Skip to main content

  ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ( DSJ)

 

 

“ชาวเล” หวั่นสิ้นชาติพันธุ์ ถูกทั้งรัฐทั้งนายทุนรุกหนัก วอนรัฐบาลช่วยแก้ปัญหา เขตอนุรักษ์–อุทยานฯ ทับที่อยู่ที่ทำกิน ขอรัฐตั้งคณะกรรมการพิสูจน์เอกสารสิทธิ์ทับที่ดินดั้งเดิม เผยเอกชนปล้นสุสานชาวเล แอบออกโฉนดสร้างอาคารทับหลุมศพบรรพบุรุษ

ชาวเล

ชาวเล

เจตนารมณ์ –  สนิท แซ่ซิ่ว ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล อ่านประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอของชาวเลต่อรัฐบาล                            

 

 

 

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 25554 ที่หาดราไวย์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต คณะทำงานเครือข่ายชุมชนชาวเล     เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน ร่วมกับองค์กรภาคี  จัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 2 ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยมีชาวเลกลุ่มชาวมอแกน มอแกลน และอุรักลาโว้ย จาก 5 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันคือ จังหวัดสตูล จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดภูเก็ต กลุ่มชาวไทยพลัดถิ่น ชาวบ้านจากเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เครือข่ายชุมชนสวนยางด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา  และประชาชนเข้าร่วมงานประมาณ 1,500 คน

โดยเวลา 09.30 น. มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนปัญหาของชุมชนชาวเล 5 จังหวัด 41 ชุมชน 2,758 หลังคาเรือน 17,489 คน ประกอบด้วย ปัญหารัฐประกาศพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ และผู้ประกอบการเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ ทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งสร้างอาคารสถานที่รุกล้ำสุสานถึง 15 แห่ง ส่งผลให้ขณะนี้ชาวเลผู้ถูกดำเนินคดี 663 คน จากนั้น ได้ร่วมกันหารือกำหนดแผนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และเตรียมการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 3 ในปี 2555

ต่อมา เวลา 11.30 น. ประกาศเจตนารมณ์ชาวเล โดยนายสนิท แซ่ซิ่ว ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ได้ขึ้นประกาศเจตนารมณ์ชาวเลว่า ในการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 24–25 กันยายน 2554 ทางกลุ่มชาวเลได้หารือกันถึงสถานการณ์ที่นับวันชาวเล จะยิ่งถูกคุกคามรุนแรงขึ้น เกรงว่าหากผู้เกี่ยวข้องยังไม่ร่วมกันแก้ไข ในอนาคตชาวเลซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมในอันดามัน จะสูญสิ้นเผ่าพันธุ์

นอกจากชาวเลที่มาร่วมงานครั้งนี้แล้ว ยังมีนักวิชาการ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ข้าราชการระดับต่างๆ นักการเมือง นักพัฒนา และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น เพื่อหาทางออกจากปัญหา เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิต และวัฒนธรรมชาวเล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เวลาผ่านไปกว่า 1 ปี กลับไม่มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำให้สถานการณ์การถูกคุกคามด้านต่างๆ ไม่ลดลง ในทางตรงกันข้ามกลับรุนแรงยิ่งขึ้น จึงมีข้อเสนอดังนี้

1.ที่ดินที่หน่วยงานของรัฐประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติทับพื้นที่ ขอให้รัฐทบทวนการประกาศดังกล่าว ให้กันแนวเขตชุมชน และคืนสิทธิในรูปของโฉนดชุมชน

ส่วนที่ดินที่ถูกนายทุน เอกชนบุกรุก ขอให้รัฐสนับสนุนให้มีกระบวนการพิสูจน์การออกเอกสารสิทธิ์โดยตั้งคณะกรรมการกลางที่มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบด้วยการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน หรือขอให้มีการเจรจาอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันระหว่างผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์และชุมชน หากมีการพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบควรคืนสิทธิในที่ดินกับพวกเรา ซึ่งต้องการสร้างเป็นพื้นที่สิทธิร่วมกัน

2. ปัญหานายทุนบุกรุกและแอบอ้างสิทธิ์บนพื้นที่สุสาน และที่ประกอบพิธีกรรม จากการสำรวจพบว่าอย่างน้อยมีสุสาน 15 แห่งที่ถูกยึดครอง รัฐบาลควรเร่งเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ และทำแนวรั้วพร้อมประกาศให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเรา

3.กรณีพื้นที่ทำกินทางทะเลที่ถูกครอบครองและควบคุมจากหน่วยงานของรัฐและภาคธุรกิจการท่องเที่ยว จนทำให้ประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก หลายคนถูกจับกุม ยึดเรือ และอุปกรณ์หากินทางทะเลอย่างไม่เป็นธรรม ควรหาทางออกด้วยการตั้งคณะกรรมการร่วมในแต่ละจังหวัด เพื่อหาแนวทางการทำข้อตกลง ให้พวกเราเข้าไปทำกินตามวิถีชีวิตที่ดำเนินมาช้านาน รวมถึงในระหว่างที่ถูกจับกุม

4.รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวเล โดยเฉพาะการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี

5.มีชาวเลจำนวน 663 คน ที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ดังนั้นกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้มีสิทธิเหมือนคนในสังคมทั่วไป

ในการดำเนินการเพื่อให้ข้อเสนอมีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ขอเสนอแนะให้รัฐบาลจัดทำพื้นที่เป็นต้นแบบสำหรับพื้นที่อื่นๆ คือ ชุมชนหาดราไวย์ เพราะมีองค์ประกอบ ทั้งในด้านความท้าทายในการแก้ไขปัญหา ความพร้อมของภาคส่วนต่างๆ ที่จะร่วมกันแก้ไข

นอกจากนี้เพื่อให้ทุกพื้นที่มีกลไก และผลเป็นรูปธรรมออกมา คณะกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลกลุ่มจังหวัดอันดามัน 5 จังหวัดที่มีชาวเลอาศัยอยู่ จะได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น และหาแนวทางแก้ไขในภาพรวม เพื่อจะได้นำเสนอในระดับนโยบายต่อไป

ต่อมา เวลาประมาณ 12.30 น. กลุ่มชาวเลได้มีการแสดงรองแง็งร่วมกัน จากนั้น ตัวแทนชาวบ้านชาวเลชุมชนราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ได้ส่งมอบธงสัญลักษณ์เจ้าภาพจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ให้กับตัวแทนชาวเลจากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งต่อไป ในปี 2555