ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
ตามกำหนดการเดิม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กำหนดให้จังหวัดกระบี่เป็นจุดแวะจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ 2554
หลังจากเริ่มเคลื่อนขบวนแรลลี่มาจากตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ไปยังตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ในวันที่ 10 ตุลาคม 2554
จากนั้นก็จะเคลื่อนไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ชูประเด็นการจัดสวัสดิการสู่องค์กรชุมชนจัดการตนเอง เชื่อมโยงสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ของเครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
ทว่า ต้องเปลี่ยนแปลงกำหนดการกะทันหัน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา เนื่องจากเครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตาแจ้งว่า ไม่พร้อมเข้าร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ 2554 เพราะได้รับแจ้งกะทันหัน การเตีรยมงานค่อนข้างฉุกละหุก จะทำให้งานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร
ทำให้การจัดงานที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ หายไปจากกำหนดการงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ 2554 ไปในบัดดล
สนทนา – นายเดียว ทะเลลึก กำลังสนทนากับนางอีหย่า ช้างน้ำ ยายชาวอุรักลาโว้ย บนบ้านที่สร้างขึ้นหยาบๆ เหมือนขนำ
วันที่ 11 ตุลาคม 2554 ขบวนแรลลี่จากตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จึงพุ่งไปที่โรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง อำเภอเมือง จังหวัดพังงาแทน จากนั้นขบวนแรลลี่จะมุ่งหน้าเดินทางไปปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ ปี 2554 ที่จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 12 ตุลาคม 2554
ขณะที่ชุมชนโต๊ะบาหลิว อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่จัดงานประเพณีลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ย ระหว่างวันที่ 10–12 ตุลาคม 2554
ก่อนหน้าวันจัดงานมาถึง ชาวเลที่นั่นต่างร่วมกันซ่อมแซมบ้านเรือนที่ชำรุด ไว้รับรองชาวอุรักลาโว้ย ที่จะพากันแห่มาร่วมงานที่บ้านโต๊ะบาหลิว และบ้านคลองดาว ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
ที่นั่น มีนายเดียว ทะเลลึก ชาวอุรักลาโว้ย ในฐานะสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาด่าน เป็นหนึ่งในผู้ประสานงานระหว่างเครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา กับชุมชนที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ
ตอนนี้กำลังเสาะหาอาสาสมัครชาวบ้านจากชุมชนโต๊ะบาหลิว ในไร่ สังกาอู้ และคลองดาว ที่จะเข้าร่วมขบวนเดินเท้าในงานประเพณีลอยเรือ ผลของการสอบถามปรากฏว่า มีทั้งชายหนุ่มและหญิงสาวอาสาเข้าร่วมงานประเพณีลอยเรือของชาวอูรักลาโว้ยกันอย่างคึกคัก
งานประเพณีลอยเรือของชาวอูรักลาโว้ยที่นี่ จัดขึ้นปีละ 2 ครั้งคือ วันขึ้น 13 ค่ำ–แรม 1 ค่ำเดือน 6 และวันขึ้น 13 ค่ำ–แรม 1 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี
จากคำบอกเล่าของนายเดียว ทะเลลึก ทำให้ทราบว่า สมัยแรกๆ ของการก่อตั้งเครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา มีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในชุมชนของชาวอุรักลาโว้ย แต่ต่อมาก็ล่มสลาย เนื่องจากวิถีชีวิตต้องฝากไว้กับทะเล บ้างก็ไปรับจ้างเป็นแม่บ้านตามรีสอร์ทต่างๆ เงินได้มาใช้หมดไปวันต่อวัน กลุ่มออมทรัพย์จึงไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้เหมือนกับชุมชนอื่นๆ
“ผมไม่รู้เลยว่า ทางพอช.ที่เข้ามาสนับสนุนเครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ 2554 ทางเครือข่ายฯก็ไม่ได้แจ้งเรื่องให้ทราบ” พี่เดียว บอก
นายเดียว ทะเลลึก เดินเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านหลังต่อหลัง หนึ่งในนั้นคือการแวะเข้าไปนั่งพูดคุยหยอกล้อขอกินหมากกับ “แยะ” นางอีหย่า ช้างน้ำ ยายชาวอุรักลาโว้ยที่นั่งอยู่คนเดียวบนบ้านที่สร้างขึ้นหยาบๆ เหมือนขนำ
เริ่มด้วยเสียงพูดคุยในภาษาอุรักลาโว้ย ที่มีสรรพสำเนียงคล้ายภาษามลายูของมาเลเซีย แปลเปลี่ยนเป็นสำเนียงใต้ ถามไถ่ถึงระบบสาธารณูปโภคของชุมชน ไม่ว่า ระบบไฟฟ้าที่ต่อพ่วงกันทั้งชุมชน รวมถึงระบบประปาที่ใช้ดื่มกิน
“เดือนนี้ค่าไฟฟ้าบ้านแยะ 270 บาท มีหม้อหุงข้าว กาต้มน้ำ และไฟอีกหนึ่งหลอด ส่วนน้ำประปาที่ใช้ดื่มกิน เขาต่อท่อมาให้ถึงบ้านก็สะดวกสบายขึ้น ถ้าจะเข้าส้วมก็ไปเข้าห้องน้ำรวมของชุมชน แต่ต้องหิ้วน้ำไปจากบ้านเอง” แยะบอกพลางเคี้ยวหมากหยับๆ
แยะเล่าว่า เธอและสามีไม่ได้ออกทะเลมานานแล้ว ดำรงชีพด้วยเงินคนชราเดือนละ 500 บาท 2 คน ก็ 1 พันบาทต่อเดือน พอไว้ซื้อข้าวสาร เสียค่าน้ำค่าไฟ มื้อหนึ่งๆ ก็ออกไปหน้าบ้านวางอวนเอามาเป็นกับข้าว
“วันก่อนมีเจ้าหน้าที่ดูแลป่าชายเลน พยายามนำหลักปูนมาปักบีบพื้นที่อาศัยของชาวบ้านให้แคบลงไปอีก ชาวบ้านทั้งชุมชนต้องออกมาแสดงความไม่พอใจ จนโดนขู่” แยะ เล่า
ในสายตาของนายเดียว ทะเลลึก มองว่า เป็นเหตุการณ์ธรรมดาที่ทางเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลป่าชายเลนพยายามจะจำกัดเขตที่อยู่อาศัยของชาวบ้านให้แคบที่สุด พร้อมกับชี้ไปยังทะเลที่จอดเรือหน้าชุมชน ที่กรมเจ้าท่าพยายามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยอ้างว่าจะกระทบกับการท่องเที่ยว
“ตอนนี้สุสานที่บ่อแหน มีเอกชนมาบอกให้ชาวอุรักลาโว้ยไปขุดกระดูกของบรรบุรุษที่ฝังออกไป ไม่นับอีกหลายสุสานที่ชาวบ้านต้องย้ายกระดูกไปฝังในอีกสุสาน ขณะที่บางสุสานถูกขุดกระดูกทิ้งขว้าง” เป็นคำบอกเล่าจากนายเดียว ทะเลลึก
หนุ่มๆ ในชุมชนกว่า 10 คน กำลังปักป้ายประชาสัมพันธ์งานประเพณีลอยเรือของชาวอูรักลาโว้ย บริเวณสะพานทางเข้าชุมชนโต๊ะบาหลิว หน้าท่าเรือศาลาด่านกลางเที่ยง เหงื่อไหลซิก ขณะสาวๆ กำลังเลือกชุดรองแง็งที่จะเดินในขบวนฯ
ชาวอุรักลาโว้ยบนเกาะลันตา ต่างรับรู้ ตื่นเต้น และรอคอย