Skip to main content

mso-fareast-theme-font:minor-latin;mso-ansi-language:EN-US;mso-fareast-language:
EN-US;mso-bidi-language:TH">มูฮำหมัด ดือราแม

 

                เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ที่โรงแรมโนโวเทล เซ็นทารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2554-2559 เพื่อรับทราบสถานการณ์ ข้อเท็จจริง รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนในพื้นที่14 จังหวัดภาคใต้ โดยช่วงเช้าเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการ ส่วนช่วงบ่ายเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคสังคม รวมกว่า 120 คน

                 นายถวิล เปิดเผยว่า สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีภารกิจในการจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติฉบับต่อไป โดยกำหนดให้มีการศึกษา วิเคราะห์ ประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2554-2559

                 นายถวิล เปิดเผยต่อไปว่า สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างครอบคลุมที่สุด จะนำข้อมูลข้อคิดเห็นที่ได้รับ เพื่อให้การดำเนินงานยกร่องไปจัดทำแผนนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2554-2559 ได้ใช้กระบวนการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิมากที่สุด

                  นายถวิล เปิดเผยด้วยว่า นิยามของความมั่นคงในปัจจุบัน มีมิติที่ครอบคุลมมากกว่าคำว่า เอกราชของชาติ ดินแดนและอธิปไตย แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นผลกระทบในวงกว้าง เช่น ภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม โรคระบาด เป็นต้น โดยความมั่นคงในโลกยุคใหม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากขึ้น เป็นความมั่นคงของชาติบวกกับความมั่นคงของประชาชน คือภัยความมั่นคงที่เข้าถึงตัวตนของคนมากขึ้น เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ดังนั้นการจัดทำนโยบายในยุคใหม่จึงต้องครอบคลุมมิติต่างๆ มากกว่า เอกราช ดินแดน และอธิปไตยของชาติ

                  นายถวิล เปิดเผยอีกว่า นอกจากนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเป็นกรอบใหญ่ที่จะให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตาม ซึ่งรวมถึงความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยังได้จัดทำนโยบายความมั่นคงเฉพาะอีกหลายเรื่องด้วย เช่น การก่อการร้าย ชายแดน อิทธิพลข้ามชาติ ความมั่นคงทางทะเล เป็นต้น

                  นายถวิล เปิดเผยว่า ส่วนนโยบายความมั่นคงเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำร่างนโยบาย

                  นายถวิล กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ยังมีเหตุการณ์ไม่สงบอยู่ แต่การแก้ปัญหาของฝ่ายรัฐก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยเรามีความมั่นใจมากขึ้น การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ มีความถูกต้องมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

                  นายถวิล กล่าวอีกว่า สาเหตุพื้นฐานของปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจที่ถูกทอดทิ้งมานาน ขณะที่ลักษณะเฉพาะของพื้นที่ แม้ไม่ใช่สาเหตุของปัญหา แต่ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อความรุนแรง เช่น ประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์และศาสนา

                  “ในช่วงหลังๆ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ถูกเติมเข้าไปด้วย เช่น โลกตะวันตกที่มองการเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมว่าเป็นการก่อการร้าย แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง มองว่าเป็นการปกป้องมุสลิมจากการคุกคามของตะวันตก ซึ่งอิทธิเหล่านี้ได้ขยายเข้ามาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” นายถวิล กล่าว

                  “ช่วงหลังๆ เจ้าหน้าที่เข้าใจปัญหามากขึ้น การทำงานจึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและมุ่งมั่น โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดและมีธรรมาภิบาล เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น” นายถวิล กล่าว

                   แหล่งข่าวระดับสูงใน สมช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ สมช.ได้ดำเนินกระบวนพูดคุยเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ หรือ Pease Talk โดยขณะนี้มีกลุ่มคนที่เห็นต่างกับรัฐเข้ามาร่วมในกระบวนการนี้มีการขยายตัวมากขึ้น แต่เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ยังรอรัฐบาลใหม่อยู่ กระบวนการต่างๆ จึงยังไม่คืบหน้าอะไรมาก เมื่อได้รัฐบาลใหม่แล้ว ทางสมช.จึงจะรายงานการดำเนินการเรื่องนี้ให้รัฐบาลทราบ

                   แหล่างข่าวกล่าวว่า กระบวนการ Pease Talk ทางสมช.ได้จัดระบบนี้ขึ้นมา เพราะเชื่อว่า การพูดคุยทำความเข้าใจกัน จะเป็นหนทางที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถามว่ากลุ่มคนที่เข้ามาร่วมกระบวนการ เป็นตัวจริงหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สำคัญอยู่ที่วิธีการถูกต้อง ผลที่ออกมาก็จะถูกต้องด้วย