กนกวรรณ เกิดผลานันท์ โครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ (ระยะที่ 2) ภายใต้กรอบการศึกษาเพื่อพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกและโรงไฟฟ้าชุมชน
ต้นน้ำ – สภาพต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ของบ้านคลองเรือ
แหล่งน้ำ – ชาวบ้านคลองเรือศึกษาศักยภาพของแหล่งน้ำร่วมกับนักวิชาการ
เมื่อพูดถึงความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันในปัจจุบัน แน่นอนว่าแค่ “ปัจจัยสี่” คงจะไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมี “ปัจจัยห้า” ที่ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่ละคนนิยาม “ปัจจัยห้า” แตกต่างกันไป บางคนอาจหมายถึงรถยนต์ บางคนอาจหมายถึงโทรศัพท์มือถือ แต่อีกนิยามหนึ่งที่น่าจะครอบคลุมกว้างขวางกว่า “ปัจจัยที่ห้า” ที่จะก่อให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันอื่นๆ ทั้งหมดคือ “พลังงานไฟฟ้า”
ท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ในขณะที่การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ทำได้ยาก การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยไม่อาจทำได้อีกต่อไป หลังเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามแห่งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะในประเทศญี่ปุ่นระเบิด โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยิ่งไม่ใช่ทางออกสำหรับประเทศไทย
แล้วอะไรจะเป็นคำตอบที่ลงตัว ระหว่างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ กับความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
บ้านคลองเรือ หมู่ที่ 9 ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เป็นชุมชนต้นน้ำที่เมื่อเกือบสี่สิบปีก่อน เป็นเสมือนแผ่นดินแห่งความหวัง ที่คนต่างถิ่นจากทั่วทุกสารทิศอพยพเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ในรูปของการเป็นลูกจ้างสัมปทานตัดไม้ ลูกจ้างเหมืองแร่ ปลูกกาแฟและทำสวนผลไม้
เมื่อต่างคนต่างตักตวงเอาจากธรรมชาติ เพียงแค่ช่วงระยะเวลาสิบปีผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ ก็แปรสภาพเป็นผืนดินที่แห้งแล้ง สายน้ำเหือดหาย อันเป็นผลพวงจากการตัดไม้ทำลายป่า การแย่งชิงน้ำและการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร ชาวคลองเรือรู้แล้วว่า วิถีทำกินแบบเก่าที่ต่างคนต่างกอบโกยเอาจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ได้ย้อนกลับมาทำลายพวกเขาเอง
ในความโชคร้ายของชาวบ้านชุมชนคลองเรือ ก็ยังมีความโชคดี เมื่อนายพงศา ชูแนม เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ ได้ริเริ่มโครงการคนอยู่ ป่ายัง (วนศาสตร์ชุมชนบนพื้นที่สูง) ในปี 2536 ภายใต้แนวคิด “ดูแลคนไม่ให้ทำลายป่า” แทนแนวคิดอนุรักษ์แบบอนุรักษ์นิยมของข้าราชการกรมป่าไม้ ที่มักเชื่อว่า “ต้องดูแลป่าไม่ให้คนทำลาย”
การทำงานของโครงการคนอยู่ ป่ายัง ใช้การเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พูดคุยผ่านเวทีชาวบ้าน เดินทางไปดูงานชุมชนอื่นๆ ทั้งหมดนี้ช่วยชี้แจงแสดงเหตุผลให้ชาวบ้านตระหนักได้ว่า เมื่อมีป่าจึงมีน้ำ เมื่อมีน้ำจึงมีชีวิต นำไปสู่การกำหนดกฎกติกาในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน
โครงการคนอยู่ ป่ายัง จึงเป็นบ่อเกิดชุมชนเข้มแข็งของบ้านคลองเรือ เป็นจุดเปลี่ยนทางความรู้สึกจากผู้ทำลายป่ากลายเป็นผู้รักษาป่า ขยายผลเป็นโครงการต่อยอด ที่ยิ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการธนาคารต้นไม้ สวนเกษตร 4 ชั้น หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
ถึงวันนี้ชาวคลองเรือมีวิถีชีวิตที่ลงตัว และมีความสุขกับความเป็นชุมชนต้นแบบ ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รางวัลแห่งความภาคภูมิใจอันหนึ่งคือ การได้รับพระราชทานธงพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2541
แน่นอน ในฐานะชุมชนที่รักษาป่าต้นน้ำได้อย่างยอดเยี่ยม ชาวคลองเรือควรได้รับรางวัลตอบแทนบางอย่างที่จะช่วยให้พวกเขาได้ดำรงชีวิตประจำวันสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม เพราะการมีชีวิตพอเพียงมิได้หมายความว่าต้องปราศจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
ทุกวันนี้ชาวบ้านคลองเรือมีความมั่นคงด้านพลังงานน้อยมาก เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลระบบเครือข่ายไฟฟ้ายังเชื่อมโยงเข้าไปไม่ถึง ไฟฟ้าที่ใช้ในชุมชนได้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอกับความต้องการของชาวบ้าน การไม่มีไฟฟ้าใช้ ถือเป็นเรื่องอยุติธรรมต่อชาวคลองเรือเป็นอย่างยิ่ง
ความต้องการใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านคลองเรือ สอดคล้องต้องกันกับความสนใจใคร่รู้ของนักวิจัย นักวิชาการจากโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ฯ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่กำลังร่วมกันหาทางออกเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ในกรณีนี้พลังงานทางเลือก น่าจะเป็นคำตอบที่ใช่ เป็นพลังงานที่ไม่หวนกลับมาสร้างปัญหาในภายหลัง ด้วยถือกำเนิดมาจากความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง และเป็นพลังงานที่สร้างขึ้นจากรากฐานทรัพยากรของชุมชน
ชุมชนเข้มแข็งผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรอันหลากหลาย ผนึกกำลังกับนักวิจัยและนักวิชาการ โดยแกนนำชุมชนคลองเรือได้เข้าร่วมโครงการนำร่องการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2551) มีโอกาสพบปะพูดคุยกับชุมชนต้นน้ำอื่นๆ ในภาคใต้ และร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนบ้านแม่กำปอง กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
ส่งผลให้เกิดความมั่นใจในศักยภาพของพลังน้ำและพลังชุมชนว่า ป่าต้นน้ำบ้านคลองเรือ มีปริมาณน้ำมากเพียงพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ส่วนพลังชุมชนก็เข้มแข็งพอที่จะขับเคลื่อนการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ให้ดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับทั้งตัวชุมชนและสังคมโดยรวมได้อย่างเต็มที่
อันเป็นที่มาของแหล่งเรียนรู้โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนบ้านคลองเรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงระยะที่ 2 ของโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างปี 2552–2554 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2554
เมื่อวันนั้นมาถึงชาวบ้านคลองเรือที่ขาดโอกาสมานาน จะได้เติมเต็มบางส่วนที่ขาดหายไปในชีวิต ชุมชนที่เคยขาดแคลนไฟฟ้าจะได้มีไฟฟ้าใช้ บางคนฝันที่จะทำกิจการเครื่องแกงสำเร็จรูป โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่รอบๆ บ้าน บางคนฝันจะเป็นที่ปรึกษาสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนให้กับชุมชนอื่นๆ
ทุกความฝันมิใช่เป็นไปเพื่อสร้างความมั่งคั่งส่วนตัว แต่เป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ไปสู่คนอื่น ๆ โดยมีการรักษาป่าต้นน้ำเป็นต้นทางและปลายทางแห่งฝัน