24 July 2011
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSJ)
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องเพทาย โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด บริษัทที่ปรึกษาฯ โครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนพัฒนาฯ ดังกล่าว โดยมีหอการค้า ภาคเอกชน อ็นจีโอ ส่วนราชการ และประชาชนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร เข้าร่วมประชุมประมาณ 40 คน
นายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิช ผู้เชี่ยวชาญการวางผังเมือง กล่าวต่อที่ประชุมว่า การพัฒนาพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย จะเน้นด้านสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เช่น การแปรรูปปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และการแปรรูปอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ภาคเกษตรกรรม สำหรับพื้นที่ที่เหมาะที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรคือ จังหวัดสุราษฏร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา
นายศักดิ์ชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาคใต้เป็นพื้นที่มีศักยภาพด้านโลจิสติกส์ เคยมีแนวคิดจะขุดคอคอดกระ มีการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้มาแล้วหลายฉบับ แต่ภาครัฐขาดนโยบายที่ชัดเจน จึงไม่เห็นรูปธรรมของการพัฒนา หลังจากแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติฉบับที่ 11 ของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2554 เชื่อว่าแนวทางการพัฒนาประเทศจะเป็นรูปธรรมขึ้น
นายชาญชัย ช่วยจันทร์ สมาชิกพรรคการเมืองใหม่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เสนอว่า เท่าที่ตนอ่านเอกสารที่บริษัทที่ปรึกษาสภาพัฒน์แจกนั้น เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานทั่วไป หลายข้อมูลเป็นข้อมูลเก่าของปี 2551 ควรมีข้อมูลของปี 2553 – 2554 มาประกอบด้วย บริษัทที่ปรึกษารับงานจากสภาพัฒน์มีระยะในการทำงานระหว่างเดือนกรกฎาคม 2553–เดือนกันยายน 2554 เหลือระยะเวลาการทำงานแค่ 2 เดือนได้ข้อมูลมาแค่นี้ ถือว่าบกพร่องอย่างมาก
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร ไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานถลุงเหล็ก ต้องการให้รัฐเข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ถ้าปล่อยให้บริษัทขุดเจาะน้ำมัน เข้ามาขุดเจาะใกล้แหล่งท่องเที่ยว จะกระทบกับธุรกิจการท่องเที่ยวแน่นอน นี่คือสาเหตุของการลุกขึ้นมาต่อต้านการขุดเจาะน้ำมันของคนเกาะสมุย และเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตนขอให้บริษัทที่ปรึกษา แจ้งต่อคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอให้รัฐบาลยกลิกแผนพัฒนาภาคใต้
นายนพชัย ส่งเสียง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 14 กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพน้ำของอ่าวไทย บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร ตามที่บริษัทที่ปรึกษานำเสนอเป็นข้อมูลเก่า ถ้าต้องการข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน สามารถขอจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 14 ได้
นายจตุพร วัชรนาถ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต่อที่ประชุมว่า ก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีมติว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่ควรอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เพราะไม่ต้องการให้ใครนำปัญหาในรูปของแผนพัฒนามายัดเยียดให้กับภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานีต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตร ต้องการให้รัฐแก้ไขระบบการขนส่งในประเทศให้สะดวก และให้มีระบบขนส่งทางรางเพื่อลำเลียงสินค้า โดยให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าเชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง
นายจตุพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ทางโรงงานต้องการความสด จึงต้องการระบบการขนส่งที่รวดเร็วและประหยัด โรงงานอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการเกษตร ควรกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ควรกระจุกตัวเหมือนมาบตาพุด ของเสียจากโรงงานเป็นของเสียจากจุลินทรีย์สามารถบำบัดด้วยเทคโนโลยี หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น นำไปผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล
นายจตุพร ระบุว่า เอกสารประกอบการประชุมที่จัดทำโดยบริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่ปรึกษา หน้า 10 บรรทัดสุดท้ายตนในฐานะผู้ประกอบการโรงงานปาล์มน้ำมันพบว่า ปริมาณปาล์มน้ำมันคลาดเคลื่อน ไม่ทราบไปเอาข้อมูลมาจากไหน
“ภาคใต้ไม่มีศักยภาพในการรองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ผมพอใจที่จะขนสินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ไม่ควรมีท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล หรือท่าเรือน้ำลึกที่ไหนใดๆ อีกแล้ว ควรศึกษาวิเคราะห์ความคุ้มทุนด้วย” นายจตุพร กล่าว
นายนภดล ศรีภัทรา ผู้ประกอบการบริษัท หัวถนน (สุราษฎร์ธานี) จำกัด กล่าวต่อที่ประชุมว่า การผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงถลุงเหล็กต้นน้ำ นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลงมายังภาคใต้ เป็นความผิดพลาดของภาครัฐ ถึงวันนี้จังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่จำเป็นต้องมีโครงการอะไรอีกแล้ว สิ่งที่ควรพัฒนาให้ชัดเจนคือการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ
นายรนเทพ คมศิลป์ สมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร กล่าวต่อที่ประชุมว่า กระบวนการผลักดันให้มีโรงงานถลุงเหล็กในจังหวัดชุมพร มีการแอบอ้างว่า จะส่งผลให้มีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ทำให้เกิดรถไฟรางคู่ นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีการก่อสร้างเขื่อน เพื่อนำน้ำมาใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยอ้างว่าเป็นเขื่อนแก้ปัญหาภัยแล้ง
นายประวีณ จุลภักดี ประธานมูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต เปิดเผยว่า ตนเป็นคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมประชุมมา 15 ครั้ง แต่ที่ตนมาในวันนี้ เนื่องจากได้รับการฟอร์เวิร์ดเมลล์ต่อๆ กันมา
“การทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจริงๆ ไม่ใช่จัดการประชุมแบบหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อดำเนินกระบวนการให้ครบตามขั้นตอน ผมและเครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ชอบธรรม ข้อมูลที่ใช้ไม่เป็นปัจจุบัน” นายประวีณ กล่าว
นายศักดิ์ชัย ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ตนได้รับงบประมาณในการจัดการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นฯ แค่ 4 ล้านกว่าบาท และได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วม การลงพื้นที่มาจัดประชุมทั้ง 7 เวที ควรจะดำเนินการมาก่อนหน้านี้ แต่ติดปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ และอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง ทางบริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด จึงสร้างเฟซบุ๊คชื่อผังพัฒนาภาคใต้ และสร้างอีเมลล์ [email protected] ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมาร่วมนำเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม
นายนภดล ถามนายศักดิ์ชัยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติฉบับที่ 11 ของสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ทำไมถึงยังจ้างบริษัทจัดการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้อยู่อีก จะนำแผนพัฒนาที่ระดมควสามคิดเห็นครั้งนี้ เข้าแผนยุทธศาสตร์ได้ทันหรือ
นายศักดิ์ชัย ตอบว่า คงจะไม่ได้นำบรรจุเข้าแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติฉบับที่ 11 แต่บริษัทจะรายงานการศึกษาไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาทบทวน แต่ตนก็ไม่ยืนยันว่าข้อมูลที่ศึกษาทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะนำไปดำเนินการอย่างไรต่อไป
นางนภา สุทธิภาค สมาคมประชาสังคมชุมพร หนึ่งในกลไกสมัชชาสุขภาพ ถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น การจัดการประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้จะมีความหมายอะไร
นายสมชาย มโนธัม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า หากภาครัฐยังดึงดันเดินหน้าแผนพัฒนาภาคใต้ จะเป็นชนวนก่อให้เกิดความรุนแรงระหว่างคนภาคใต้กับรัฐบาลส่วนกลาง
“ชาวบ้านอีกมากมายที่ไม่รู้ว่าบ้านตัวเองจะมีโรงถลุงเหล็ก นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และยังไม่ทราบว่าโครงการเหล่านี้ จะส่งผลกระทบอย่างไรกับเขา หยุดการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน จากแผนพัฒนาภาคใต้เสียที” นายสมชาย กล่าว