ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
ส.ว.–อดีตผู้ว่าฯ หนุนสร้าง “อุโมงค์สตูล–เปอร์ลิศ” อ้าง “มหาเธร์” แนะดึงจีนเข้าร่วม คุย “สุลต่านเปอร์ลิศ” สนใจโครงการ ชาวบ้านหวั่นละลายงบ ผู้นำศาสนากลัววิถีอิสลามเพี้ยน แนะศึกษาร่วมมาเลย์
อุโมงค์ – กรมทางหลวงกับบริษัทที่ปรึกษา จัดประชุมให้ข้อมูลโครงการขุดอุโมงค์เชื่อมสตูล–เปอร์ลิศ ขณะที่ชาวบ้านหวั่นเป็นโครงการละลายงบประมาณ
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมตะรุเตา โรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล กรมทางหลวง ร่วมกับบริษัท เอ็มเอเอ คอนซัลแคนท์ จำกัด บริษัท ไทย เอ็มเอ็ม จำกัด บริษัท พรีดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแคนท์ จำกัด และจังหวัดสตูล จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างอุโมงเชื่อมทางหลวง ระหว่างจังหวัดสตูล–รัฐเปอร์ลิศ ประเทศมาเลเซีย มีส่วนราชการ ผู้นำส่วนท้องถิ่น นักธุรกิจภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน
นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวเปิดการประชุมว่า หลังจากตนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เมื่อปี 2553 ก็ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อย้ำถึงความสำคัญของโครงการอุโมงค์สตูล–เปอร์ลิศ
นายสุเมธ กล่าวต่อไปว่า สมัยตนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลได้ไปคุยกับสุลต่านรัฐเปอร์ลิศ และนายมหาเธร์ มูฮำหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ทั้งสองให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง นายมหาเธร์แนะนำให้ไปคุยกับประเทศจีนเข้ามาลงทุน เนื่องจากจีนมีความสนใจและเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเจาะอุโมงค์ และให้รัฐบาลไทยและมาเลเซียออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง แล้วให้จีนรับสัมปทานโครงการ 30 ปี
“นายสมเกียรติ เลียงประสิทธ์ น้องชายนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ถามผมว่าทำไมถึงสนใจโครงการนี้ ผมแค่ต้องการทำเพื่อจังหวัดสตูล ทำเพื่อแผ่นดิน หากโครงการนี้สำเร็จ ขอให้ขึ้นป้ายว่าผู้ริเริ่มโครงการนี้คือ ผู้ว่าฯ สุเมธ ตอนที่ผมตายด้วย” นายสุเมธ กล่าว
นายประสิทธิ์ เสวนาพฤกษ์ ผู้จัดการโครงการฯ ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมทางหลวงระหว่างจังหวัดสตูล–รัฐเปอร์ลิศ ประเทศมาเลเซีย เป็นโครงการทางหลวงหรือถนนที่ตัดผ่านพื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ และพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A ตามมติคณะรัฐมนตรีจึงต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายประสิทธิ์ ชี้แจงอีกว่า กรมทางหลวงจึงว่าจ้างบริษัท เอ็มเอเอ คอนซัลแคนท์ จำกัด บริษัท ไทย เอ็มเอ็ม จำกัด และบริษัท พรีดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแคนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ และตำแหน่งที่เหมาะสมในการก่อสร้าง
นายนิรัตน์ ตันสวัสดิ์ วิศวกรโครงสร้าง ชี้แจงว่า ใช้ระยะเวลาดำเนินการศึกษาโครงการ 12 เดือน เริ่มจากวันที่ 28 เมษายน 2554 ถึงเมษายน 2555 จะมีการจัดสัมมนา 3 ครั้งคือ ในวันที่ 22 กันยายน 2554 ครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 และมีการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการในช่วงเดือนเมษายน 2555 มีการประชุมกลุ่มย่อย 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมิถุนายน 2554 และเดือนมกราคม 2555 มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนตลอดระยะเวลาในการศึกษาผ่านโฆษณาในหนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ www.satun–perlisfunnul.com ด้วย
นายมนูญ แสงเพลิง ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมทางหลวงระหว่างจังหวัดสตูล–รัฐเปอร์ลิศ ประเทศมาเลเซีย มีแนวศึกษา 3 เส้นทางคือ 1.ถนนวังประจัน–วังเกลียน ประเทศมาเลเซีย 2.ถนนเชื่อทางหลวงอุโมงค์สตูล–เปอร์ลิศ บริเวณบ้านนาแค ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล 3.ถนนสะพานเชื่อมทางหลวงตำมะลัง–ปูยู–เปอร์ลิศ ทั้ง 3 เส้นทาง ต้องผ่านอุทยานแห่งชาติทะเลบัน หากก่อสร้างโครงการต้องขอเพิกถอนพื้นที่ก่อน
นายสุริยา ปันจอร์ สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสตูล แสดงความเห็นว่า ตนสนับสนุนและเห็นด้วยกับโครงการนี้ การพัฒนาต้องมีผลกระทบแน่ๆ แต่โครงการนี้ต้องเกิดเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดสตูล แต่ของประเทศไทย มีเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภาบอกว่า สตูลสงบ ทั้งที่เป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แต่ตนมองว่าจังหวัดสตูล สงบจนเงียบหายไปเลย ภาครัฐมองเป็นแค่จังหวัดไส้ติ่งไร้ประโยชน์ สตูลเป็นจังหวัดที่อาภัพมากๆ
นายหมาดโหด ละใบแด ตัวแทนชมรมโต๊ะอีหม่ามจังหวัดสตูล แสดงความเห็นว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้นตนกังวลเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคง และสังคมจากการเปิดประตูเมือง ธรรมดาแล้วเมื่อความเจริญหลั่งไหลเข้ามาอบายมุขก็เข้ามาด้วย ตนมองว่าสตูลต้องสงบและสะอาดทั้งสิ่งแวดล้อม คุณธรรมและจริยธรรมของศาสนาอิสลาม
“ผมบังเอิญเดินทางผ่านที่ด่านสะเดา ผมเห็นผู้หญิงตามสถานบันเทิง นักเที่ยวผู้ชายที่เมามาย มีสถานบันเทิง ลามกอนาจาร อบายมุขเต็มไปหมด ผมอายถึงขนาดต้องถอดหมวกกะปิเยาะห์ ทั้งที่ผมแต่งชุดดะวะฮ์ ผมนึกแล้วน้ำตาไหล ผมไม่อยากให้จังหวัดสตูลเป็นแบบนั้น” นายหมาดโหด กล่าว
นายสมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล แสดงความเห็นว่า ตนเห็นด้วย และไม่ปฏิเสธการพัฒนาเส้นทางระหว่างสตูล–เปอร์ลิศ แต่ไม่ควรตั้งธงล่วงหน้าว่าต้องสร้างออกมาในรูปแบบอุโมงค์ ต้องพิจารณาว่าเส้นทางวังประจันสามารถพัฒนาต่อได้หรือไม่ เนื่องจากปัจจจุบันตลาดนัดด่านวังประจันก็มีนักท่องเที่ยวคึกคักอยู่แล้ว ถ้าสร้างด่านใหม่ด่านวังประจันจะซบเซาหรือไม่ ต้องปิดหรือไม่อย่างไร วันนี้ได้นำชาวบ้านที่วังประจันมาร่วมเวทีด้วยหรือเปล่า
“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยตั้งข้อสังเกต ในวันมารับฟังคำชี้แจงว่าเป็นฝ่ายไทยเต้นอยี่ฝ่ายเดียวหรือเปล่า ผมมองว่าควรมีการศึกษาร่วมกันระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียพร้อมกัน ผมกังวลถึงงบประมาณ 35 ล้านบาทที่ใช้ในการศึกษาว่า จะไม่ไปถึงไหนอีก ที่ผ่านมาศึกษามาหลายครั้งแล้ว เปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ” นายสมบูรณ์ กล่าว
นายอะหมาด หลงจิ กำนันตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล แสดงความเห็นว่า 15 ปีที่ผ่านมามีการศึกษาโครงการนี้ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ไม่รู้เสียงบประมาณการศึกษาไปเท่าไหร่แล้ว ทั้งเมื่อปี 2553 ตนได้รับคำสั่งจากนายสุเมธ สมัยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ให้นำกล่องรับบริจาคเงินเจาะอุโมงค์สตูล–เปอร์ลิศ แต่ตนไม่ได้นำกล่องไปรับบริจาค
“การรับบริจาคเคยเป็นข่าวออกทีวี แต่ผมไม่รู้ว่าจำนวนเงินจากกล่องรับบริจาคตรงนั้นไปอยู่ที่ไหน ถ้าหากผมรับไปวางไว้ที่มัสยิดให้ชาวบ้านบริจาค ตอนนี้ผมจะตอบชาวบ้านอย่างไร” นายอะหมาด กล่าว
...............................................................................................................................
ข้อสังเกตจาก‘เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล’
ต้องยอมรับว่าการเดินทางระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย ผ่านเส้นทางชายแดนด่านวังประจัน เป็นความจำเป็นระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ การพัฒนาเส้นทางเพื่อให้มีการสัญจรที่สะดวก และมีระบบการจัดการผ่านแดนที่มีศักยภาพ จึงเป็นสิ่งที่คนสตูลและคนมาเลเซียเรียกร้องตลอดเรื่อยมา ทั้งนี้หากจะมีการสร้างเส้นทางใหม่ หรือจุดผ่านแดนใหม่ หรือจะเพิ่มจุดผ่านแดนอย่างไรก็แล้วแต่ จะต้องมีการศึกษาถึงผลได้ผลเสียในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งจะเป็นการป้องกันความเสียหายที่ไม่อาจเรียกกลับได้ หรือเพื่อมิให้มีการใช้งบประมาณสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น จึงขอเสนอข้อสังเกตที่คนสตูลจะต้องหาคำตอบดังนี้ คือ
1. เส้นทางหลวงที่จะเชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซียเดิม (ด่านวังประจัน) มีปัญหา หรือข้อจัดกัดอย่างไร จึงต้องสร้างเส้นทางใหม่ด้วยว่า
- ด่านวังประจัน เป็นด่านแห่งการค้าของคนสตูลและมาเลเซีย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทุกปีจากทั่วประเทศ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับจังหวัดสตูล จะมีการศึกษาความเสียหายตรงจุดนี้หรือไม่ และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายเหล่านี้พ่อค้า แม่ค้าที่ด่านชายแดนได้มีส่วนรับรู้กับการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่
- ตลอดเส้นทางไปสู่ด่าน (จากสามแยกควนโดน) เป็นย่านชุมชนเกษตร ที่มีการปลูกผลไม้ท้องถิ่นของจังหวัดสตูล ทั้งทุเรียน ลองกอง เงาะ จำปาดา และยังมีแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงระดับประเทศ เมื่อถึงฤดูกาลจะมีการนำผลผลิตทางการเกษตรเหล่านี้มาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวโดยตรงตลอดทาง ซึ่งสร้างความคึกคัก และสร้างเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้จะสูญหายไปหรือไม่ อย่างไร
- เส้นทางเดิม (ด่านวังประจัน) ที่มีอยู่แล้ว หากจะพัฒนาให้มีศํกยภาพมากขึ้น จะประหยัดต้นทุน หรืองบประมาณของทางประเทศมากกว่าหรือไม่ อย่างไร
๒. การสร้างเส้นทางใหม่ หรือการจะพัฒนาเส้นทางให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น ขณะนี้ได้มีการศึกษาเส้นทางเลือกที่เหมาะสมไว้กี่เส้นทาง เพราะมีเส้นทางที่คนสตูลยังถกเถียงกันอย่างไม่ลงตัวอย่างน้อย 3 เส้นทางคือ 1 เส้นเดิม ด่านวังประจัน 2 เส้นเลียบชายฝั่งผ่านตำบลปูยู 3 เส้นที่จะเจาะอุโมงค์ (ซึ่งไม่ชัดว่ามีการเลือกจุดที่จะเจาะไว้แล้วหรือไม่อย่างไร) ด้วยว่า
- รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติงบสำหรับศึกษา ออกแบบ หรือศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้วจำนวน ๓๕ ล้านบาท เสมือนเป็นบทสรุปสุดท้ายแล้วว่าจะต้องต้องเจาะอุโมงค์เท่านั้น หรืออย่างไรแล้วเส้นทางอื่นมีข้อจำกัดอย่างไร
- หากจะเจาะภูเขา ฝั่งประเทศมาเลเซียได้การตอบรับ หรือมีข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็นทางการระหว่างรัฐต่อรัฐแล้วหรือไม่ อย่างไร ตลอดถึงการศึกษาเบื้องต้นของโครงการก็ควรจะเสนอให้มีการทำร่วมกัน เพื่อให้ได้บทสรุปการศึกษาร่วมเพื่อเสนอต่อรัฐบาลทั้งสองฝ่ายให้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปอย่างราบรื่นมากขึ้น ใช่ต่างคนต่างทำ หรือทำเพียงฝ่ายเดียว
การตั้งข้อสังเกตดังกล่าวนี้ ยังมีประเด็นรายละเอียด ซึ่งอาจจะคาดการณ์ได้ในอนาคตอีกหลายประเด็น เช่น
- มีด่านใหม่แแล้วด่านเก่าจะยกเลิกแหรือจะคงไว้หรือไม่อย่างไร
- ความคับคั่งที่เคยมีที่ด่านวังประจันจะต้องลดน้อย และหายไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
- ด่านใหม่หรือเส้นทางอุโมงค์แจะมีการพัฒนาเป็นแหล่งการค้าใหม่หรือไม่ ถ้ามีใครจะได้ประโยชน์ พ่อค้า แม่ค้าที่มีการค้าขายอยู่ที่ด่านเดิมจะได้รับสิทธิ์เหล่านั้นหรือไม่
การตั้งข้อสังเกตเหล่านี้ก็มิได้หมายความว่า จะคัดค้านการพัฒนาเส้นทางระหว่างประเทศไทย–มาเลเซียไม่ หากแต่ต้องการความชัดเจนต่อข้อสงสัยเหล่านี้ และเชื่อว่าหากมีการพิเคราะห์อย่างรอบด้านแล้ว จะทำให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างมีศักยภาพมากที่สุด หรือไม่ก็จะยังผลประโยชน์โดยรวมให้กับคนในจังหวัดสตูลอย่างแท้จริง
จึงขอให้พวกเราชาวสตูลได้ร่วมกันหาคำตอบ และร่วมติดตามสิ่งเหล่านี้อย่างสร้างสรรค์ และคำนึงถึงผลได้ ผลเสีย อย่างมีเหตุผล และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล