Skip to main content

นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ( DSJ)

พิมพ์สิริ

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ

อกนิษฐ์

อกนิษฐ์ หอรัตนคุณ

เมื่อเวลา 13.30 น.–16.00 น. วันที่ 25 กันยายน 2554 ที่ห้องมะเดื่อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

มูลนิธิศักยภาพชุมชน ร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จัด โครงการเสวนาประชาสังคมกับสิทธิมนุษยชน ประเด็นกลไก “ยูพีอาร์” ของสหประชาชาติ และสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการ

Universal Periodic Review และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมแก่ผู้เข้าร่วม

นางสาวพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน

มูลนิธิศักยภาพชุมชน เปิดเผยในวงเสวนาว่า ที่ผ่านมาผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้ามาตรวจการในประเทศไทยต่อรัฐบาล แต่รัฐบาลยังไม่ตอบรับ สำหรับคำขออนุญาตตรวจการมี 5 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนใต้คือ ประกอบด้วย เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งยื่นคำขอเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา, การวิสามัญฆาตกรรม การจับกุม คุมขัง โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้ยื่นคำขอ 3 ครั้ง เมื่อปี 2005 ปี 2008 และปี 2010, การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ ซึ่งได้ยื่นคำขอเมื่อปี 2008, การต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งได้ยื่นคำขอ 2 ครั้ง เมื่อปี 2008 และปี 2010, รัฐบาลยังไม่ตอบรับตามคำขอเข้ามาติดตามการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เมื่อปี 2008 และปี 2010 ทั้งที่นักกระบวนการสิทธิมนุษยชนเคยเข้ามาแล้วเมื่อปี 2004 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลกวาดล้างยาเสพติด

นางสาวพิมพ์สิริ เสนอว่า ประเด็นที่ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ควรทำ เพื่อกดดันให้รัฐบาลรับคำขอจากผู้ตรวจการพิเศษ เพื่อเข้ามาตรวจการในพื้นที่ เช่น การติดตามการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม หรือการวิสามัญฆาตกรรม, การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม, การละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, การละเมิดสิทธิและเสรีภาพเสรีภาพในการแสดงออก, การละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ, ความเป็นอิสระของศาลและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นช่องทางการเข้ามาตรวจการของผู้ตรวจการพิเศษเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ตรวจการพิเศษด้านการซ้อมทรมาน

“ถึงแม้รัฐบาลจะไม่รับคำขออนุญาตจากผู้ตรวจการพิเศษ แต่ผู้ตรวจการพิเศษก็สามารถทำงานตรวจสอบและติดตามประเด็นนั้นๆ จากภายนอกประเทศได้ ส่วนรัฐบาลจะตอบรับคำขอของผู้ตรวจการพิเศาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการรวมกลุ่มและความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม ในการกดดันให้รัฐบาลรับคำขอจากผู้ตรวจการเช่นกัน” นางสาวพิมพ์สิริ กล่าว

นางสาวพิมพ์สิริ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมหรือบุคคลทั่วไป ก็สามารถใช้สถิติหรือหลักฐานที่มีอยู่ ส่งเรื่องร้องเรียนโดยตรงไปยังผู้ตรวจการพิเศษในแต่ละประเด็นได้เลย แต่ต้องกรอกแบบฟอร์มและข้อมูลพื้นฐานของผู้ร้องเรียนก่อน จึงจะสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ที่ [email protected]

นายอกนิษฐ์ หอรัตนคุณ เจ้าหน้าที่โครงการรณรงค์สหประชาชาติ มูลนิธิศักยภาพชุมชน เปิดเผยว่า วันที่ 5 ตุลาคม 2554 เวลา 19.30 – 22.30 น. จะมีการถ่ายทอดสดการประชุมสหประชาชาติ พร้อมกันทั่วโลก สามารถติดตามและดูย้อนหลังได้ที่ http://www.un.org/webcast/unhrc สำหรับการประชุมครั้งนี้มีประเด็นที่ประเทศไทยจะต้องทบทวนการละเมิดสิทธิรวมอยู่ด้วย จากนั้นภายในระยะเวลา 2 เดือน หรือประมาณเดือนมกราคม 2555 ทางสำนักข้าหลวงจะเผยแพร่รายงานที่เจ้าหน้าที่การทูตแต่ละประเทศให้คำแนะนำต่อรัฐบาล และแต่ละรัฐบาลรับข้อเสนออะไรไปดำเนินการบ้าง