มลพิษ – โรงไฟฟ้าถ่านหินที่คลุ้งไปควันพิษ นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเกือบทุกที่ออกมาต่อต้าน
ในรอบหลายปีมานี้ ปฏิบัติการไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินมีมาตลอด ไล่มาตั้งแต่โครงการเหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ที่คนในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย ต่อต้านมานานนับสิบปี และยังต่อต้านอยู่จนถึงวันนี้
ตามมาด้วยการออกโรงต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของชาวอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ตามมาด้วยการเดินหน้าคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของชาวอำเภอละแม จังหวัดชุมพร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากโครงการสร้างโรงไฟฟ้าข้างต้นแล้ว บัดนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ขยายวงเดินหน้าผลักดันสร้าง 2 โรงไฟฟ้าถ่านหิน ในอำเภอท่าศาลา และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช หระทั่ง กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนของภาคใต้ไปแล้ว
ด้วยเพราะคนภาคใต้เชื่อว่า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พยายามผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าในหลายจังหวัด เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมผลิตพลังงานไว้รองรับอุตสาหกรรมขนาดมหึมาที่จะกระจายอยู่ทั่วภาคใต้ ภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้โดยรวม
กิจกรรม “รวมพลคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ระหว่างวันที่ 22–24 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของประชาชนเรือนหมื่นจากทุกภาคส่วน ด้วยการออกมาชุมนุมกันที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อยืนยันว่า “คนท่าศาลาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน”
กลุ่มคนที่เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากคนในพื้นที่แล้ว ยังมีมาสมทบจากทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้
ทว่า กลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่ เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจากอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายม.วลัยลักษณ์เพื่อปวงชน จากการรวมตัวกันของคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ที่ออกมาแถลงการณ์ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มกรีนพีซ ที่แสดงจุดยืนให้รัฐพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อความยั่งยืน และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นต้น
“กิจกรรมรวมพลคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากคนใต้ในหลายจังหวัด เพราะความเดือดร้อนไม่ได้เกิดเฉพาะจุด แต่จะกระทบกับทุกคน ถ้าหากปล่อยให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นได้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่จังหวัดนครศรีธรรมราชก็จะตามมา เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ที่จะขยับขยายออกจากภาคตะวันออก ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พยายามอ้างความต้องการใช้ไฟฟ้าด้วยตัวเลขเกินจริง”
เป็นคำอธิบายภาพรวมของ “นายทรงวุฒิ พัฒน์แก้ว” แกนนำเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา
การผลักดันสร้าง 2 โรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นเสี้ยวหนึ่งของแผนพัฒนาภาคใต้ ถ้าโรงไฟฟ้าเกิดได้ ก็จะมีชุดโครงการอื่นๆ ตามมาอย่างรวดเร็ว
ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนกั้นน้ำที่กระจายตัวทั่วภาคใต้ เพื่อป้อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่อีกในหลายๆ จังหวัด ก็จะถูกชุดโครงการพัฒนาในลักษณะเดียวกันรุกราน ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นิคมอุตสาหกรรมในลักษณาการต่างๆ คลังน้ำมัน รวมถึงท่าเรือน้ำลึก
ถึงแม้เสียงของประชาชนภาคใต้ดังกึกก้องเพียงใด แต่จากบทเรียนที่ผ่านมากระบวนการทำลายความเข้มแข็งของประชาชน ถูกแทรกซึมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะรูปแบบของการใช้สิ่งของล่อใจ การให้เงินสนับสนุนโครงการต่างๆ ในชุมชน หรือลงลึกไปถึงการซื้อตัวผู้นำ หรือนักการเมืองท้องถิ่น
ดังนั้น ในเวทีรวมพลคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงมีการร่วมลงนามสัญญาประชาชนระหว่างผู้นำท้องถิ่น ทั้งในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันว่าจะฟังเสียงและยืนข้างประชาชน
ถ้าหากย้อนรอยถอยกลับไปยังอดีต ไม่เฉพาะคนท่าศาลาที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ทว่า คนทั้งภาคใต้ล้วนแล้วแต่ปฏิเสธโรงไฟฟ้าถ่านหินนานนับสิบปีมาแล้ว