ยารีนา กาสอ, จริงใจ จริงจิตร,ฮัสซัน โต๊ะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
ประกาศปฏิญญา – ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคนชุมชนคนใต้ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of Voiceless: from the Southernmost People in Thailand) xitdv[fh;pประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล คนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายชุมชนในพื้นที่ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักพัฒนาเอกชน (NGOs) นิสิตนักศึกษา ร่วมประกาศปฏิญญาสงขลา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอีก 12 องค์กร ร่วมกันจัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคนชุมชนคนใต้ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of Voiceless: from the Southernmost People in Thailand) เป็นวันที่ 2 มีประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล คนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายชุมชนในพื้นที่ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักพัฒนาเอกชน (NGOs) นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณ และสื่อมวลชน ร่วมงานประมาณ 500 คน
หลังจากเวทีเสวนา “นโยบายองค์กรภาคีเพื่อร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เข้าร่วมทั้งหมดได้ขึ้นเวทีเพื่อร่วมประกาศปฏิญญาสงขลาเพื่อการพัฒนาภาคใต้ยั่งยืน ชื่อว่า ปฏิญญาสงขลา สังคม-ชุมชนใหม่ที่เป็นไปได้ โดยมีแนวทางสู่การปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวทางสังคม 5 แนวทาง คือ การใช้หลักศาสนานำการพัฒนา สิทธิกลุ่มทางวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องได้รับการคุ้มครอง เปิดพื้นที่เหมาะสมสำหรับหญิง-ชายในงานพัฒนา เด็กและเยาวชน จะต้องมีหลักประกันในความเท่าเทียม ยุติและทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งระบบ และปฏิเสธการจัดการศึกษาแบบดิ่งเดียวหรือรูปแบบเดียว
สำหรับการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยสมัชชาประชาชน”ว่าด้วยเสียงผู้ไร้สิทธิ” มี 3 ประเด็น คือ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ การเมืองภาคพลเมืองภาคใต้ และปัญหาภาคใต้
นายแวรอมลี แวบูละ ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนศรัทธา กล่าวในกลุ่มการพัฒนาและการปรับตัวของชุมชนชายแดนใต้ ในประเด็นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ถึงการเกิดขึ้นของชุมชนศรัทธาว่า การพัฒนาต้องเดินไปพร้อมกับความสามัคคีและการปรับตัวให้เข้ากับสังคม จึงเกิดแนวคิดในการแก้ไขปัญหาด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่ร่วมกันเป็นเครือข่ายในการสร้างความยุติธรรมและเยียวยาผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายแวรอมลี กล่าวว่า กระบวนการจัดการในหมู่บ้าน ผู้นำหรือชุมชนต้องมีความเข้าใจปัญหา โดยอยู่ในกรอบของศาสนา จึงเกิดแนวปฏิบัติที่เป็นนวัตกรรมใหม่และกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ถือเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ เช่น กิจกรรมการสอนอ่านคำภีร์อัลกุรอ่านแบบกีรออาตีในเครือข่ายชุมชนศรัทธาที่อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา กำลังขยายตัวเพิ่มเป็น 3 พื้นที่ มีคนเข้าร่วมกว่า 700 คน ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพทางด้านศาสนาของเด็กได้ดีขึ้นมากกว่าเดิม จากงบประมาณเพียง 100,000 บาท จึงอยากให้รัฐบาลส่งเสริมในเรื่องนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม
“กว่า 3,000 หมู่บ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา หากมีการขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนศรัทธาหรือชุมชน“ตักวา” จะทำให้สามารถพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการนำหลักการทางศาสนามาเป็นตัวนำในการพัฒนา” นายแวรอมลี กล่าว
นายแวรอมลี กล่าวอีกว่า นโยบายของรัฐบาลหลายอย่างดีแล้ว แต่การปฏิบัติการล้มเหลว โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาหลักในจังหวัดชายแดนใต้ ขณะเดียวกันก็ยังขาดการพัฒนา จึงต้องการให้รัฐบาลเหลียวแลประชาชนให้มากขึ้น เช่น การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของ คน ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ อาชีพ ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยที่ การมีส่วนรวมของชุมชน เป็นต้น
นางพาฮีสะ ท้วมงาน อาสาสมัครชุมชนศรัทธา กล่าวในประเด็นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในกลุ่มนโยบายการพัฒนาของภาครัฐกับผลกระทบชุมชนชายแดนใต้ ที่ห้อง 15202 อาคารเรียนรวม 15 มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลาว่า พื้นที่หมู่ที่ 4 ชุมชนวังกระ ตำบลตาเซะ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ เนื่องจากหลังจากมีการสร้างเขื่อนปัตตานีขึ้น ทำให้พื้นที่ชุมชนวังกระเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนปัตตานี
“ผลของการสร้างกำแพงกั้นน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนวังกระถึงปีละ 2 ครั้ง ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำนาได้ จนกลายเป็นนาร้างอยู่หลายปี แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านพยายามฟื้นฟูนาร้างขึ้นมา แต่สามารถทำนาได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น” นางพาฮีสะกล่าว
นาง
นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวในกลุ่มแผนพัฒนาภาคใต้และการจัดการทรัพยากรที่ดินชายฝั่ง ประเด็นปัญหาภาคใต้ว่า แผนพัฒนาภาคใต้ เป็นคำที่คนเข้าใจผิดว่าเป็นแผนที่ทำให้ภาคใต้เจริญ แต่อีกนัยยะหนึ่ง คือ แผนที่จะผลักดันให้โครงการขนาดใหญ่ลงมามากกว่า จึงถูกเรียกว่า “แผนพัฒนาภาคใต้” เช่น โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น
นายสมบูรณ์ กล่าวอีก เหตุที่ทำให้ต้องมีการขยายอุตสาหกรรมมายังภาคใต้เพิ่มขึ้น เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองไม่สามารถขยายตัวได้อีกแล้ว เพราะผลกระทบจากมลภาวะต่างๆ ภาครัฐจึงต้องเล็งหาพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ซึ่งภาคใต้มีความเหมาะสมทั้งสภาพภูมิภาคและทำเลที่ตั้ง แต่รัฐบาลจะไม่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กระจุกตัวอยู่แห่งหนึ่งแห่งใด จะใช้วิธีกระจายให้ทั่วชายฝั่งทะเลแทน
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคใต้ให้เร็วขึ้น เพื่อให้ทันกับการเปิดเสรีอาเซียน โดยคาดหวังว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการขนส่งระดับอาเซียน ถ้าภาคใต้จะถูกพัฒนาไปในทิศทางนั้น ถามว่า รัฐบาลได้ถามประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นแล้วหรือยังว่า พวกเขาต้องการโครงการนั้นหรือไม่ ทำไมภาครัฐไม่ชี้แจงให้ประชาชนในพื้นที่ทราบว่า จะสร้างอะไร แต่ละโครงการมีผลกระทบอะไรบ้าง
.............
ปฏิญญาสงขลา
สังคม-ชุมชนใหม่ที่เป็นไปได้
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมจากการเข้าสู่สังคมโลกาภิวัตน์ การเติบโตของระบบการค้า นโยบายการพัฒนา การผันแปรทางการเมือง ภัยคุกคามและความไม่มั่นคงในภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบอย่างขนานใหญ่ต่อพวกเราในฐานะประชาชน คนธรรมดาสามัญ ที่ถูกกำหนดชะตาชีวิตให้เดินในเส้นทางที่ไม่ได้กำหนด ทำให้เผชิญกับความเจ็บปวด ทรมาณอย่างแสนสาหัส
และบัดนี้เราได้ประจักษ์ชัดถึงความจำเป็นในเส้นทางที่เป็นไปได้ สำหรับการสร้างสรรค์สังคมใหม่ ที่ทำให้ประชาชน ธรรมดา สามัญ สามารถกำหนดนิยามสังคม-ชุมชนใหม่ ที่เราต้องการ ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ต่อเนื่องและโยงใย เพื่อปฏิบัติการปกป้อง คุ้มครอง และร่วมกันสร้างสังคมใหม่-ชุมชนใหม่อย่างมุ่งมั่นและจริงจัง
ในฐานะประชาชน ธรรมดาสามัญ เราทั้งหลาย ณ ที่นี่ จึงร่วมกันประกาศปฏิญญา “สังคม-ชุมชนใหม่” ดังต่อไปนี้
- เราจะกระทำทุกวิถีทางที่ชอบธรรมในการส่งเสริม สนับสนุนความเข้มแข็ง ภาคประชาชนในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การสร้างสังคม ชุมชนใหม่ ที่เราสามารถกำหนดด้วยตัวเองอย่างมีเกียรติ์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งในฐานะที่เป็นศูนย์กลางและเป้าหมายของการพัฒนา
- เราจักต่อสู้ ยืนหยัดอย่างต่อเนื่องและกล้าหาญในการปกป้อง ผืนแผ่นดิน มาตุภูมิของเรา, การรุกราน ยัดเยียด การกระทำใดที่ปราศจากความชอบธรรม จะได้รับการตอบโต้ และต่อต้าน ในฐานะประชาชน สิทธิชุมชน ความเป็นพลเมือง ในทุกการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่ได้เดือนร้อน เจ็บปวดเช่นที่ผ่านมา
- เราขอยืนยันว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม เราทุกคนไม่ว่าจะเป็น ผู้หญิง เด็ก เยาวชน เกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ปลอดพ้นจากเลือกปฏิบัติขุมขู่ คุกคาม ทุกรูปแบบ อันรวมถึงการเลือกปฏิบัติใดๆอันเนื่องมาจากความแตกต่าง
- เราได้ใคร่ครวญอย่างถ้วนถี่จากเส้นทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน จึงขอประกาศว่านับจากนี้พลังชีวิตทั้งมวลของพวกเราจะถูกปลดปล่อยออกมาอย่างสร้างสรรค์และมีสามัญสำนึก สำหรับการสร้างสรรค์สังคม-ชุมชนใหม่ ที่เท่าเทียมและกำหนดโดยตัวเรา
- เราทั้งหลายจะนำปฏิญญาสงขลา สังคม-ชุมชนใหม่ที่เป็นได้ ออกสู่การปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้ได้ซึ่งสิ่งปรารถนา ในทุกระดับ ดังนี้
5.1 การใช้หลักศาสนานำการพัฒนา ตามแนวทางเครือข่ายชุมชนศรัทธาหรือกัมปง ตักวา ด้วยรูปแบบการพัฒนา “สี่เสาหลัก” โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนด้วยการสร้างพื้นที่สังคม การปฏิบัติการ และการสนับสนุนที่เหมาะสมจากภายนอก เพื่อให้สามารถสร้างความมั่นคงของชุมชนตามแนวทางศรัทธา
5.2 สิทธิกลุ่มทางวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องได้รับการคุ้มครองทั้งในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม ความเป็นมนุษย์ มีศักดิ์ศรี อิสระ ความเท่าเทียม กับกลุ่มอื่นๆในสังคม ปลอดพ้นจากการอคติ การรังเกียจ เบียดขับทางชาติพันธุ์ และการถูกกีดกันจากระบบทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม
5.3 เปิดพื้นที่เหมาะสมสำหรับหญิง-ชาย ในงานพัฒนา มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าร่วมอย่างแข็งขันในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการดำเนินการ การกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ การใช้ความรุนแรงจะได้รับปกป้อง คุ้มครองในทุกรูปแบบ
5.3 เด็กและเยาวชน จะต้องมีหลักประกันในความเท่าเทียม ปราศจากการแบ่งแยก กีดกันใดๆ อันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ภาษา การเมือง ศาสนาและวัฒนธรรม และการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้แสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคม ชุมชนท้องถิ่น
5.4 ยุติและทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งระบบ การดำเนินการใดๆที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วม และปราศจาการยินยอมจากชุมชนท้องถิ่นจะได้รับการคัดค้าน ต่อต้านในระดับที่ทันกันอย่างที่สุด
5.5 ปฏิเสธการจัดการศึกษาแบบดิ่งเดียวหรือรูปแบบเดียว ทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาอย่างเหมาะสม อาทิ การจัดการศึกษาภายใต้แนวคิดและรูปแบบโรงเรียนตักวาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ณ มหาวิทยาลัยทักษิณแห่งนี้ เราขอยืนยันและแสดงเจตนารมณ์อย่างแจ้งชัดและแน่วแน่ ว่าเราจักมุ่งมั่นในวิถีและเส้นทางใหม่ที่เลือกแล้ว
เสมอมั่นในแนวทาง
มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
13 กันยายน 2554