Skip to main content

ยารีนา กาสอ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

ระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2554 โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of the Voiceless : from the southernmost People in Thailand) ณ หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

งานรวมเสียงคนไร้สิทธิคราวนี้ เริ่มจากการบรรยายในหัวข้อ “สันติสุขและการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม” โดย “อังคณา นีละไพจิตร” ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Justice for Peace Foundation)

ต่อไปนี้ เป็นเนื้อหาจากการถอดแถบบันทึกคำบรรยายของ “อังคณา นีละไพจิตร” ท่ามกลางผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 500 คน ในวันนั้น

 

 

อังคณา นีละไพจิตร

 

หัวข้องานครั้งนี้คือ เสียงผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้ ดิฉันเห็นว่า สิทธิเป็นสิ่งที่ติดตัวคนเรามาตั้งแต่กำเนิด ไม่มีใครสามารถจะมาลิดรอนสิทธิของเราไปได้ ผู้ที่จะเอื้อให้เกิดสิทธิต่างๆ เหล่านี้แก่บุคคลก็คือรัฐโดยตรง รัฐมีหน้าที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิเสรีภาพของตนได้

จะเนื่องจากกลไกความบกพร่องอะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ ในที่สุดพลเมืองเอง ประชาชนเอง บุคคลเอง กลับไม่รู้สิทธิของตัวเอง จึงทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสิทธิของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

ในฐานะที่ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ มีความเป็นพหุวัฒนธรรม แม้รัฐธรรมนูญไทยจะเขียนว่า ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม แต่ไทยเอง มีข้อจำกัดเรื่องวิธีคิดการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ในต่างประเทศ มีการใช้คำว่า Indigenous หมายถึงชนเผ่าดั้งเดิม ชนพื้นเมือง สหประชาชาติเอง มีกฎกติการะหว่างประเทศที่จะคุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มนี้ แต่ประเทศไทยยังไม่สบายใจกับความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ ประเทศไทยจึงยังไม่พร้อมที่จะลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งของคนดั้งเดิมหรือชนเผ่า

แม้ประเทศไทยมีชนเผ่ามากมาย ทางภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเผ่าอาข่า ลีซอ ทางภาคใต้ มีอุรักลาโว้ย มีมอแกน มอแกลน มีชนเผ่าซาไก ขณะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคนมลายูมุสลิม ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่เป็นคนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะที่คนพื้นเมืองที่อยู่ตามชายขอบของประเทศไทย เป็นคนส่วนน้อย คนเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วอยู่ในสถานะบุคคลที่ไม่มีสัญชาติ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้

ในรัฐธรรมนูญเขียนว่า “สิทธิของปวงชนชาวไทย” หมายถึงคนที่จะเข้าถึงสิทธิได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ไม่ว่าสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การศึกษา หรือการรักษาพยาบาล เป็นต้น

แต่ที่จริงแล้ว สิทธิต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิที่ต้องได้รับความคุ้มครอง เป็นสิทธิที่ต้องได้รับการยอมรับ เพราะเป็นสิทธิตามหลักมนุษยธรรมทางสากล เด็กเกิดมาอย่างน้อยมีสิทธิที่ควรได้รับการจดทะเบียนการเกิด คนเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องสามารถเข้าถึงสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาล เป็นต้น

ด้วยข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติ หรือวิธีคิดของเจ้าหน้าที่รัฐไทยบางคนที่ละเลย จนทำให้คนที่อยู่ตามชายแดน มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ถูกมองว่าไม่ใช่คนไทย

ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในมาตราที่ 1 ในอนุสัญญาฉบับนี้กล่าวไว้ว่า บุคคลมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง แต่ประเทศไทยได้ตั้งข้อสงวนไว้ในมาตราที่ 1

การตั้งข้อสงวนคือ รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้ โดยรัฐบาลไทยได้ตั้งข้อสงวนไว้ว่า จะต้องไม่หมายถึงการแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น

ดิฉันเองในฐานะที่เป็นผู้เขียนรายงานประเทศไทยในอนุสัญญาฉบับนี้ เพื่อที่จะส่งต่อสหประชาชาติ ในรายงานฉบับที่ 2 ของประเทศไทย ผู้เขียนรายงานก็มีความพยายามที่จะให้รัฐบาลได้ถอนข้อสงวนข้อนี้ออก แต่ก็ยังติดขัดจากหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งมีความกังวลว่า สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง อาจถูกตีความว่า เป็นสิทธิในการเป็นอิสระได้ ก็เลยทำให้มาตรา 1 ในอนุสัญญาระหว่างประเทศในฉบับนี้ ประเทศไทยก็ยังคงตั้งข้อสงวนอยู่

ถ้าเรามาดูตั้งแต่ประวัติศาสตร์ เราจะพบว่า ตั้งแต่สมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2482 มีความพยายามที่จะนิยามความเป็นไทยขึ้นมาใหม่ นับตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อจากประเทศสยามเป็นประเทศไทย มีการกำหนดนิยามความเป็นไทย กำหนดภาษาประจำประเทศไทย การแต่งกาย ฯลฯ

ในยุคสมัยนั้น ได้ก่อให้เกิดความคับข้องหมองใจเป็นอย่างมาก จากคนซึ่งมีความต่างทางด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และภาษา เนื่องจากรัฐในสมัยนั้น มองใครก็ตามที่ไม่พูดภาษาไทยว่า ไม่ใช่คนไทย ใครก็ตามที่ชื่อไม่เหมือนคนไทย คนนั้นไม่ใช่คนไทย หรือใครก็ตามที่แต่งตัวไม่เหมือนคนไทย คนเหล่านั้นอาจเป็นศัตรูของรัฐได้

รัฐมองคนเหล่านี้ด้วยสายตาแห่งความไม่ไว้วางใจมาตลอด จึงทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความรู้สึก ซึ่งนำมาด้วยความไม่ไว้วางใจ การไม่ร่วมมือ จนกระทั่งเป็นความขัดแย้ง และในบางพื้นที่ก็เป็นเหตุก่อให้เกิดความรุนแรงด้วย

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ประชาชนในพื้นที่ชายขอบของประเทศไทย หรือผู้ที่เป็นคนกลุ่มน้อย ยังมีความรู้สึกว่าตัวเองถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ได้รับความเท่าเทียมในการใช้กฎหมาย ไม่มีการสร้างระบบธรรมาภิบาล หรือระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้นจริง สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งปัญหาที่ลุกลามบานปลายขึ้นมา แม้ว่าประเทศไทยจะรับรองในอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ

ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ อนุสัญญาว่าด้วยการถูกทรมาน หรืออะไรก็แล้วแต่ การที่จะปฏิบัติตามพันธะข้อตกลงเหล่านั้น ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่รัฐเอง ยังมีข้อบกพร่อง ก็เลยเป็นสาเหตุของปัญหาประการหนึ่ง

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความละเอียดอ่อนมีมากกว่าพี่น้องชนกลุ่มน้อยในพื้นที่อื่น เนื่องจากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างจากที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาและวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยึดมั่น ถือมั่นและเคารพมาก

อะไรก็ตามที่ขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม จะทำให้พี่น้องพลเมืองที่นี่รู้สึกรับไม่ได้

ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาคือ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ถ้าเราไปดูทางภาคเหนือ มีพี่น้องชนเผ่าจำนวนไม่น้อยที่สูญหาย ถูกฆ่าตายด้วยกระบวนการยุติธรรม ถูกจับกุม ถูกซ้อมทรมาน เป็นต้น คนเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่กฎอัยการศึกเช่นเดียวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้

สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษกลับไม่สามารถทำได้จริง จนเกิดวัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวล เราไม่เคยปรากฏว่า หากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคนของรัฐแล้ว จะสามารถนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทยได้

แม้แต่เหตุการณ์ตากใบ (จังหวัดนราธิวาส) ที่มีคนตาย 85 คน สุดท้าย ถึงจะมีพยาน หลักฐานมากมาย เราก็ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ แม้เพียงคนเดียว สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ประชาชนชนเชื่อมั่นว่า เป็นการเลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมาย

ขณะที่ประชาชนทำผิด ประชาชนถูกจับกุม ถูกควบคุมตัว ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ถูกล่าวหา กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถนำเขาเหล่านั้น เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมได้

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นเสมอ ในพื้นที่ชนบทของประเทศไทยก็คือ เรื่องการแย่งชิงทรัพยากร การรุกรานทางทรัพยากร

ถ้าเราดูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่ที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าใครมีโอกาสได้ไปนั่งฟังชาวบ้านในพื้นที่สีแดง พื้นที่ที่รัฐมองว่า มองเห็นต่างจากรัฐ

ลองเข้าไปนั่งอาจทราบอะไรใหม่ๆ เช่น พื้นที่ของเขื่อนบางลาง ซึ่งวันนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ครอบครองอยู่ ใต้น้ำของเขื่อนบางลางเคยเป็นสุสานของบรรพบุรุษ บ้านของพลเรือนกว่า 1,000 หลัง ที่จมอยู่ใต้น้ำ ในนั้นมีมัสยิด ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจอยู่ด้วย

การสร้างเขื่อน เริ่มต้นในปีพ.ศ.2519 ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพมหานคร แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการสร้างเขื่อนบางลาง รัฐเองให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะทดแทน เยียวยา หาที่อยู่ให้ใหม่ สร้างมัสยิด สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ แต่ถามว่า วันนี้รัฐได้ให้ตามคำมั่นสัญญาหรือไม่

สิ่งเหล่านี้ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในพื้นที่อำเภอบันนังสตา ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ ประชาชนหลายคนที่บ้านเรือนจมน้ำอยู่ใต้เขื่อน ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกิน หลายคนมองว่า รัฐเป็นผู้รุกราน

เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย ไม่ว่าภาคอีสาน เรามีแม่สมปอง เวียงจันทร์ ที่ขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชน เป็นสมาชิกสมัชชาคนจน

เรื่องเหล่านี้ ถ้ามีการประท้วง มีการขัดแย้งหรือไม่ยอมรับอำนาจรัฐในท้องที่อื่น ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าใครลุกขึ้นมาต่อต้าน แสดงความไม่เห็นด้วย เขาเหล่านั้นจะถูกมองว่า เป็นแนวร่วมบ้าง เป็นผู้ก่อความไม่สงบบ้าง

ในพื้นที่บันนังสตา มีวีรบุรุษหลายคน ทั้งทหาร ตำรวจ แต่วีรบุรษของรัฐกับวีรบุรุษประชาชนเป็นคนละคนกัน

ปัญหาการขาดธรรมาภิบาลในสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุประการหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความระแวง ความไม่ไว้วางใจ ความไม่ร่วมมือและการต่อต้านรัฐ

การขาดระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

ถ้าเราไปดูชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานี ปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านยังไม่จบ วันนี้มีกรณีพิพาทระหว่างคนที่เลี้ยงหอยแครงกับประมงพื้นบ้าน มีคนถูกจับจำนวนมาก เหตุการณ์ดูจะรุนแรงมากขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้คือ การแย่งชิงฐานทรัพยากร ถามว่าใครเป็นผู้ดูแล ใครจะเป็นผู้ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน

เราสนใจแต่การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราสนใจแต่เรื่องเมกะโปรเจ็กต์ แต่เราไม่ได้สนใจหรือให้ความสนใจน้อยมากต่อประมงชายฝั่งประมงพื้นบ้าน

ถ้าถามว่า เขื่อนบันนังสตาผลิตไฟฟ้าให้ใคร พูดถึงพื้นที่จังหวัดยะลา หรือพื้นที่ใกล้เคียงกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบ้านสักกี่บ้านที่ใช้แอร์คอนดิซั่นปรับอากาศ มีโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่สักกี่แห่ง ที่ใช้พลังงานจากเขื่อน

ในขณะเดียวกัน การสร้างเขื่อนที่ทำให้เกิดปัญหาต่อชาวบ้าน เอื้อผลประโยชน์ให้กับใคร

สิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจำเป็นจะลุกขึ้นมาทวงถาม เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ประชาชนมีความขมขื่น ถ้าเรามีโอกาสเข้าไปอยู่ในหัวใจของคนหลายคน เราจะรู้ว่า ทำไมคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลือกที่จะเข้าข้างรัฐ

ถ้าถามว่า ความคิดอิสระผิดไหม?

ดิฉันมองว่า ความคิดที่เป็นอิสระไม่ผิด มนุษย์ทุกคนปรารถนาความอิสระ ปรารถนาเสรีภาพมนุษย์กันทั้งนั้น

ถ้าหากเขาไม่ได้รับการดูแลอย่างดีและเป็นธรรม ทุกคนก็ต้องการที่จะเป็นอิสระ เมื่อไหร่ก็ตาม ที่รัฐสามารถให้ความเป็นธรรมกับเขาได้ ให้หลักประกันในการสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นได้ เขาก็จะอยู่ในแผ่นดินที่เขาเกิดอย่างสงบ สันติ

ถ้าเรามองชุมชนมุสลิมที่มีความผูกพันกับศาสนามาก เราจะพบว่าพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับการได้สิทธิในการนับถือศาสนา เป็นสิ่งที่เขาต้องต่อสู้ ดิ้นรนอย่างมาก

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ถึงแม้มาตรา 37 ในรัฐธรรมนูญไทยบอกว่า บุคคลมีสิทธิเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา เป็นเสรีภาพที่ไม่สามารถมีใครมาขัดแย้งได้ และได้รับการรับรองจากกติกาสากล ว่าด้วยสิทธิทางการเมือง

เสรีภาพนี้ รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพในการแต่งกาย สิทธิและเสรีภาพในการใช้กฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทางศาสนา สิทธิเสรีภาพในการมีศาลทางศาสนา สิทธิเสรีภาพในการมีสถาบันทางการเงินที่ถูกหลักการทางศาสนาด้วย

สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปต่อสู้ ดิ้นรน หรือไม่ใช่เรื่องของความผิด แต่ที่ผ่านมาเราพบว่า กว่าประชาชนจะได้สิ่งเหล่านี้มา ต้องต่อสู้ด้วยความยากลำบากกว่าจะได้มา ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้เป็นเสรีภาพที่รัฐจะต้องจัดให้

โจทย์สำคัญก็คือ แล้วจะกลับมาอยู่ มาร่วมทุกข์ร่วมสุขกันต่อไปได้อย่างไร เราจะกลับมาอยู่ด้วยกัน โดยลืมความบาดหมางใจที่มีต่อกันได้อย่างไร เราจะฟื้นความไว้เนื้อเชื่อใจที่มันสูญหายไปได้อย่างไร

ถ้ารัฐเองเรียกร้องความไว้วางใจจากประชาชน ก็ต้องถามกลับว่า แล้วรัฐไว้วางใจประชาชนแค่ไหน รัฐมองดูซิว่า เขามีสิทธิเสรีภาพสมบูรณ์ไหม ทำไมเสียงของเขาเราถึงไม่ได้ยิน ไม่ได้รับการตอบสนอง

ปัญหาสำคัญคือ วิธีคิดของเจ้าหน้าที่รัฐ มองในมุมมองความมั่นคงของภาครัฐ มากกว่าการมองความมั่นคงของมนุษย์

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า รัฐไทยมีความหวาดระแวงสูง มองถึงความมั่นคงของรัฐเป็นความมั่นคงของแผ่นดินเป็นหลัก แต่ลืมที่จะมองความมั่นคงของมนุษย์ที่อยู่ในดินแดนเหล่านั้น

หลักความคิดก็คือ ถ้ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ใดได้อย่างมีความสุข มีความปลอดภัย รู้สึกว่าได้รับการคุ้มครอง ไม่มีใครหรอกที่อยากจะอยู่

ดังนั้น การให้ความสำคัญกับมนุษย์ที่อยู่ในรัฐ จึงมีความสำคัญอย่างมาก จะต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลรักษาความมั่นคงของประเทศเช่นกัน

ขณะที่เราพูดถึงปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องความขัดแย้ง ความคับข้องหมองใจของประชาชนที่มีต่อรัฐ ต้องไม่ลืมว่า ตัวแปรสำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือ เรื่องของอิทธิพลเถื่อน ไม่ว่ายาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ ซึ่งมีมากมาย

ถ้าเราไปดูในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสงขลา ปัตตานี ในชายแดนแถบอำเภอสุไงโก–ลก จังหวัดนราธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สิ่งผิดกฎหมายเติบโตรวดเร็วมาก

ถามว่าทำไมถึงเกิดขึ้น?

ในชุมชนของเรา มีชุมชนไหนบ้างที่ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับยาเสพติด หลายคนในชุมชนรู้ดีว่า ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด บางครั้งเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นคนของรัฐ เป็นนักการเมืองท้องถิ่น แต่ด้วยความที่ชาวบ้านไม่เข้มแข็งพอ ที่จะออกมาให้ข้อมูล หรือหยุดยั้งขบวนการเหล่านี้ได้

หลายครั้งที่ขบวนการเหล่านี้ กลายเป็นสาเหตุของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลเองก็ปล่อยปละละเลยมานาน ในปัตตานีมีโต๊ะพนันบอลเกลื่อน มียาเสพติดระบาดอย่างมาก

ดิฉันมีตัวเลขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ติดยาเสพติด ซึ่งต้องการการบำบัด 20,000 คน แต่ตัวเลขของป.ป.ส. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) บอกว่ามี 50,000 คน แต่ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดมี 20,000 คน

ในจำนวนผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัด 20,000 คน เรามีเตียงที่จะบำบัดได้เพียงไม่กี่ร้อยเตียง มีสถานบำบัดที่ปัตตานี 100 เตียง อยู่ที่ศูนย์บำบัดยาเสพติดสงขลา ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 100 เตียง และกำลังสร้างที่ค่ายรัตนพล อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลาอีก 100 เตียง ทั้งหมดไม่เกิน 300 เตียง แต่ตัวเลขของคนที่ต้องเข้ารับการบำบัดมีถึง 20,000 คน

ชาวบ้านเองพยายามจะช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการจัดสถานบำบัดเยาวชนผู้ติดยาเสพติดด้วยวิธีธรรมชาติ หรือวิธีหักดิบ ปล่อยให้ลงแดงแบบนี้ เป็นต้น วิธีการเหล่านี้เป็นความพยายามของชาวบ้านในการดูแลตัวเอง

เนื่องจากยาเสพติดไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย และกลไกที่จะเลิกยาได้ นอกจากต้องใช้ความเข้มแข็งทางจิตใจอย่างมากแล้ว ยังต้องพึ่งพาหลักการที่ถูกต้องตามหลักสาธารณสุขด้วย จึงจะสามารถเลิกยาได้เด็ดขาด

ตรงนี้เอง เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า รัฐไม่ได้เข้ามาดูแล และยุติการแพร่ขยายของยาเสพติดอย่างจริงจัง และยาเสพติดก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้บั่นทอนอนาคตของเยาวชน ลูกหลานของเราไปด้วย

อีกประการหนึ่ง เราต้องยอมรับว่า มีเยาวชนที่หลงผิดที่เข้าร่วมขบวนการ รัฐเองยังไม่มีแนวทางที่จะทำอย่างที่ทำให้คนที่หลงผิดกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติ และได้รับการยอมรับ

ถึงแม้จะมี พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) มาตรา 21 แต่วิธีการที่จะนำมาใช้ก็ยังมีหลายขั้นตอน ซึ่งถูกตั้งคำถามอย่างมากว่า วิธีการนี้เหมาะสม หรือสามารถดูแล เยียวยาให้กับผู้ที่หลงผิดให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติหรือไม่

อีกประการหนึ่ง เป็นปัญหาที่พบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ นโยบายบางอย่างของภาครัฐเอง เช่น การสนับสนุนให้ประชาชนป้องกันตัวเอง เราจะพบว่า วันนี้เรามีกองกำลังติดอาวุธพลเรือนเกิดขึ้นมากมาย

ครูเองก็มีหน้าที่ต้องป้องกันตัวเอง มีการแจกอาวุธให้กับกองกำลังฝ่ายพลเรือน ทำให้มีการแพร่กระจายอาวุธใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น ไม่มีใครรู้ว่า อาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งหมดเท่าไหร่ ถ้าเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว เราจะเรียกอาวุธเหล่านั้นคืนได้อย่างไร

ถ้าเรายึดมั่นในแนวทางสันติวิธี หรือการไม่ใช้ความรุนแรง เราก็ไม่ควรให้มีการแพร่กระจายของอาวุธ

ขณะเดียวกัน โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันเคยทำวิจัยเรื่องความสัมพันธ์กับเด็กที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับชุดรักษาความปลอดภัยของชาวบ้าน

จริงๆ แล้ว ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในพื้นที่ความขัดแย้งทางอาวุธ ซึ่งประเทศไทยจะต้องไปดูแลไม่ให้เด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาวุธ หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลคือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

จากการลงไปทำวิจัย เราพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธ เกี่ยวข้องกับหน่วยชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) มี 65% ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เด็กที่เราพบอายุต่ำสุดเพียง 13 ปี ก็สามารถใช้อาวุธสงครามได้แล้ว

เรื่องเหล่านี้อาจดูปลีกย่อย แต่เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญและระมัดระวัง เนื่องจากเด็กจะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าวันนี้เขาอยู่กับอาวุธ ในวันข้างหน้าเขาจะมีทัศนคติ วิธีคิดในการแก้ปัญหาอย่างไร

ถ้าเรายึดมั่นในการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง การใช้อาวุธจะต้องถือว่า เป็นสิ่งที่เราจะต้องปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐเอง หรือฝ่ายขบวนการเอง วันนี้ต่างใช้เด็กเป็นเครื่องมือ เด็กจึงกลายเป็นผู้ใช้ความรุนแรงอยู่ด้วย เราต้องเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติ และเราจำเป็นที่จะต้องเข้าไปดูให้มากขึ้น

ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นข้อห่วงใยอย่างมากคือ การสร้างความเกลียดชัง เนื่องจากมีการบิดเบือนหลักการทางศาสนา มีเยาวชนบางส่วนหลงผิด ขณะเดียวกันก็มีการแบ่งพวก เช่น เมื่อคนไทยพุทธถูกยิงก็จะประณามว่า เป็นฝีมือของพวกนับถือศาสนาอิสลาม

เมื่อคนมุสลิมถูกยิง จะมองว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคนพุทธ เป็นต้น ทำให้คนซึ่งเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในสังคมกลับแบ่งแยก มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน แม้มีการป้องกันแล้ว ยังรู้สึกว่า แบ่งแยกมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐเองควรจะเข้าไปดูแล และประชาชนที่อยู่ด้วยกันต้องมีความหนักแน่น

ขณะเดียวกันรัฐต้องเข้าไปดูแลคือ ใครก็ตามที่ทำผิดต้องนำไปสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องไม่ปล่อยให้เกิดข่าวลือ เช่น คนยิงเป็นคนไทยพุทธบ้าง คนยิงเป็นคนมุสลิมบ้าง เอาหลัก เอาชื่อ เอาความเป็นศาสนา ชาติพันธุ์มาทำให้เกิดความขัดแย้ง

ถ้าหากลองเข้าไปดูใน Social Media เว็บไซต์หรือว่าในเฟซบุ๊กต่างๆ จะรู้สึกว่า มันน่ากลัว บางคนที่โพสต์เข้ามาในเฟซบุ๊กถึงขั้นบอกให้ไปฆ่าเพื่อเอาคืนก็มี

ขณะที่เราบอกว่า เรารักสันติวิธี แต่ถ้าเราไปดูใน Social Media ของหน่วยงานความมั่นคง เราจะพบว่า มีหลายคนที่แสดงความคิดเห็นในเชิงต้องการแก้แค้น มีลักษณะของความพยาบาท เป็นต้น

แม้แต่ปัจจุบัน เรามีการเปิดพื้นที่เรื่องการปกครองรูปแบบพิเศษกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ชนกลุ่มน้อยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมีความกังวล เพราะการแสดงความคิดเห็น อาจจะถูกต่อต้าน อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ จนนำมาซึ่งความหวาดระแวงระหว่างประชาชนต่อประชาชนด้วยกันเอง

สิ่งที่ดิฉันอยากจะสรุปในวันนี้ก็คือ เราจะสร้างความหวัง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันได้อย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดดิฉันเห็นว่า ต้องเริ่มจากรัฐ เป็นหน้าที่รัฐที่จะต้องดูแล เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้ที่จะต้องทำ รัฐเองจะต้องทำในสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ

ในการที่จะฟื้นความไว้เนื้อเชื่อใจ คงต้องเริ่มต้นจากการทำงานร่วมกัน ต้องทำทุกภาคส่วน เริ่มด้วยการรับฟังจากทุกภาคส่วน พัฒนากลไกการตรวจสอบให้มีความเข้มแข็ง เมื่อสัญญาแล้วต้องรักษาสัญญา เมื่อบอกว่าจะทำอะไรแล้วก็ต้องทำ ต้องไม่ปกปิด ต้องไม่แอบทำ ต้องไม่ทำให้เกิดความระแวงสงสัย

ที่สำคัญคือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความระแวงสงสัย ไม่ไว้ใจ รัฐเองต้องเยียวยา การเยียวยามีความสำคัญมาก การเยียวยาไม่ได้หมายถึงการให้เงินเพื่อตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่การเยียวยายังหมายถึง ความเป็นธรรม การเยียวยาบาดแผลในใจ ซึ่งสิ่งที่อยู่ในใจถ้าพัฒนาไปเป็นความทรงจำ มันยากที่จะลืม

เมื่อรัฐสามารถเข้าไปดูแลเรื่องความทรงจำ หรือบาดแผลที่อยู่ในใจของเหยื่อได้ จะทำอย่างไรให้ความเจ็บปวดที่มีลดลง กลไกการเยียวยาด้วยกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งจำเป็น เราไม่สามารถที่จะบอกว่า “ขอโทษ” กลับมากอดคอกัน แล้ววันดีคืนดี เราลุกขึ้นมาตีหัวกันใหม่

เพราะฉะนั้น เรื่องการสร้างวัฒนธรรมการรับผิดคือ การสร้างวัฒนธรรมในการรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญที่สุดที่ดิฉันจะพูดไว้ก็คือ ต้องใจกว้างในการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ต้องยอมรับว่า ผู้หญิงเป็นกลไกหนึ่งและเป็นกลไกที่สำคัญของการแก้ปัญหา ผู้หญิงไม่ควรถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของคนอ่อนแอ ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้ซึ่งต้องการรับการสงเคราะห์ แต่ต้องพยายามสร้างกลไกให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วม ในฐานะที่ผู้หญิงสามารถจะเป็นผู้ให้ได้

ต้องยอมรับว่า ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิงในฐานะที่เป็นแม่ มีความสำคัญอย่างมากในการที่จะสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง เพื่อที่จะพัฒนาไปสู่การสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง

ทุกวันนี้ผู้หญิงทำงานหนักมาก ถ้าไปดูหลัง ม.อ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) ท่านจะพบเด็กผู้หญิงตั้งแต่อายุ 12–13 ปี มานั่งทำงานที่แพปลาปัตตานี มีทั้งเด็กผู้หญิงมลายูมุสลิมและเด็กผู้หญิงพม่า

ถ้าเราไปถามเด็กมลายูมุสลิมอายุน้อยๆ ที่นั่งทำงานอยู่ ส่วนใหญ่จะพูดตรงกันว่า ต้องออกมาทำงาน เนื่องจากพ่อกับพี่ชายกลัวปัญหาความไม่สงบ ไม่กล้าออกมาทำงานนอกบ้าน ก็เลยเป็นหน้าที่ของเด็กและผู้หญิง

ทั้งๆ ที่เด็กเหล่านี้ น่าจะอยู่ในสถาบันการศึกษา เพราะยังอยู่ในวัยเล่าเรียน ดังนั้น การเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงจึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง

สิ่งหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และต้องทำไปพร้อมกันกับการสร้างสันติสุขก็คือ เราจะสื่อสารอย่างไรกับสังคมใหญ่ ให้สังคมไทยทั้งประเทศเข้าใจวัฒนธรรมและบริบทความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากสังคมใหญ่ จะได้พัฒนาไปด้วยกันได้

สิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในการจะกลับมาคืนดีกัน และการกลับมาอยู่ด้วยกันก็คือ การให้อภัย และการสร้างคำสัญญาที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความเสมอภาค

เราจะอยู่ด้วยกันด้วยการอดทน อดกลั้นกัน หรืออย่างน้อยก็ทำลายตรรกะบนพื้นฐานของความหวาดระแวงที่เคยมาในอดีตให้หมดไป

ในภาวะบนพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง การใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่เราต้องให้ความสำคัญ แต่ธรรมาภิบาลอาจจะไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีหลักคุณธรรม จริยธรรม เช่น หลักการของความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งต่อตนเอง ต่อส่วนรวม หลักการสร้างความโปร่งใส การยอมรับการตรวจสอบ

เมื่อใดก็ตามที่สังคมขาดคุณธรรม ต่อให้เรามีกฎหมายที่ดีแค่ไหนก็ตาม เราก็ไม่สามารถยุติปัญหาความทุจริตคอรัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์บนความเดือดร้อน ความทุกข์ยากของคนเล็กคนน้อยได้

โจทย์สำคัญที่สุดก็คือ เราจะสร้างธรรมาภิบาลได้อย่างไร ไม่ว่าเราจะมีระบบการปกครองที่ดีสักเพียงไหนก็ตาม ถ้าระบบการปกครองนั้น ขาดซึ่งธรรมาภิบาล ขาดซึ่งหลักคุณธรรมก็ไม่สามารถที่จะนำสังคมไปสู่สันติสุขได้

โจทย์นี้ดิฉันคงตอบไม่ได้ คงฝากท่านทั้งหลายไปถามนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้ตอบ