Skip to main content

จริงใจ จริงจิตร โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

 

เวลา 13.30-16.00 น. วันที่ 17 สิงหาคม 2554 ที่ห้อง 19111 อาคารเรียนรวม 19 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี งานวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ จัดบรรยายพิเศษในรายวิชา 196–303 การเมืองภาคประชาชน เรื่องเปิดแผนพัฒนาภาคใต้ มีนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) และนายสุพจ จริงจิตร บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เป็นวิทยากร มีนักศึกษาร่วมฟังบรรยายกว่า 200 คน

 

นางสาวศยามล บรรยายว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต กลุ่มธุรกิจพลังงานจะมีบทบาทในการพัฒนาประเทศ ภาคใต้ถูกกำหนดให้เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้พลังงานจำนวนมาก จำเป็นต้องมีพลังงานสำรอง จึงต้องมีโรงไฟฟ้า สาเหตุที่ภาคใต้ถูกกำหนดให้เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะภาคใต้มีชายฝั่งขนาบทั้งสองด้าน เหมะกับการทำอุตสาหกรรม เพราะทะเลทั้งสองฝั่งสามารถรับของเสียได้มาก ขณะที่มลพิษทางอากาศจะถูกลมพัดพาออกไปจากพื้นที่อย่างรวดเร็ว

 

นางสาวศยามล กล่าวว่า ภาคใต้เป็นภาคที่เศรษฐกิจดีรองลงมาจากกรุงเทพมหานคร คนภาคใต้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เนื่องจากมีพืชเศรษฐกิจสำคัญ  2 ชนิดรองรับคือ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ขณะเดียวกันยังมีอ่าวที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ ตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทยคือ อ่าวปัตตานี ทะเลสาบสงขลา อ่าวปากพนัง และอ่าวบ้านดอน ประกอบกับมีทรัพยากรทางทะเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ทำรายได้ปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาท

 

“ทิศทางการพัฒนาไม่ควรเข้าสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ควรเน้นธุรกิจการทิ่องเที่ยว และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตรในพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรภาคใต้ เช่น อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารา ปาล์มน้ำมัน ประมง รวมทั้งการท่องเที่ยว ซึ่งการพัฒนาในทิศทางนี้ เมื่อดูข้อมูลของสำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และข้อมูลของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์พบว่า มีความเป็นไปได้ ” นางสาวศยามล กล่าว

 

นายสุพจ บรรยายว่า สำหรับ 3 ชายแดนภาคใต้ ตามแผนพัฒนา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่าย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กำหนดให้จังหวัดสงขลาเป็นเมืองหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่วนจังหวัดปัตตานีเป็นเมืองรอง ที่ผ่านมามีความพยายามจะทำนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

 

นายสุพจ กล่าวว่า ล่าสุด ทางบริษัท จีเอฟสตีล ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเหล็กรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น แสดงความจำนงจะมาลงทุนตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำ ที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี สำหรับอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก เป็นอุตสาหกรรมสกปรก ตนเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่ออ่าวปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี ที่สำคัญจากข้อมูลที่มีอยู่พบว่า ทันทีที่โรงเหล็กเกิดขึ้น อาชีพแรกที่จะหายไปคือ ประมงพื้นบ้าน และการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง นับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

 

“เมื่อดูแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งระบบ จะพบว่าทั้ง 2 ชายฝั่งทะเล เต็มไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมหนัก และพื้นที่อุตสาหกรรมหนัก คำถามก็คือว่า นักลงทุนและภาครัฐตัดสินใจให้ภาคใต้เป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมใช่หรือไม่” นายสุพจ กล่าว