Skip to main content

นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

28 องค์กรชายแดนใต้ จับมือภาคประชาชน 40 จังหวัดทั่วประเทศ ผลักดันกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยันถึงเวลาจังหวัดต้องจัดการตนเอง เตรียมล่าหนึ่งหมื่นรายชื่อ เสนอ “พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร” เข้าสภาปีหน้า รอฤกษ์เสนอพร้อมเชียงใหม่มหานคร

 

 

มันโซร์ สาและ

 

            เมื่อเวลา 10.00 น.–15.30 น. วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 ที่ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายประชาสังคม 23 องค์กร ร่วมกับเครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง และสภาประชาสังคมชายแดนใต้ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการ (Academic Core Group) และการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น มีสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมสนับสนุนด้านวิชาการ

นายมันโซร์ สาและ รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้การผลักดันการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษปัตตานีมหานคร ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งครอบคลุม  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ยังอยู่ในระหว่างการร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนกันยายน 2554 จากนั้นจะมีการลงลายมือชื่อยื่นต่อรัฐสภา พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร ภายในปี 2555 เนื่องจากเกรงว่าถ้าเสนอเฉพาะร่างฯ ปัตตานีมหานครฉบับเดียว อาจจะมีการเข้าใจผิดว่า เป็นเขตปกครองตนเอง

นายมันโซร์ ชี้แจงต่อไปว่า การเคลื่อนไหวเรื่องปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษปัตตานีมหานคร เป็นการเคลื่อนไหวภายใต้แนวคิดท้องถิ่นจัดการตนเองร่วมกับพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ 40 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 10 จังหวัด มีจังหวัดเชียงใหม่รวมอยู่ด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด และภาคใต้อีก 6 จังหวัด มีจังหวัดปัตตานี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น

นายมันโซร์ ชี้แจงอีกว่า สำหรับรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี จัดโครงสร้างการบริหารออกเป็น 2 ส่วนคือ ฝ่ายบริหารและสภานิติบัญญัติ มีผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีอำนาจหน้าที่ในการบริหาร กำหนดนโยบาย คือ เขตพื้นที่การปกครอง ปัตตานีมหานคร หมายถึง พื้นที่ครอบคลุมจังหวัดปัตตานี มีรองผู้ว่าราชการฯ เป็นชาวไทยพุทธ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3

“ในฝ่ายบริหารจะมีข้าราชการท้องถิ่น ที่มาจาการการแต่งตั้งของผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร ประกอบด้วย ปลัดปัตตานีมหานคร ทำหน้าที่บริหารราชการประจำ ผู้อำนวยการเขต ทำหน้าที่ประสานงานกับสภาเขต มีจำนวน 37 คน มาจากการแต่งตั้งของผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร หัวหน้าแขวง ทำหน้าที่ประสานงานกับสภาเขต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีจำนวน 290 คน” นายมันโซร์ กล่าว

นายมันโซร์ ชี้แจงรายละเอียดฝ่ายนิติบัญญัติว่า จะประกอบด้วย สมาชิกสภาปัตตานีมหานคร วาระการดำรงตำแหย่ง 4 ปี ทำหน้าที่เสนอและพิจารณาข้อบัญญัติท้องถิ่น ตั้งกระทู้ถาม ตั้งคณะกรรมการท้องถิ่นด้านต่างๆ มีจำนวน 31 คน มาจากการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ 25 เขต และกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธ 3 คน ศาสนาอื่น 1 คน สตรี 1 คน และผู้พิการ 1 คน นอกจากนี้ยังมีสมาชิกสภาเขต มีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาเขตพื้นที่ จัดสรรงบประมาณพัฒนาเขต มีจำนวนอย่างน้อยเขตละ 7 คน มาจากการเลือกตั้งจากเขตพื้นที่

นายมันโซร์ ชี้แจงด้วยว่า กลไกที่แตกต่างไปจากการปกครองท้องถิ่นอื่นๆ คือ สมาชิกสภาประชาชน ทำหน้าที่เสนอแนะ ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานของผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร และสภาปัตตานีมหานคร พร้อมจัดทำรายงานประจำปี เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิต่อสภาปัตตานีมหานคร เพื่อเป็นกรรมาธิการด้านต่างๆ แนะนำรายชื่อผู้ที่สภาปัตตานีมหานครเห็นว่า มีความเหมาะสมจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร ด้วยกระบวนการปรึกษาหารือ มีสมาชิกจำนวน 51 คน มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มอาชีพ กลุ่มวัฒนธรรม องค์กรประชาสังคมที่จดแจ้งกับปลัดปัตตานีมหานคร

           “ภายใต้โครงสร้างนี้ ข้าราชการส่วนภูมิภาคจะยังคงอยู่ แต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตามความเหมาะสม บทบาทของกองทัพ การคลัง และการต่างประเทศ ยังคงเหมือนเดิม ปัตตานีมหานครยังคงขึ้นกับรัฐไทย ซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้เหมือนเดิม” นายมันโซร์ กล่าว