ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.วันที่ 17 สิงหาคม 2554 ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายวินัย คุรุวรรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายผลักดันสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา–สตูล ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และท่าเรือน้ำลึกปากบารา รวมทั้งยุติแผนพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภาคใต้ โดยนายวินัยได้เชิญตัวแทนเครือข่ายร่วมพูดคุย ที่ห้องโต๊ะพญาวัง ศาลากลางจังหวัดสตูลประมาณ 1 ชั่วโมง
ภาพจากASTVผู้จัดการออนไลน์
นายสมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ตนได้แจกแจงรายละเอียดโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา–สตูล ให้นายวินัยรับทราบอย่างเป็นระบบ โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วย โครงการรถไฟรางคู่ ท่อน้ำมันจากจังหวัดสตูลไปยังจังหวัดสงขลา คลังน้ำมันที่จังหวัดสตูลและจังหวัดสงขลา นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ท่าเรือน้ำลึกปากบารา
“นายวินัยบอกกับชาวบ้านว่า ลำบากใจเป็นอย่างมาก เพราะโครงการเหล่านี้เป็นนโยบายจากส่วนกลาง พร้อมกับรับปากกับชาวบ้านว่า จะพยายามทำตามบทบาท หน้าที่ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลให้ดีที่สุด” นายสมบูรณ์ กล่าว
ต่อมา เวลา 10.30 น. วันเดียวกัน เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ร่วมกันแถลงข่าวการเข้าร่วมเคลื่อนไหวภายใต้แผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ระหว่างวันที่ 21–22 สิงหาคม 2554 ที่แยกปฐมพร จังหวัดชุมพร กับเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ว่า มีเป้าหมายต้องการส่งสัญญาณไปถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า คนภาคใต้ไม่ต้องการโครงการเมกะโปรเจ็กต์
ต่อมา เวลา 15.30 น. วันเดียวกัน ชาวบ้านประมาณ 50 คน รวมตัวกันทำกิจกรรมแพลงกิ้งในทะเล บริเวณหาดปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล นำเสนอภาพชาวบ้านโดนคลื่นยักษ์สึนามิตายเกลื่อนหาด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ทบทวนนโยบายสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และยุติโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล เป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นว่า หาดปากบาราเป็นแหล่งอาศัยของปูทหารยักษ์ปากบารา ซึ่งเป็นปูชนิดใหม่ของโลก ที่ถูกค้นพบโดยผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ สำหรับปูทหารยักษ์ปากบารา ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ด้วย
นายกิตติภพ สุทธิสว่าง คณะทำงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า วันที่ 17 สิงหาคม 2554 มีการประชุมหารือกับชาวบ้านจากหลายเครือข่ายในจังหวัดสงขลา เพื่อเตรียมการร่วมปฏิบัติการเพชรเกษม 41 อาทิ ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนนาปรัง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เครือข่ายคัดค้านการสร้างโรงถลุงเหล็กอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และชาวบ้านจากเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทะเลสาบสงขลา เป็นต้น
“วันที่ 18–19 สิงหาคม 2554 ทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดสงขลา จะไปยื่นหนังสือกับนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนโยบายเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา – สตูล จากนั้นจะเดินทางไปร่วมกับเครือข่ายประชาชนภาคใต้ ในวันที่ 21–22 สิงหาคม 2554 ที่จังหวัดชุมพร
นายทวีวัฒน์ เครือสาย คณะทำงานเครือข่ายความร่วมมือและส่งเสริมสิทธิพลเมืองจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า เครือข่ายประชาชนในจังหวัดชุมพร จะไปยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ผ่านนายพินิจ เจริญพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ในวันที่ 19 สิงหาคม 2524 เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายแผนพัฒนาและแผนพลังงานในภาคใต้
นายทวีวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า จากนั้นจะมีการประชุมจัดเตรียมความพร้อมเกี่บยวกัสถานที่ เวลา อาหาร เพื่อรองรับชาวบ้านทั่วภาคใต้ ที่จะมาร่วมแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 พร้อมกับประชุมคณะทำงานด้านสื่อถึงกระบวนการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณชน
นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว คณะทำงานเครือข่ายท่าศาลารักษ์บ้านเกิด จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า หลังวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ทางเครือข่ายฯ จะเข้ายื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ผ่านนายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนหน้านี้ ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ และแผนพลังงานในภาคใต้ โดยก่อนหน้านี้ ทางเครือข่ายได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการอื่นๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชมีหนังสือตอบกลับมาว่า จะเปิดเวทีสาธารณะให้พูดคุยกัน การเข้ายื่นหนังสือครั้งต่อไป จึงถือว่าเป็นการไปทวงถามการเปิดเวทีสาธารณะด้วย
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11–12 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมลีลาวดี ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์สื่อภาคใต้ เพื่อการวางแผนการขับเคลื่อนงานด้านสื่อในภาคใต้ มีผู้ทำสื่อแขนงต่างๆ เช่น โทรทัศน์ สถานีวิทยุ เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ จากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมประมาณ 20 คน
ที่ประชุมกำหนดให้คณะทำงานสื่อภาคประชาชนภาคใต้ เกาะติดและผลิตสื่อใน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย ความเคลื่อนไหวเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ ปัญหาอยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยชูประเด็นโฉนดชุมชนคือปฏิบัติการรักษาป่าของชาวบ้านในเขตป่า การกระจายอำนาจเน้นประเด็นการจัดการตนเองของท้องถิ่น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ระดมงบประมาณจัดทำสื่อรณรงค์สนับสนุนแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 โดยศูนย์สื่อสังคมภาคใต้ และโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา หรือสจน. ได้จัดงบประมาณจัดทำสื่อครั้งนี้กว่า 150,000 บาท เพื่อนำเสนอผ่านเฟซบุ๊คสื่อรักษ์ปากใต้ เว็บไซต์ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ระดับชาติ หนังสือพิมพ์ วารสาร จดหมายข่าวของเครือข่ายและองค์กรต่างๆ หนังตะลุง เพลงบอก วิทยุชุมชน โทรทัศน์ออนไลน์ วิทยุออนไลน์ และแผ่นพับออกแจกจ่ายประชาชนทั่วไป พร้อมกับมอบหมายให้ทีมนักข่าวพลเมืองจังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา รับผิดชอบผลิตข่าวความเคลื่อนไหวปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ด้วย