อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
เมื่อวันที่ 27–28 สิงหาคม 2554 ที่ห้องกรุงเทพ โรงแรมบีพี แกรนด์ทาวเวอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ (สจรส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดประชุมปฐมนิเทศและแลกเปลี่ยนผู้รับทุนโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นน่าอยู่ภาคใต้
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวต่อที่ประชุมว่า จากสถิติล่าสุด ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 5 อันดับประเทศที่มีแม่วัยรุ่นมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นปัญหาที่คุกคามสังคมไทย และทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข โดยชุมชนต้องสร้างกลไกแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเอง สำหรับทิศทางการสนับสนุนของกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ จะมุ่งเน้นการสร้างบุคคลากรให้พร้อมที่จะขับเคลื่อนก่อน เพราะนวัตกรรมต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้หากบุคคลากรพร้อม
ผศ.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ กล่าวปฐมนิเทศว่า แนวคิดที่จะปฏิรูปประเทศไทย เพื่อลดความเลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ต้องสร้างให้พื้นที่สามารถจัดการตัวเองได้ แต่ต้องพร้อมทั้งผู้นำ ชุมชน และความรู้ สำหรับชุมชนที่จะก้าวถึงขั้นที่สามารถจัดการตนเองได้ ต้องเริ่มจากการจัดการข้อมูล จัดการแผน และการบริหารโครงการ ซึ่งทางสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มีหลักสูตรพิเศษให้ชุมชนเข้ามาเรียนรู้ระบบ นำไปพัฒนาการจัดการชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.ภก.พงค์เทพ ยกตัวอย่างโครงการการแยกขยะ ถ้าผ่านการจัดการและความร่วมมือจากหลายส่วนในพื้นที่ นอกจากจะสามารถแก้ปัญหาขยะได้แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ และเกิดผลผลิตใช้ร่วมกันอย่างก๊าซชีวภาพ ซึ่งต้องอาศัยสามปัจจัยที่หนุนเสริมกันคือมีผู้นำพร้อม ชุมชนพร้อม ความรู้พร้อม
ผศ.ดร.พงค์เทพ กล่าวต่อที่ประชุม มิติของคำว่า สุขภาพเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ซึ่งจะหมายรวมถึงกาย ใจ ปัญญา และสิ่งแวดล้อม สาเหตุการเจ็บป่วยของคนในประเทศ จึงไม่ได้หมายถึงความเจ็บป่วยทางกายอย่างเดียว การคิดระบบเพื่อวางแผนจัดการเรื่องสุขภาพ ที่ทางสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ผลักดัน จะต้องคิดให้กว้างกว่ารูปแบบเดิม จึงจะแก้ปัญหาชุมชนได้ และนำสู่ความสันติสุขในชีวิตอย่างสมบูรณ์ ที่เรียกว่าชุมชนน่าอยู่
“ประชาชนอยู่กับปัญหาเหล่านี้มานาน ต้องแก้ไขโดยลดอำนาจรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพประชาชน เพื่อความเป็นธรรม สร้างพื้นที่จัดการตัวเอง เป็นแนวทางที่จะสามารถแก้ปัญหาที่ประชาชนเจอเรื้อรังอย่างแท้จริง” ผศ.ดร.พงค์เทพ กล่าว
นางภูษณิศา แก้วเนิน ตัวแทนจากบ้านหัวลำภู หมู่ 4 ตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่อที่ประชุมถึงสาเหตุที่ชุมชนบ้านหัวลำภูทำโครงการคลินิกชุมชน คนรักสุขภาพว่า เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนเป็นมะเร็งกันมาก จึงศึกษาหาทางออกจากปัญหา ด้วยการจัดการวิถีชีวิตและสร้างค่านิยมบริโภคอาหารปลอดสารเคมี ปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนแนวคิดก็คือ ชาวบ้านยังมองว่าผู้บริหารโครงการหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง จึงต้องอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นของชุมชน ทำเพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชน
สำหรับปี 2543 ใน 14 จังหวัดภาคใต้ มีโครงการผ่านการพิจารณา 42 โครงการ จากร้อยกว่าโครงการที่เสนอไปยังสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ส่วนโครงการที่ผ่านการคัดเลือกและดำเนินโครงการไปแล้วหนึ่งปี มีโครงการในจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา เป็นโครงการดาวเด่น