Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

หนุน

เครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน–โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หนุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน เชียร์สุดตัวให้พัฒนาพลังงานหมุนเวียน  ประกาศชัดไม่เอาพลังงานถ่านหิน–นิวเคลียร์

หนุน – ชาวนครศรีธรรมราชร่วมเวทีวิกฤติพลังงานฯ เชียร์ให้พัฒนาพลังงานหมุนเวียน ประกาศไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์–โรงไฟฟ้าถ่านหิน

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช สำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช กระทรวงพลังงาน จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องวิกฤติพลังงานชาตินครศรีธรรมราชจะเอาอย่างไร มีส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้นำท้องถิ่น นักวิชาการ เครือข่ายท่าศาลารักษ์บ้านเกิด และเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงฟ้านิวเคลียร์ ฯลฯ เข้าร่วมประมาณ 500 คน

นายสุทธิพงศ์ เทิดรัตนพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า ปัจจุบันวิกฤติพลังงานได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับประเทศ และขยายตัวอย่างรวดเร็วสู่ระดับโลก ปัญหานี้มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ควรรับมือด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างประหยัด และวางแผนการใช้อย่างเป็นระบบ

“จังหวัดนครศรีธรรมราชกำหนดแผนพัฒนาจังหวัด ปี 2553–2556 บรรจุประเด็นพลังงานเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดที่สำคัญคือ การบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน จะเน้นการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน และพลังงานรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสม ผ่านกระบวนการการมีส่วนจากทุกภาคส่วน” นายสุทธิพงศ์ กล่าว

นายเมตตา บันเทิงสุข รองปลัดกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษว่า ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการผลิตและการบริโภคของภาคเอกชนและประชาชน ต้องพึ่งพาพลังงานในรูปแบบต่างๆ จากต่างประเทศ ปีละไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จึงจำเป็นต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้าน และต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากพลังงานภายในประเทศ รวมทั้งพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนในธุรกิจพลังงาน

นายเมตตา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาคคมนาคม และภาคอุตสาหกรรม การผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศ ยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ปัจจุบันการผลิตกระแสไฟฟ้าต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 72 ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของพลังงานในประเทศ

“กระทรวงพลังงาน มอบหมายภารกิจในการบริหารจัดการพลังงานในระดับพื้นที่ ให้สำนักงานพลังงานจังหวัดรับไปดำเนินการ นำนโยบายและยุทธศาตร์ของกระทรวงพลังงาน ลงสู่การปฏิบัติให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ โกดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น โครงการจัดทำแผนพลังงานชุมชน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และการประหยัดพลังงานตามแผนพัฒนาจังหวัด เป็นต้น” นายเมตตา กล่าว

นายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานเปิดสัมมนาว่า จากการคาดการณ์ของกระทรวงพลังงาน น้ำมันยังคงมีสัดส่วนการใช้เป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคือก๊าซธรรมชาติ รองลงมาคือถ่านหิน คาดว่าประมาณปี 2563 จะมีสัดส่วนการใช้น้ำมันร้อยละ 37 ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 27 ถ่านหินร้อยละ 25 พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 8

“จะเห็นได้ว่า สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดนั้น กระทรวงพลังงานได้มุ่งเน้นให้การสนับสนุนให้มีสัดส่วนมากขึ้น และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในการผลิตและเป็นเจ้าของ” นายอุทัย กล่าว

เวลาประมาณ 09.30 น. วันเดียวกัน มีการเสวนาเรื่องวิกฤติพลังงานชาตินครศรีธรรมราชจะเอาอย่างไร” ประกอบด้วย นายประยงค์ รณรงค์ ผู้นำชุมชน เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักประสานการมีส่วนร่วมภาคประชาชนกระทรวงพลังงาน ผศ.พยอม รัตนมณี อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มีนายประพันธ์ สุวรรณ ดำเนินการเสวนา

นายศราวุธ กล่าวบนเวทีเสวนาว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตพลังงาน ต้องนำเข้าน้ำมัน 85% ส่วนพลังงานไฟฟ้ากว่า 70% ผลิตจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและสหภาพพม่า  เชื้อเพลิงในการผลิตมีสำรองไม่มาก และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

“ทำเห็นได้ว่า ในอนาคตควรพัฒนาพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นการพลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ เนื่องจากราคาไม่แพง ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนยอมรับ เพราะบริบทของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ภาครัฐจะมีอำนาจสั่งอนุมัติแล้วทำได้ทั้งหมด” นายศราวุธ กล่าว

ผศ.พยอม กล่าวต่อที่เสวนาว่า จากการศึกษาแหล่งน้ำในจังหวัดนครศรีธรรมราชพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะนำพลังน้ำมาผลิตไฟฟ้าป้อนชุมชน เนื่องจากมีเขาหลวงเป็นแหล่งน้ำสำคัญ มีน้ำตกกว่า 80  แห่ง ที่สามารถนำผลิตกระแสไฟฟ้าได้ สามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนได้ถึง 215 แห่ง ซึ่งทุกจังหวัดในภาคใต้ล้วนมีน้ำตกกระจัดกระจาย มีถนนเดินทางเข้าถึงได้ สำหรับไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนมีจุดเด่นคือ เป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด ต้นทุนต่อหน่วย 0.87 สตางค์ มีผลกระทบน้อยแต่มีความยั่งยืนตราบเท่าที่ป่ายังอยู่

นายประยงค์ กล่าวต่อที่เสวนาว่า การใช้พลังงานน้ำจะส่งผลดีให้ประชาชนหวนไปรักษาป่ามากขึ้น แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องหันไปใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ ควบคู่กันด้วย เช่น พลังไฟฟ้าชีวมวล จากเศษของเหลือใช้กลายเป็นขยะ เพื่อให้ทุกคนพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เชื่อว่าหากมีการเริ่มต้น จะมีคนนำไปขยายผลดำเนินการในที่ต่างๆ ต่อไป

ระหว่างการเสวนา มีชาวบ้านจากเครือข่ายต้านโรงฟ้าถ่านหินและโรงฟ้านิวเคลียร์กว่า 200 คน พยายามนำเสนอต่อวงเสวนาว่า ไม่เห็นด้วยการกับสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่อำเภอหัวไทรและอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

เวลาประมาณ 11.25 น. ที่ประชุมได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็น โดยผู้แสดงความคิดเห็นต่างสนับสนุนให้พัฒนาพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำชุมชน โรงไฟฟ้าพลังงานลม ก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมกับแสดงท่าทีต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างชัดเจน