Skip to main content

 

นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

ประท้วง 

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณหน้าศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลปัตตานี ใกล้ท่าเทียบเรือปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำปัตตานี มีชาวประมงพื้นบ้านจาก 7 หมู่บ้านในอำเภอเมืองและอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี กว่า 500 คน พร้อมเรือประมงพื้นบ้านประมาณ 20 ลำ จอดขวางลำน้ำ เพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่ตรวจการณ์ประมง ของศูนย์บริหารจัดการประมงปัตตานี จับกุมชาวประมงอวนลาก 2 ราย ที่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง เป็นการประท้วงต่อเนื่องเป็นวันที่สอง

โดยเหตุเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าตรวจการณ์ประมง 6 นาย ตรวจพบเรือประมงพื้นบ้านอวนลาก 2 ลำ พร้อมชาวประมง 3 คน กำลังลากอวน บริเวณชายฝั่งหลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นการใช้อุปกรณ์ประมงผิดกฎหมายในเขต 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้เรือประมง 1 ลำ พร้อมชาวประมง 1 คน โดยระบุว่า ระหว่างถูกจับกุม ถูกเจ้าหน้าที่ตบท้ายทอยและใช้ปืนขู่

ส่วนเรือประมงอีกลำได้หลบหนีไป แต่ถูกเจ้าหน้าที่ขับรกเรือไล่ตามและถูกชนจนเรือล่มประมงพื้นบ้านล่ม ชาวประมงทั้ง 2 คน จึงพยายามว่ายหนี จนมีชาวบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มาช่วยไว้ได้ เหตุเกิดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 กันยายน 2554 จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น วันเดียวกัน ชาวบ้านจึงเริ่มประท้วง เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง

จากนั้นนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้เข้าไปเจรจาพร้อมสอบถามข้อมูลจากทั้งฝ่ายชาวประมงและฝ่ายเจ้าหน้าที่ โดยฝ่ายชาวบ้านนำโดยนายซาการียา อุมา ประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี มีข้อเสนอ 4 ข้อ คือ 1.ให้ย้ายเจ้าหน้าที่ที่จับชาวบ้านโดยมีลักษณะเหมือนการกลั่นแกล้ง จนทำให้เรือล่มและเครื่องมือประมงเสียหาย 2.ขอพื้นที่ทำกินให้เรือประมงพื้นบ้านอวนลาก ตั้งแต่บ้านบางตาวาจนถึงบริเวณปากน้ำอ่าวปัตตานี 3.ขอให้ชดเชยค่าเสียหายเรือและอุปกรณ์ประมง และ 4.หากข้อเสนอของชาวประมงพื้นบ้านไม่บรรลุจะปิดอ่าวต่อไป

วันต่อการเจรจาเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00 น. โดยมีนายนิพนธ์และว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ใช้เวลาจนถึงประมาณ 19.00 น. วันเดียวกัน จึงได้ข้อสรุป โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐรับดำเนินการทันทีกับเจ้าหน้าที่เฉพาะบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงขณะจับกุมชาวประมง 2 – 3 คน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีรับดำเนินการ

ฝ่ายประมงจังหวัดปัตตานี ยอมชดเชยค่าเสียหายจำนวน 75,500 บาท ประกอบด้วยค่าซ่อมเครื่องยนต์เรือ ค่าจัดหาอวน แบตเตอรี่ วิทยุมดดำและน้ำมัน 50 ลิตร

ส่วนข้อเสนอที่ให้แก้ไขกฎหมายห้ามทำประมงในเขต 3 ไมล์ทะเล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีจะนำเสนอศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอต่อรัฐบาลต่อไป ส่วนการผ่อนปรนให้ชาวประมงสามารถทำประมงอวนลากในพื้นที่นั้น จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 1 สัปดาห์

หลังการเจรจาฝ่ายชาวประมงพื้นบ้านยอมสลายการชุมนุมและน้ำเรือประมงออกจากแนวร่องน้ำทั้งหมดในเวลาประมาณ 08.00 ของวัยที่ 30 กันยายน 2554