“ข้าพเจ้านายนิเซ๊ะ นิฮะ ยังมีสติสมัญชญะดี ร่ายกายแข็งแรง หลังจากนี้ถ้าหากมีอะไรในกระบวนการซักถามในชั้นพ.ร.ก. ข้าฯ นายนิเซ๊ะ นิฮะ จะไม่ให้การใดทั้งสิ้น นอกจากจะยืนยันคำให้การเดิม ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นแก่ข้าฯ ไม่ว่าร่างกายหรือชีวิต หรือกรณีใดก็ตาม ข้าฯ ขอเขียนหนังสือนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการต่อไป”
เป็นเนื้อหาในจดหมายที่เขียนด้วยลายมือลงในกระดาษขาวที่มีแต่ร่องรอยพับจนเล็ก พร้อมลงลายมือชื่อของนายนิเซ๊ะ นิฮะ พร้อมลงลายมือชื่อ ระบุลงวันที่ 1 ตุลาคม 2554 พร้อมพ่วงท้ายข้อความในจดหมายว่า “ขอคัดค้านพ.ร.ก.”
จดหมายฉบับนี้ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า เป็นจดหมายที่ออกมาจากห้องควบคุมตัวในศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งอยู่ที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา
นั่นคือสถานที่ควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ เจ้าของจดหมายที่ถูกส่งส่งผ่านมาทางญาติ
นิเซ๊ะ นิฮะ ถูกควบคุมตัวเมื่อรุ่งเช้าของวันที่ 16 กันยายน 2554 โดยเจ้าหน้าที่ทหารกลุ่มหนึ่งที่เข้าตรวจค้นบ้าน ที่บ้านเลขที่ 32/5 หมู่ที่ 3 ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
ระหว่างเข้าควบคุมตัวนิเซ๊ะ เจ้าหน้าที่ทหารมิได้แสดงหมายแต่อย่างใด จากนั้นจึงนำตัวไปยังหน่วยทหารบริเวณสถานีไฟฟ้าย่อยปัตตานี ถนนปัตตานี–ยะลา อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
ต่อมา เวลาประมาณ 09.00 น. วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวนายนิเซ๊ะ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ควบคุมตัวในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมแจ้งว่า ระหว่างการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ได้ซักถามโดยมิได้แจ้งว่า การควบคุมตัวและการซักถามดังกล่าวอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด ระหว่างการซักถามเจ้าหน้าที่สอบถามถึงประวัติส่วนตัว โดยมิได้มีการซักถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบแต่อย่างใด
ฝ่ายทหารยืนยันว่า นายนิเซ๊ะ ได้รับการปฏิบัติอย่างดีระหว่างถูกควบคุมตัว และได้ให้การกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ค่ายอิงคยุทธฯ ด้วยความสมัครใจต่อข้อซักถามต่างๆ
ต่อมา วันที่ 22 กันยายน 2554 หลังจากถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วัน นายนิเซ๊ะ ได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ได้ยื่นคำร้องขอออกหมายควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยไม่ได้แจ้งเหตุที่ขอออกหมายควบคุมตัวดังกล่าว
วันที่ 25 กันยายน 2554 เจ้าหน้าที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์นำผลการซักถามให้ผู้ถูกควบคุมตัว ลงลายมือชื่อในเอกสารบันทึกการซักถามดังกล่าว โดยในบันทึกระบุว่า ผู้ถูกควบคุมตัวให้การปฏิเสธและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบใดๆ ทั้งสิ้น
ทันทีที่ลงลายมือชื่อในบันทึกการซักถาม ก็เป็นอันสิ้นสุดระยะเวลาแห่งการควบคุมตัว และผู้ถูกควบคุมตัวย่อมจะได้รับการปล่อยตัวตามระเบียบปฏิบัติที่ถือปฏิบัติกันมา
ทว่า พนักงานเจ้าหน้าที่กลับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวในวันที่ 26 กันยายน 2554 และได้ย้ายนายนิเซ๊ะ ไปควบคุมตัวที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา
การย้ายสถานที่ควบคุมตัวดังกล่าว มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมองว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“การกระทำดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในมาตรา 11 (1) ประกอบกับระเบียบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ว่าด้วย วิธีปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (เพิ่มเติมครั้งที่ 3) ข้อ 2 วรรค 2 และตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอจับกุมและควบคุมตัว พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ข้อ 6” มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุ
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุต่อไปว่า ดังนั้นการควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ จึงมิได้ดำเนินไปเพื่อประโยชน์แห่งความจำเป็นในการป้องกันมิให้บุคคลกระทำการหรือร่วมกระทำการใดๆ อันจะก่อให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุร้ายแรงในพื้นที่ที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และยังเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เป็นการกระทำซึ่งกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
นับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2554 ที่นายนิเซ๊ะ ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์พิทักษ์สันติ นายนิเซ๊ะได้รับการปฏิบัติอย่างดี ถึงกระนั้นก็ยังถูกซักถามด้วยคำถามเดิมๆ เช่น คำถามเกี่ยวกับอาชีพ คำถามเกี่ยวกับกิจกรรมในสมัยเป็นนักศึกษาในกรุงเทพมหานคร สมัยปฏิวัติรัฐประหารและการต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535
วันที่ 29 กันยายน 2554 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอขยายการควบคุมตัวตามอำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังจากการควบคุมตัวอีก 7 วัน
วันที่ 30 กันยายน 2554 ทนายความของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับคำร้องจากญาติของนายนิเซ๊ะว่า ต้องการให้มีการปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ซักถามประเด็นใดๆ เพิ่มเติม โดยเห็นว่า การถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเหตุจำเป็นตามกฎหมายนั้นไม่ตรงกับเจตนารมณ์ ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
จากนั้น ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ โดยขอให้ศาลเรียกเจ้าหน้าที่ผู้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวและผู้ถูกควบคุมตัวมาไต่สวน และขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ เพราะเป็นการควบคุมตัวโดยไม่มีเหตุจำเป็นตามสถานการณ์ฉุกเฉินย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ศาลจังหวัดปัตตานี มีคำสั่งนัดไต่สวนผู้ร้องและผู้ร้องคัดค้านและนายนิเซ๊ะ ในวันพุธที่ 5 ตุลาคม 2554 เวลา 09.30 น. ซึ่งเป็นเวลาอีกกว่า 5 วันนับจากที่นายนิเซ๊ะ ได้ขอให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาล พร้อมกับเขียนจดหมายน้อยส่งให้คนภายนอกได้รับรู้ความรู้สึกของตนเอง
ทว่า ก่อนจะถึงวันนัดไต่สวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 4 ตุลาคม 2554 โดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แจ้งให้ญาติและทนายความรับทราบ และให้ตำรวจและทหารนำตัวนายนิเซ๊ะ ไปส่งที่อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี และนายนิเซ๊ะ นิฮะได้เดินทางกลับภูมิลำเนาโดยปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นางสาวพรเพ็ญ ตั้งข้อสังเกตว่า การออกหมายจับของศาล ที่มาจากดุลพินิจของเจ้าพนักงาน ภายใต้กฎหมายพิเศษถูกตั้งคำถามมาตลอด โดยเปรียบเทียบระหว่างผลของการรักษาความมั่นคงกับจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวที่ได้รับการปล่อยตัวและจำนวนคดีความมั่นคงที่ศาลยกฟ้องในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
วันที่ 29 เมษายน 2554 หลังการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มากว่า 5 ปี มีประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอจับกุมและควบคุมตัวบุคคลตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยกำหนดหลักการสำคัญบางประการ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
หลักการดังกล่าว เช่น การขอศาลออกหมายจับตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้นำข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในคำแนะนำประธานศาลฎีกา ระบุด้วยว่า “ศาลจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ต้องไต่สวนให้ได้ความก่อนออกหมาย” ศาลควรสอบถามผู้ร้องว่า เคยมีการออกหมายจับและควบคุมตัวบุคคลมาก่อนที่ศาลใดหรือไม่ เพื่อมิให้มีการควบคุมตัวเกินระยะเวลาที่กำหนด
รวมทั้งระบุว่า ให้ผู้รับผิดชอบรายงานความคืบหน้าการจับกุมตามหมายต่อศาลทุกสามเดือน จนกว่าจะจับกุมได้ เมื่อจับกุมตามหมายจับได้แล้ว ให้จัดทำรายงานแจ้งต่อศาล หากเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัวให้รายงานให้ศาลทราบทันที
คำแนะนำประธานศาลฎีกา ระบุอีกว่า เมื่อมีการปล่อยตัว ไม่ว่าเมื่อใดก็ตามต้องแจ้งให้ญาติหรือผู้ที่ผู้ถูกควบคุมตัวไว้ใจทราบ และนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลที่ออกหมายจับเพื่อการปล่อยตัว ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว ศาลจะเพิกถอนหมายจับ หรือสั่งเป็นอย่างอื่นได้
“หมายจับตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้กำหนดว่า เมื่อครบกำหนดหนึ่งปี หากไม่สามารถจับกุมบุคคลได้ ศาลอาจเรียกผู้ขอออกหมายมาสอบถามหรือเพิกถอนหมายจับได้ อีกทั้งประธานศาลฎีกากำหนดด้วยว่า ถ้าการจับกุมและควบคุมตัวไม่เป็นไปตามกฎหมาย ให้ศาลทำการไต่สวน มีคำสั่งให้นำผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลเพื่อไต่สวนได้ เป็นต้น” คำแนะนำประธานศาลฎีกา ระบุ
นางสาวพรเพ็ญ บอกไว้ในบทความเรื่อง ข้าแต่ศาลที่เคารพ...... ผมขอคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปิดจดหมายของผู้ถูกควบคุมตัวตามหมายฉฉ. ว่า จดหมายน้อยฉบับนี้ เป็นเสียงร้องเรียกดังๆ ต่อสาธารณะฉบับแรกจากผู้ถูกควบคุมตัว ทั้งที่มีผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจกฎหมายพิเศษหลายรายที่ไม่สามารถเขียนหนังสือ ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย ไม่สามารถมีทนายความร่างคำร้องขอคัดค้านการควบคุมตัว
“บางรายเคยมีรายงานว่า ถูกซ้อมทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัว และเคยแม้กระทั่งไม่มีชีวิตที่รอดกลับออกไปจากการควบคุมตัว เช่น กรณีนายสุไลมาน แนซา... เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมประเทศที่เป็นจริง เสียงเรียกร้องของผู้ถูกควบคุมตัวแม้แต่เพียงรายเดียวเราทุกคนก็ต้องรับฟัง” นางสาวพรเพ็ญ ระบุ
นิเซ๊ะ นิฮะ จากพฤษภาทมิฬถึงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าถึงประวัติของนายนิเซ๊ะ นิฮะ ไว้ในบทความเรื่อง ข้าแต่ศาลที่เคารพ...... ผมขอคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปิดจดหมายของผู้ถูกควบคุมตัวตามหมายฉฉ. ดังนี้
นิเซ๊ะ นิฮะ หนุ่มใหญ่วัย 43 ปี มีอดีตที่น่าสนใจ เนื่องจากเคยเป็นนักกิจกรรม ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 นิเซ๊ะเข้าร่วมกับพรรคสานแสงทอง ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นมีบทบาทเกี่ยวข้องกับงานพัฒนาสังคมและชุมชนมาโดยตลอด
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ นิเซ๊ะมีโอกาสร่วมเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน ซึ่งเป็นเครือข่ายของชาวบ้านคนยากคนจนจากชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ ถือได้ว่าเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
นิเซ๊ะ ยังได้รับเลือกเป็นประธาน PNYS หรือกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2537 และต่อมาก็ได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับองค์เครือข่ายภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง จนจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2540 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง
ปัจจุบันนิเซ๊ะ มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดปัตตานี มีอาชีพเป็นเกษตรกรชาวสวนยางพาราและสวนผลไม้ ที่ผ่านมามีบทบาทในงานพัฒนาชุมชนตามวิถีชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น