Skip to main content
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
 
ปลายเดือนมิถุนายน 2554 แวดวงประวัติศาสตร์เมืองปัตตานี กลับมาคึกคักอีกครั้งจากการมาเยือนของ “ดร.ธงชัย วินิจจะกูล” อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ฆ่าหมู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งวันนี้มีฐานะเป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา
          หนึ่งในหลายกิจกรรมที่ปัตตานีคราวนี้คือ การนำเสนอต่อที่สัมมนาทางวิชการเรื่อง “ประเด็นปัญหาปาตานีกับรัฐไทยในยุคหลังสมัยใหม่” ณ ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
          ต่อไปนี้ เป็นมุมมองของ “ดร.ธงชัย วินิจจะกูล” ที่นำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการ ในช่วงเช้าของวันที่ 29 มิถุนายน 2554
…………………………………………………….
 
 
นายอุดม ปัตตนวงศ์ – อย่างที่อาจารย์ธงชัยได้เกริ่นมาแล้ว จินตภาพที่สร้างขึ้นมานั้น มันมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นจินตภาพรัฐเดี่ยว หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมมีพื้นฐานรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์มลายู
สำหรับประวัติศาสตร์ปัตตานี ผมเป็นคนปัตตานี ประวัติศาสตร์ปัตตานีจึงอยู่ในตัวเสมอ  ประเด็นที่ผมจะคุยนั้น อาจารย์ธงชัยได้เกริ่นไว้แล้ว นั่นคือจินตภาพรัฐเดี่ยว โดยเฉพาะในยุคหลังสมัยใหม่ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เป็นปัญหา เพราะปัตตานีหลังสมัยใหม่ คือ ปัตตานีที่ล่มสลายไปแล้ว การดำรงอยู่ของอาณาจักรหมดไปแล้ว แต่เราต้องเข้าใจว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น ไม่สามารถจะลบได้
ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแต่ละชนชาติ มีความเป็นมายาวบ้างสั้นบ้าง แต่ของปัตตานีเริ่มมาไม่น้อยกว่า 500 ปี ขณะนี้เป็นปัญหาว่า จะทำอย่างไรกับจินตภาพที่มีอยู่ และการยอมรับตัวตนของปัตตานีในยุคนครรัฐ  (City State) ซึ่งไม่ใช่รัฐประชาชาติ  (Nation State) เราจะต้องยอมรับในจุดนี้ ถ้าตราบใดที่เราไม่ยอมรับปัตตานีในฐานะที่เป็นราชอาณาจักร (Kingdom) หรือนครรัฐ (City State) ในอดีต ซึ่งมีฐานะเท่าๆ กับสุโขทัย อยุธยา ความขัดแย้งคงไม่สามารถยุติลงได้
ประเด็นตรงนี้ก็อย่างที่อาจารย์ธงชัยบอก จะทำอย่างไรที่จะให้ประวัติศาสตร์เข้ากันได้ อันนี้เป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจอีกชั้นหนึ่ง เพราะถึงแม้ระยะเวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่กระทรวงศึกษาธิการก็ยังขึ้นป้ายขนาดใหญ่มากที่ยะลา นานเป็นปีเลย เขาบอกว่า “จะดับไฟใต้ให้ถาวร ต้องดับไฟประวัติศาสตร์”
ผมอยากจะบอกว่า ยุคนี้แล้วความรู้สึกของนักการศึกษา ที่จะมาพัฒนาพื้นที่เขายังมีความรู้สึกว่า ประวัติศาสตร์ปัตตานีเป็นปัญหาที่ต้องขจัดออกไป อันนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะประวัติศาสตร์ไม่สามารถจะลบได้ ประวัติศาสตร์ไม่เคยมีปัญหากับใคร นอกจากมีคนไม่ยอมรับ แล้วสร้างปัญหาขึ้นมา
ส่วนเรื่องของจินตนาการ หรือจินตภาพ ที่อาจารย์ธงชัยพูดถึง จะเป็นปัญหาของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หรือจะเป็นปัญหาของใครก็แล้วแต่ อาจารย์ธงชัยเคยเขียนไว้ว่า คนไทยเขียนประวัติศาสตร์ โดยเอาแผนที่ปัจจุบันไปทาบบนอดีต ตรงนี้ผมอยากจะฟังหน่อยว่า จะอธิบายให้นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ฟังอย่างไรว่า ถ้าเอาแผนที่ประเทศไทยปัจจุบันไปทาบกับแผนที่ประวัติศาสตร์ ประเทศไทยก็ต้องมีศูนย์กลางอยู่ที่สุโขทัย ไม่ใช่ปัตตานี  ไม่ใช่นครศรีธรรมราช  ไม่ใช่ที่ไหน มันต้องอยู่ที่สุโขทัยเท่านั้น ผมอยากจะให้อธิบายตรงนี้หน่อย ขอบคุณครับ
ธงชัย วินิจจะกูล - ผมถามก่อนนะครับอาจารย์อุดม คำถามผมเห็นแก่ตัวมากเลยครับ ที่ว่าขึ้นป้ายที่ยะลา มีใครถ่ายภาพไว้ไหมครับ
อุดม ปัตตนวงศ์ – ผมจะถ่าย แต่พอไปถ่ายเขาก็เอาลงแล้วครับ
ผมอยากได้มากเลย
ผมมีอยู่ข้อหนึ่ง ผมถือว่าเป็นข้อดีคือ ผมไม่เคยคิดเลยว่าปัญหาทั้งหลายแก้อย่างไร พยายามทำตัวเป็นนักปฏิบัติ คือ ผมคิดว่าผมพอจะเป็น แต่ว่าเวลาคิดแต่ละเรื่องจะพยายามไม่คิดถึง ไม่จำเป็นพะวงว่า ต้องแก้ปัญหาอย่างไร
ในความเห็นผม ระหว่างการเป็นนักวิชาการชนิดที่โลกวิชาการบอกว่า ต้องมีการประยุกต์ใช้ ต้องมีผลกับสังคม อย่าอยู่แต่บนหอคอย เผอิญเป็นปรัชญาส่วนตัวผม ผมกลับคิดว่า ไม่เห็นเป็นไรเลย ทั้งสองอย่างดีทั้งนั้น แล้วถ้าสองอยางไม่เกี่ยวกันก็ไม่ใช่ปัญหาอีก ปัญหาคือเราจะมีทั้งสองอย่างที่มันดีได้อย่างไร ไม่ใช่ปัญหามีอย่างใดอย่างหนึ่ง มีให้มันดีทั้งสองอย่างก็แล้วกัน ถ้ามีดีทั้งสองอย่างเป็นอันหมดปัญหา มันจะจัดการอะไรของมันเองได้ ผมเลยไม่ค่อยรู้ว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร
เรารู้ไหมว่ากระทรวงศึกษาธิการมีปัญหา แค่จะบอกให้เขาเลิกเขียนตำรามาตรฐานประวัติศาสตร์ไทย ไม่ใช่แค่เรื่องปัตตานีซึ่งยากกว่า แค่เรื่องภูเขาอัลไตนี่ เรารู้มาจนไม่รู้จะรู้อย่างไรว่า คนไทยไม่ได้มาจากภูเขาอัลไต ขอให้ยกเลิกประวัติศาสตร์ส่วนนี้สักที เขายังไม่ยอมเลิกเลย
ผมจึงไม่ทราบจริงๆ ว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร คือ สังคมไทยเป็นสังคมที่ในทางความคิดมันไม่ เป็นพลวัตแล้ว ถ้าถอยกลับเลยไปไกลนี่อธิบายได้ด้วยนะ ไม่ใช่เพราะผมมาพูดที่ปัตตานี แต่พุทธเถรวาทมันมีปรัชญาบางปีกที่เป็นอนุรักษ์นิยมอย่างสูง (Super Conservative) ผมคิดว่าคนไทยรับปีกนั้นมา
เทคนิคในการสู้กับฝ่ายเถรวาท จะต้องอ้างแนวทางที่ยึดถือต้นฉบับดั้งเดิม (Orthodox) ไว้ก่อน อันนี้เอาเข้าจริงแบบพูดกันแบบไม่เกรงอกเกรงใจนั้นทุกศาสนามีทั้งนั้น อย่าว่าแต่พุทธเถรวาทเลย ทุกศาสนามีความคิดปีกที่เป็นแนวทางที่ยึดถือต้นฉบับดั้งเดิม (Orthodox) เหมือนกันหมด อยู่ที่ว่าใครจะเอามาใช้อย่างไร
ที่รัชกาลที่ 4 ทรงทำสำเร็จ สามารถตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นมาได้ ก็เพราะทรงอ้างแนวทางที่ยึดถือต้นฉบับดั้งเดิม (Orthodox) ทั้งๆ ที่ทรงเปลี่ยนเนื้อหาพุทธเถรวาทจมเลย หรือว่าสังคมของเราต้องมีคนที่สามารถทำอย่างนั้นได้ โดยไม่รู้สึกขัดแย้งในตัวเอง คือ สามารถอ้างแนวทางที่ยึดถือต้นฉบับดั้งเดิม แบบ Orthodox แล้วเปลี่ยนได้จมเลย
อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราจะอ้างประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร ที่จะสามารถเปลี่ยนได้แหลกลาญเลย อ้างอย่างไรโดยใช้กรอบเดิม แต่เปลี่ยนแหลกลาญเลย ในความคิดของผม คือ สาเหตุอยู่ที่ความคิดเมื่อ 150 กว่าปีก่อน ถึงวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน เพราะเราใช้วิธีอ้างแบบเดิมๆ ในการเข้าไปเปลี่ยนรายละเอียด สุดท้ายแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราต้องทลายกรอบ แต่เราก็ทลายไม่ได้
ดังนั้นคำถามที่ว่า ผมเห็นด้วย 100 เปอร์เซนต์ ผมมาพูดเมื่อตอนปี พ.ศ. 2545 (2002) ตอนนั้นก็นึกว่าไม่มีเรื่องแล้ว เวลาห่างจากปี พ.ศ. 2513 (1970) มานานแล้ว ความขัดแย้งที่มันหนักๆ ครั้งสุดท้ายก่อนปี พ.ศ. 2545 คือ การชุมนุมใหญ่ที่หน้ามัสยิดกลางปัตตานี พ.ศ. 2518
ผมพยายามจะบอกว่า ถ้าตราบใดเรายังไม่ยอมรับประวัติศาสตร์ปัตตานีแบบที่มันเป็น และไม่สร้างวัฒนธรรมแบบที่เราจะอยู่กับประวัติศาสตร์อย่างไร เราจะมีวัฒนธรรมที่จะอยู่กับประวัติศาสตร์อย่างไร ปัญหาย่อมแก้ไม่ตก นี่คิดแบบนักอุดมคติ คิดในแง่ในระยะยาว
ปัญหาของผม คือ (เรา) ไม่มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสักเท่าไหร่ ถ้าหากในระยะยาว อาจจะมีส่วนช่วยคิดได้บ้าง ส่วนจะแปรเป็นการปฏิบัติอย่างไร ผมต้องยกให้คนที่มีความสามารถในทางปฏิบัติ ผมไม่มีความสามารถที่จะพูดถึงช่องทางการปฏิบัติได้หมด
ตอนนั้นปี พ.ศ. 2545 ผมคิดว่าปัตตานีน่าจะปลอดภัยแล้ว และรู้สึกว่าเราต้องสร้างวัฒนธรรมในการอยู่กับประวัติศาสตร์ที่มันอันตราย เราจะทำอย่างไรให้มันหมดอันตราย ไม่ใช่ด้วยวิธีแบบละครรายากูนิง ไม่ใช่วิธีแบบที่ประวัติศาสตร์ไทยทำ มันมีวิธีอื่นที่ไม่ง่ายและมันก็ผูกพันกับปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น
ถ้าจะทบทวนสั้นๆ ก็คือ ทำให้ประวัติศาสตร์อันตรายลดอันตรายลง ยอมรับให้มันมาอยู่ในที่เปิด เพราะผมเชื่อในศักยภาพมนุษย์ว่า พอถึงจุดหนึ่ง เมื่อมนุษย์เจอข้อมูลเยอะๆ มนุษย์ย่อมเลือกที่จะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ นี่คือการถอดอาวุธ ด้วยการถอดอาวุธ (Disarm) ความอันตรายของประวัติศาสตร์
ถึงแม้ธงชัยจะบอกอย่างโน้นอย่างนี้ คนที่บอกว่าธงชัยอันตราย ถ้าปล่อยให้ผมพูดไปเถอะ พวกคุณไม่ฟังผมหรอก อย่ามาห้ามผมพูด ยิ่งมาห้ามผมพูดยิ่งอันตราย ปล่อยผมพูดไปเถอะแล้วคนจะคิดไปเอง เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง เพราะสุดท้ายชีวิตคนเรามีมิติอื่นตั้งเยอะ ที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่อดีต คนเราจะมีมิติอื่นที่มาชั่งน้ำหนักแล้วก็มาบูรณาการ (Integration)
ในสังคมร้อยกว่าปีที่ผ่านมาของปัตตานี หนึ่งร้อยกว่าปีของทิเบตกับจีน ย่อมมีมิติอื่น เช่น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งคนต้องชั่งน้ำหนักเอาเอง เขาจะใช้ประวัติศาสตร์มาเป็นส่วนในการตัดสินใจในการเลือกอนาคตเแค่ไหน ก็เป็นสิทธิที่เขาจะเลือก คนเราไม่ได้โง่ คนเราตัดสินอนาคตของตัวเองได้ ผมคิดว่านี่เป็นวิธีการปลดอาวุธประวัติศาสตร์
กลับมาประเด็นปัญหาที่ผมพูดว่า แผนที่ปัจจุบันไปทาบอดีต อันที่จริงมันเข้าใจได้ง่ายมากเลย ความยากอยู่ตรงที่ความเชื่อบางอย่างที่มันฝังหัวแล้วมันเปลี่ยนลำบาก อันนี้เป็นกันทุกคน อย่าโทษคนอื่น ทุกคนเป็น ตัวเราเองก็เป็น
ผมจะหาคนที่พอจะยกย่องได้ ก็ขอยกย่องอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริลับหลัง ในเมื่อท่านไม่อยู่เรายกย่องได้ อาจารย์ชาญวิทย์เป็นครูผม ท่านอายุ 70 แล้ว แต่อาจารย์ชาญวิทย์เป็นคนที่ไม่เคยแก่
ตอนนี้ท่านอยู่ที่สิงคโปร์ บอกความลับไว้อย่างหนึ่ง พอว่างๆ ก็นั่งกินเบียร์กันนะครับ อาทิตย์ละครั้ง สองอาทิตย์ครั้ง บ่อยๆ เข้า อาจารย์ชาญวิทย์อายุ 70 เริ่มบ่นว่า เพื่อนฝูงรุ่นแกอยู่ที่เดิม ไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ยอมปรับความคิด เพราะอาจารย์ชาญวิทย์แกปรับ อาจารย์ชาญวิทย์ล้อผมประจำ ทำไมธงชัยไม่เล่น Facebook เพราะอาจารย์ชาญวิทย์ใช้ Facebook ใช้เทคโนโลยี ผมบอกอาจารย์ ผมวิ่งตามไม่ไหวแล้ว ผมตามไม่ทัน
นี่คือตัวอย่าง อย่างน้อยที่สุดเราต้องเปิดใจกว้าง พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน รวมถึงความถูกความผิดในอดีต เมื่อเราเข้าใจ เมื่อเราเห็นจุดดี จุดอ่อนของความรู้หลายๆ อย่าง เราจะรู้จักเลือก ผมก็เคยพูดเองในหลายๆ ที่ว่า อย่าลืมประวัติศาสตร์ที่มันเป็นบาดแผล ผมคิดว่ามนุษย์ปกติ มนุษย์ที่เป็นธรรมดาสามัญ ถ้าเราไม่รู้จักลืมเสียบ้าง มันอยู่ไม่ได้
นี่พูดในแง่มนุษย์ปกติ แต่ในแง่สังคม ถ้าบอกว่า ลืมเสียเถอะ อันนั้นผิด คุณต้องปล่อยให้เปิดกว้าง ปล่อยให้มันแบอยู่บนโต๊ะ คนเขาจะได้ตัดสินใจได้ ทุกคนที่มีชีวิตอยู่ คิดถึงอนาคตกันทั้งนั้น ไม่มีใครอยากจะจมอยู่กับอดีตหัวปักหัวปำ นั่นคือวิธีปลดอาวุธที่ดีที่สุด นั่นคือวิธีที่เราใช้เผชิญกับความรู้ใหม่และความรู้เก่าที่ดีที่สุด
เรื่องแผนที่เป็นเรื่องความเชื่อ ที่คนไทยปรับตัวลำบากมาก อธิบายง่ายนิดเดียวครับ ยกตัวอย่างเรื่องการเสียดินแดน เวลาที่บอกว่าเราเสียดินแดน ผมถามนิดเดียวว่าไอ้ดินแดนแต่ก่อน ที่เราเคยมีอยู่ก่อนที่จะเสียมันอยู่ตรงไหน อยู่แค่ไหน นักวิชาการคนไหนบอกได้ไหม ใครระบุได้ว่าประเทศไทย ประเทศสยามก่อนเสียมันใหญ่แค่ไหน มันตอบไม่ได้ครับ เพราะสมัยก่อนมันไม่มีดินแดนให้เราบอกได้ว่า เราใหญ่แค่ไหน
ประวัติศาสตร์การเสียดินแดน จึงมีได้หลายแบบการตีความ สมัยหลวงวิจิตรวาทการ ท่านบอกว่าเสียดินแดนสามครั้ง ต่อมา มีคนอื่นบอกว่าห้าครั้ง เจ็ดครั้ง แปดครั้ง นายธนิต อยู่โพธิ์บอกว่าแปดครั้ง หลวงวิจิตรวาทการเองก็ไม่ว่าอะไร ทั้งที่ท่านเองบอกว่าเสียดินแดนแค่สามครั้ง
หลังสุดที่แพร่หลายออกมาเป็น Power Point บอกว่าไทยเสียดินแดน 14 ครั้ง แต่สุดท้ายก็มีหนังสือของอาจารย์ธวัช ปุณโณทก ออกมาเถียงว่าไม่ใช่ 14 ครั้ง แค่ 12 ครั้ง การบอกว่า สาม ห้า แปด เก้า เจ็ด สิบสี่ สิบสอง แปลว่าคุณสามารถบอกได้ว่าจุดตั้งต้นอยู่ตรงไหน และเหตุที่เขาบอกต่างกัน ก็เพราะว่าจุดตั้งต้นต่างกันหมดเลย ไม่มีใครบอกได้ว่าจุดตั้งต้นอยู่ไหน
เมื่อสอง-สามเดือนก่อน ผมไปพูดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมถึงบอกว่าแปลกใจ 14 ครั้งนี่ เขาไม่เอาแผนที่สุโขทัย ที่นายทองใบ แตงน้อย ผลิตขึ้นมาเป็นฐาน เพราะถ้าเอาตรงนั้นแปลว่าเราต้องเสียมลายูทั้งคาบสมุทรเลยนะครับ เสียสิงคโปร์ เสียมะละกา เสียหมดเลย เพราะแผนที่นายทองใบ แตงน้อย อาณาเขตประเทศสยามมันคลุมหมดเลย
ผมไปพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์มา เขาบอกว่าพวกที่แย่งสิงคโปร์กันสมัยนั้น ไม่เห็นมีสยาม แบบนี้สิงคโปร์ต้องผิดแน่เลย ลืมพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้อย่างไร เขาบอกมีอาณาจักรมัชปาหิต มีอะไรต่ออะไร แต่ไม่เห็นมีสยาม แบบนี้สิงคโปร์ผิดแน่เลย
ในทางกลับกันถ้าเราใช้ฐานประวัติศาสตร์ คุณรู้ไหมทำไมเขาไม่ใช้แผนที่สมัยสุโขทัยของนายทองใบ แตงน้อยเป็นฐาน เพราะขืนนำมาใช้ล้านนาก็ไม่อยู่เป็นส่วนหนึ่งของสยาม แค่นี้ก็ยุ่งแล้ว และยังจะยุ่งต่อไปอีก ถ้างั้นอย่านำมาใช้เลย
ถ้าขืนใช้แผนที่ทองใบ แตงน้อยฉบับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฉบับนี้ก็ไม่ได้รวมปัตตานีไว้ด้วย นี่ก็ยุ่งไปอีกแบบ แต่แผนที่ฉบับนี้ รวมหัวเมืองมอญ รวมเชียงตุงด้วย เหลวไหลทั้งเพ มันคือการนำวิธีคิดของคนปัจจุบันไปบอกว่า สมัยก่อนเราต้องมีดินแดนที่ชัดอยู่พอประมาณ ทั้งที่สมัยนั้นมันไม่มี แต่เราพยายามบอกว่าเรามี
ที่ผมเขียนสื่อออกไปก็คือ เราเริ่มรู้ว่าสยามใหญ่แค่ไหน เป็นกระบวนการเดียวกับที่เราก่อรูปก่อร่างรัฐสมัยใหม่ พร้อมกับแผนที่ และผลสุดท้ายที่เริ่มมีรูปร่างเป็นตัวเป็นตนมากที่สุด ลงแผนที่ได้ชัดนี่ เป็นผลจากการ “แย่ง” ผมขอใช้คำนี้ และขออนุญาตใช้คำนี้อีกครั้ง ผมมั่นใจว่าผมไม่ผิด เป็นผลจากการแย่งดินแดนกับฝรั่งเศสแล้วเราแพ้
ลาวไม่ได้เป็นของสยามนะครับ ลาวก็เป็นลาว หรือพูดให้แรงกว่านี้คือ ดินแดนลาวยังรวมอีสานด้วย คนสมัยนั้นเขาไม่ตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งเดียวกับฝั่งแม่น้ำหรอก เขาตั้งสองฝั่งแม่น้ำกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น สองฟากแม่น้ำโขงนี่เป็นลาวทั้งนั้น ไม่ใช่ฝั่งซ้ายอย่างเดียว แต่มีเหตุที่ทำให้เราหยุดแค่แม่น้ำโขง ก็เพราะเราแย่งกับฝรั่งเศสสุดท้ายแล้วเราแพ้ พอเราแพ้ก็บอกว่า งั้นหยุดแค่นั้นก็แล้วกัน ตีเส้นแบ่งเขตแดนกันแค่ตรงนั้นก็แล้วกัน
ก่อนหน้านั้น เราไม่สามารถอ้างได้ว่า อะไรเป็นของสยามหรือไม่เป็น บ้านเราคลุมเครือไปหมด กลายเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้า สามฝ่ายฟ้าหมด หลังจาก ร.ศ. 112 แล้ว สนธิสัญญาทั้งหลายก็มีผลมาถึงเรื่องเขาพระวิหาร เราถึงสามารถระบุได้ว่า ดินแดนสยามมีอยู่แค่ไหน ก่อนหน้านั้นมันระบุไม่ได้
ผลจากการระบุได้นี่ นอกจากเราจะเสียดินแดนในความหมายว่าแย่งแล้วแพ้แล้ว เรายังได้ดินแดนด้วยนะครับ อย่างน้อยที่สุดก็ได้ฝั่งขวาแม่น้ำโขงมาไง ได้ลาวที่อยู่ฝั่งด้านนี้ของแม่น้ำโขงทั้งหมด ทั้งที่แต่ก่อนก็เป็นเมืองสองฝ่ายฟ้า สามฝ่ายฟ้าเหมือนกัน ต่อมาก็ได้ปัตตานี
ถ้าพูดให้เป็นธรรม เราทั้งได้ทั้งเสีย พูดอย่างง่ายๆว่าแย่งชนะบ้างแพ้บ้าง นับจากนั้นเป็นต้นมา เราจึงสามารถบอกได้ว่าสยามอยู่ที่ไหน ก่อนหน้านั้นบอกไม่ได้ วิธีการที่บอกว่าเอาแผนที่ปัจจุบันไปอธิบายอดีต นี่พูดแค่เรื่องเสียดินแดนเรื่องเดียว ถ้าพูดเลยไปกว่าเรื่องเสียดินแดนก็คือประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยที่เรียนมาทั้งหมด คุณดูดีๆ และนึกดูดีๆ มีจินตภาพว่าประเทศไทยใหญ่เล็กแค่ไหนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เรื่องเสียดินแดน
ทำไมเราถึงชอบและยกย่องศิลาจารึกหลักที่หนึ่งของพ่อขุนรามคำแหง เพราะเป็นจารึกหลักเดียวหลักแรกที่สุด ที่จารึกไว้ว่าสุโขทัยใหญ่แค่ไหน ซึ่งเอาเข้าจริงอันนั้นเป็นอีกชุดหนึ่ง หลักหนึ่งมันแปลกมากมันประหลาด เอาเป็นว่าสมมติก่อนแล้วกันว่าหลักนั้นไม่ปลอม หลักนั้นเป็นของจริง หลักนั้นระบุไว้ว่าดินแดนของสุโขทัยใหญ่แค่ไหน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านไม่ได้ปิดบังเลย ท่านบอกเลยว่าความสำคัญของสุโขทัย ความสำคัญของหลักหนึ่งนี่ มันทำให้เรารู้ว่าสยามตอนนั้นใหญ่แค่ไหน
ทำไมการรู้ว่าสยามใหญ่แค่ไหน ถึงเป็นเกณฑ์เพื่อมาบอกว่า จารึกและหลักฐานชิ้นนี้สำคัญกว่าหลักฐานชิ้นอื่น นั่นคือการจินตภาพว่า เราต้องมีดินแดนใหญ่แค่ไหน ความคิดเรื่องการเสียกรุงทั้งหมด เป็นความคิดที่มีส่วนผูกโยงกับเรื่องว่า อะไรคือไทย อะไรไม่ใช่ไทยในเชิงดินแดน คือ พูดเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนั่นเอง พูดง่ายๆ ความคิดที่จำแนกแจกแจงว่า จะเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างไร เช่น การพูดเรื่องไทยรบกับพม่านี่เป็นประวัติศาสตร์มาตรฐาน เป็นความคิดที่ผูกโยงกับเรื่องการแบ่งดินแดนเป็นไทยกับพม่า
เราเคยได้ยิน ทุกคนคงเคยได้เรียนประวัติศาสตร์ ขอโทษที่ผมมาพูดเรื่องนี้ที่ปัตตานี มันอาจจะดูผิดที่ผิดทาง เราเคยได้เรียนใช่ไหมว่า คราวเสียกรุงครั้งที่ 1 ในสมัยพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระมหินทราธิราช (พระมหินทร์) นี่ เจ้าพระยาจักรีเป็นไส้ศึก จำได้ไหม ไส้ศึกคนสำคัญคือพระยาจักรี
คุณรู้ไหมว่าเจ้าพระยาจักรีทำตามคำสั่งใคร คนวางแผนที่จะให้พระยาจักรีเป็นไส้ศึก คือ พระมหาธรรมราชา พ่อของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พงศาวดารเขาไม่ปิดบัง เขียนไว้ชัดเลย แต่เราไม่ได้อ่าน เราเลือกที่ไม่อ่านกันเอง เขาเขียนชัดเลยว่า พระมหาธรรมราชาเข้าข้างบุเรงนอง
เพราะตอนท่านเขียนพงศาวดาร ท่านไม่ได้เขียนภายใต้ความคิดที่ว่า พระมหาธรรมราชาเป็นฝ่ายบุเรงนอง เป็นฝ่ายพม่า พงศาวดารเขียนขึ้นในยุคที่แนวคิดแบบพุทธยังครอบงำการเขียนพงศาวดาร บุเรงนองขึ้นชื่อในโลกของฝ่ายพุทธว่า เป็นผู้มีบุญบารมี ส่วนพระมหินทร์ ไปอ่านดูแสดงให้เห็นว่าเป็นคนเลว เมื่อวัดตามมาตรฐานพุทธ แล้วจะให้คนที่เขาสร้างพงศาวดารเข้าข้างคนเลวหรือ
คิดตามแบบพุทธ ธรรมะคือฝ่ายบุเรงนอง ฝ่ายอธรรมคือฝ่ายพระมหินทร์ เรื่องอะไรเราจะไปเข้าข้างฝ่ายอธรรม เราต้องเข้าข้างฝ่ายธรรมะ นี่พูดง่ายๆ ตามแนวคิดของคนเขียนพงศาวดารแบบโบราณ พระมหาธรรมราชาจึงเลือกถูกข้างแล้ว เพราะอยู่ฝ่ายธรรมะ พระยาจักรีจึงไม่ได้เป็นไส้ศึก เพราะพระยาจักรีเชิดชูช่วยฝ่ายธรรมะจนชนะ กระทั่งฝ่ายอธรรมพ่ายแพ้
ประวัติศาสตร์ไส้ศึกมาจากไหน มาจากที่ความคิดแบบประวัติศาสตร์ชาตินิยมสมัยใหม่หมดเลย เป็นไทย เป็นพม่า กลายเป็นว่าเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของประวัติศาสตร์ไทยมาตรฐาน มันอยู่กับความคิดเรื่องรัฐเดี่ยว อยู่กับความคิดแบบสมัยใหม่ ทั้งหมดนี่เป็นความคิดสมัยศตวรรษที่ 20 ก่อนศตวรรษที่ 20 ไม่ได้คิดแบบนั้น เริ่มคิดแบบนี้กันประมาณกลางศตวรรษที่ 19 มากลั่นตัวเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนตอนกลางศตวรรษที่ 20 ที่แน่ๆ คือครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 ไม่ได้คิดแบบนี้
ย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งผลิตพงศาวดารขึ้นมาหลายชิ้น ย้อนกลับไปสมัยที่ผลิตสิ่งที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า พงศาวดารฉบับ จ.ศ.1136 ยังเป็นการเขียนแบบเก่ามาก เขาไม่ได้คิดอย่างที่เราคิด
ความคิดแบบที่เราคิดมาจากไหน ความคิดแบบที่เราคิดเติบโตควบคู่กับการเกิดรัฐสมัยใหม่ ซึ่งผูกติดอยู่กับแนวคิดเรื่องรัฐเดี่ยว รัฐแบบมีดินแดนและเป็นรัฐเดี่ยว ประวัติศาสตร์ไทยมาตรฐานทั้งหมด แยกไม่ออกจากการความคิดเรื่องรัฐแบบแผนสมัยใหม่ เราเอาวิธีคิดแบบรัฐสมัยใหม่ไปอธิบายอดีตแบบนี้หมดเลย
มีอีกนิดเดียว ประโยคเดียวก็พอ ในเมื่อจะหาเรื่องก็หาเรื่องให้หมด ประวัติศาสตร์ชาตินิยมปัตตานีก็อยู่ในลักษณะทำนองเดียวกันนี้แหละ
คำถามที่ว่าภายใต้ความคิดเอาแผนที่ปัจจุบันไปอธิบายอดีต มันขัดกับศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือเปล่า
ไม่ใช่คนโบราณไม่มีความคิดเรื่องดินแดนเอาเสียเลย ศิลาจารึกหลักที่หนึ่งจึงอ่านได้ทั้งสองแบบ สามารถอ่านได้ว่าเป็นหลักศิลาจารึกปลอม หรือไม่ปลอม

 

(กรุณาติดตามอ่านต่อตอน 3)