28 July 2011
อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 ที่หอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีการประชุมวิชาการนานาชาติวิทยาศาสตร์ฮาลาล อุตสาหกรรมและธุรกิจ (WHASIB 2011) และงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ฮาลาลสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (IMT–GT HAPEX 2011) โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.วินัย ดะห์ลัน
ดร.วินัย ดะห์ลัน ประธานศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (HSC–CU) กล่าวในการสัมมนาว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีคู่แข่งในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่น่ากลัวคือ ประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน ทั้งสองประเทศได้เตรียมพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล เน้นลูกค้าในประเทศมยักษ์ใหญ่ที่มีประชากรนมุสลิมจำนวนมาก เช่น จีน อินเดีย และประเทศพัฒนาแล้วไทยจะเสียเปรียบในการผลิตอาหารฮาลาลแข่งกับญี่ปุ่นและไต้หวัน เพราะทั้ง 2 ประเทศนี้ มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสูงกว่าไทย
ดร.วินัย กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในกับดักของคำว่าประเทศที่มีรายได้ขนาดกลาง แต่ศักยภาพในการแข่งขันน้อยกว่าประเทศในกลุ่มเดียวกัน เพราะความด้อยกว่าในด้านเทคโนโลยี เมื่อเทียบกับประเทศ ญี่ปุ่น ยุโรป สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่มีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศบรูไน และประเทศไทย และยังเตรียมเพิ่มศักยภาพในประเทศแถบอินเดีย บังกลาเทศ มองว่าเป็นแหล่งการค้าสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาล
“ไต้หวันและญี่ปุ่นได้เชื่อมต่อกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทย เพื่อเตรียมสร้างอุตสาหกรรมฮาลาลในสองประเทศนี้ โดยเชิญตัวแทนของประเทศไทย ไปร่วมตรวจสอบความพร้อมของการเป็นประเทศอุตสาหกรรมฮาลาล” ดร.วินัยดะห์ลัน กล่าว
ดร.วินัย ยังกล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นและไต้วันต่างเป็นห่วงอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ได้เสียตำแหน่งการส่งออกให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนไปแล้ว และกำลังจะเสียให้กับประเทศเกาหลีใต้ จึงกังวลว่าจะเสียลูกค้าในตลาดโลก สิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นหวังในอนาคตคือ การรักษาตลาดอาหาร ในแง่ความมั่นคงด้านอาหาร จึงเล็งเห็นโอกาสมหาศาลในตลาดมุสลิม ลูกค้าที่สองประเทศเล็งเห็นเพื่อเป็นตลาดในอนาคตคือ มุสลิมในประเทศอินเดีย และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และมุสลิมในประเทศที่เจริญแล้ว
“MAHADAE MOHAMMAD นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ระหว่างปี 1981–2003 เคยนำเสนอว่า การมองอนาคตเพื่อการพัฒนาควรจะมองด้วยสายตาปกติ ในวงการเวชกรรมมุสลิมละเลยการพัฒนายาเพื่อมุสลิม ทำให้ต้องใช้ยาที่ฮารอม อย่างการฉีดวัคซีนจากหมูก่อนไปทำฮัจย์ นี่คือ FARDU KIFAYAH ของเภสัชกร ที่ต้องทำงานเพื่อลบล้างเรื่องนี้ให้ได้” ดร.วินัย กล่าว
ดร.วินัย กล่าวต่อไปว่า ในศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล มีการพัฒนาด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล เพื่อการปฏิบัติการทดสอบอาหารฮาลาล เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาเรื่องความยุ่งยากในการตรวจสอบอาหารของชาวมุสลิมว่า ฮาลาลหรือใหม่ ในกระบวนการตรวจสอบ จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถสร้างความกระจ่างได้ ถึงแม้ว่าอาหารนั้นจะไม่มีส่วนผสมที่เป็นฮารอม หรือสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนาก็ตาม แต่ความไม่ฮาลาลยังหมายรวมถึงการปนเปื้อนเชื้อโรคด้วย
ดร.วินัย กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลมีการคิดค้นระบบเพื่อการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาล โดยจัดการข้อมูลผ่านระบบดิจิตอล ให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของตราฮาลาลได้ โดยการแสกนรหัสผ่านมือถือ เชื่อมต่อระบบกับฐานข้อมูล สามารถตรวจสอบแบบทวนลูกศรได้ ระบบนี้คือ S.I.L.K หรือ sariah compliant ICT Logistics control เป็นระบบที่เปลี่ยนจากระบบเอกสารเป็นระบบดิจิตอล นวัตกรรมที่คิดค้นเพื่อการตรวจสอบตราอาหารฮาลาล สร้างขึ้นมารองรับการแข่งขันกับโลกตะวันตก จึงต้องพร้อมที่จะแข่งขันด้านเทคโนโลยีด้วย
นายสว่างพงศ์ หมวดเพชร ผู้ดูแลระบบ HOST academy ของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล กล่าวต่อที่สัมมนาว่า ในหลายประเทศพยายามสร้างและพัฒนาระบบการตรวจสอบเครื่องหมายฮาลาลออนไลน์ (halal checking online) เพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มาจากต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยกำลังเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศผ่านระบบนี้อยู่ โดยเฉพาะประกาศนียบัตรที่ยืนยันความฮาลาลที่ไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศด้วย
ดร.ซาและห์ ตาลิบ อาจารย์มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา นำเสนอต่อที่ประชุมว่า ประชากรมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 2.15 ล้านคน ยังมีความคิดความเชื่อที่ยังคงความเป็นมุสลิมมลายูได้ดี เพราะไม่ผ่านการกรอบความคิดจากประเทศมหาอำนาจ ที่เข้ามาเปลี่ยนค่านิยมของประชากรในแถบนี้ ทำให้ไม่ต้องคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ฮาลาลมากนัก
ดร.ซาและห์ กล่าวว่า สถานบริการอาหารในประเทศไทย ไม่ให้ความสำคัญกับอาหารฮาลาล ทำให้มุสลิมมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ไว้วางใจ จึงไม่รับประทานอาหารในโรงอาหารของคนต่างศาสนิก ต่างจากสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือประเทศอื่น ที่มีการรับประกันฮาลาลชัดเจน สามารถรับประทานได้ แม้จะเป็นอาหารในโรงอาหารของคนต่างศาสนิกก็ตาม
ดร.ซาและห์ กล่าวอีกว่า มุสลิมใน 3 จังหวดชายแดนภาคใต้ สามารถเป็นหน่วยผลิตอาหารหรือโรงงานอาหารฮาลาลสำหรับตลาดโลกได้ และยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง Suwannabhuma countries หมายถึงประเทศไทยตอนบน ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และ melayu winisula ซึ่งหมายถึง มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ เป็นต้น ตรงนี้คือโอกาสของประเทศไทย
Faqir Muammad Anjur ตัวแทนองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) จากประเทศปากีสถาน กล่าวต่อที่สัมมนาว่า นิยามของอาหารฮาลาลต้องเป็นอาหารที่ปลอดจากการปนเปื้น ตั้งแต่ในระดับของยีน ซึ่งในประเทศตะวันตกมีพัฒนาการด้านการตัดแต่งยีนสูงมาก การใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์จึงต้องสูงขึ้น OIC ต้องมีความเข้มแข็งในการวิจัย เพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์อย่างการตัดแต่งยีน ต้องแน่ใจว่า ไม่มีการปนเปื้อนจากยีนของหมู อย่างที่เคยตรวจเจอในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกฮาลาลในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งปนเปื้อนยีนสัตว์ฮารอม อย่างหมูมาแล้ว
Prof. Dr.Veni Hadju นักวิชาการจากประเทศอินโดนีเซีย กล่าวถึงประสบการณ์เกี่ยวกับอาหารฮาลาลในประเทศอินโดนีเซียต่อที่สัมมนาว่า ถึงแม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีประชามุสลิมมากที่สุด แต่ความจริงรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ฮาลาลเท่าที่ควร มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตราฮาลาลเพียง 10% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเกือบ 3,000 รายการ ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ต้องการสินค้าที่มีเครื่องหมายฮาลาล
Prof. Dr.Veni Hadju กล่าวอีกว่า อินโดนีเซียเคยมีเรื่องราวใหญ่โต เมื่อมีตรวจสอบพบว่า อาหารที่ได้รับตราฮาลาลมีไขมันหมู ประเด็นนี้สร้างความโกรธแค้น จนคนทั้งประเทศลุกขึ้นมาประท้วง เจ้าของกิจการต้องจ่ายเงินร้อยล้านรูเปีย เพื่อให้สื่อกลบเกลื่อนเรื่องนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจเจอไขมันหมูคือ สบู่ ยาสีฟัน และนม เป็นต้น ส่งผลชาวอินโดนีเซียลังเลที่จะซื้อสินค้า จนเกิดตรวจสอบสินค้าอย่างหนัก
“ถึงแม้ว่าชาวอินโดนีเซียจะมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก แต่ก็ไม่ได้ตระหนักในเครื่องหมายฮาลาลมากนัก จะมีกระแสประท้วงบ้างในช่วงที่มีการนำเสนอข้อมูลว่า พบการปนเปื้อนในอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีหมูปนเปื้อน” Prof. Dr.Veni Hadju กล่าว
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวเปิดงานว่า อุตสาหกรรมฮาลาลต้องไปได้ไกลกว่าที่ผ่านมา กลุ่มประเทศอาเซียนจะต้องร่วมกันผลักดันให้เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของมุสลิมอย่างเดียว เพราะเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดแค่เพียงมุสลิมเท่านั้น ในอัลกุรอานระบุ “โอ้มนุษย์เอ๋ย จงบริโภคบนหน้าแผ่นดิน จากสิ่งที่เป็นอนุมัติและดี” (อัลบากอเราะห์ อายะห์ 168) สำหรับอาหารที่ดีและปลอดภัยภายใต้หลักคิด HALALAN TOYYIBAN ในความหมายของอิสลามก็คือ อาหารปลอดจากเชื้อที่ไม่ได้รับอนุญาตและดีที่สุด ฉะนั้นทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล ตนคาดว่าว่ากลุ่มประเทศอาเซียนจะคุยเรื่องนี้กันมากขึ้นในปี 2555
ดร.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้พัฒนาการของอุตสาหกรรมฮาลาล จะกว้างกว่าเรื่องการผลิต หมายถึงจะมีการกล่าวถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งการผลิต บรรจุภัณฑ์ จัดเก็บ ขนส่ง และการวางขายในร้าน ควรจะชัดเจนว่า เป็นโซนฮาลาล เพื่อความสบายใจของผู้บริโภคและความเป็นสาสกล