนินการตามข้อ 1. ให้ ศสช. ตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วน ด้วยการมีส่วนร่วม ใช้เครื่องมือที่หลากหลาย มุ่งการตัดสินใจเชิงยุทศาสตร์ คำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน
3.     ให้คณะกรรมการตามข้อ 2. ผลักดันให้แผนได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งระดับภาค ท้องถิ่น กลไกติดตาม กำกับ การประเมิน เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนทราบ
4.     ขอให้ ครม. ออกระเบียบสำนักนายก เพื่อให้การดำเนินการของกรรมการตามข้อ 2. มีความต่อเนื่อง
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือว่าฝืนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและฝืนมติ ครม. วันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ซึ่งทางเครือข่ายจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกรณีสภาพัฒน์ไม่ดำเนินการตามคำสั่งคณะรัฐมนตรี ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ภาคใต้และไม่เคารพมติประชาชนทั้งประเทศ และการดำเนินการของบริษัททั้งหมดที่ผ่านมาถือว่าเป็นการดำเนินการที่เป็น โมฆะ ซึ่งเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ นครศรีธรรมราช ขอให้บริษัทยุติการดำเนินการ และจะติดตามการดำเนินงานของสภาพัฒน์ จนกระทั่งได้ปฏิบัติตามคำสั่งมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
 
ด้วยจิตที่รักแผนดินเกิด
 
21 กรกฎาคม 2554