Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

เช้าวันนี้ วันที่ 10 ตุลาคม 2554 คาราวานแรลลี่งานวันที่อาศัยโลกภาคใต้ 2554 ก็ได้ฤกษ์เคลื่อนออกจากตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ไปยังตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โดยมีกำหนดการไปถึงที่นั่นประมาณ 13.40 น. วันเดียวกัน

คาดว่าเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันพรุ่งนี้คือ วันที่ 11 ตุลาคม 2554 ขบวนแรลลี่คาราวานงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้ 2554 ก็จะเดินทางถึงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา อีกหนึ่งสถานที่จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกของภาคใต้ ในคราวนี้

ก่อนหน้านี้ในกำหนดการระบุว่า จะจัดงานนี้ ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ อำเภอเมืองจังหวัดพังงา แต่เครือข่ายที่ดินจังหวัดพังงาเกรงว่า ถ้าเจอฟ้าฝนงานจะขลุกขลัก จึงขอเปลี่ยนไปจัดในที่ที่สามารถรับมือรับไม้กับฝนฟ้าได้ จึงเลื่อนไปจัดที่โรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง เพราะเกรงว่าหากมีฝนตกจะลำบาก

 

ทัศนา นาเวศน์

จากการเปิดเผยของนางทัศนา นาเวศน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายที่ดินจังหวัดพังงา ทางจังหวัดพังงากำหนดประเด็นเรียนรู้การแก้ปัญหาที่ดินของขบวนการชุมชนบ้านทับยาง ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเมือง จังหวัดพังงา กับชุมชนบ้านในไร่  ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง และชุมชนบ้านแหลมป้อม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ ที่เอกชนนำไปออกเอกสารสิทธิ์ทับที่อยูอาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งแต่พื้นที่มีแง่มุมการต่อสู้และการจัดขบวนแตกต่างกันไป

กรณีชุมชนบ้านในไร่ และชุมชนแหลมป้อม ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการพิสูจน์สิทธ์ที่ดิน จนพิสูจน์ได้ว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ กระทั่งเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยในชั้นศาล ชาวบ้านยอมรับเสนอเสนอของนายทุนในการออกโฉนดให้ชาวบ้านแต่ละหลัง

กระทั่งมีการออกโฉนดเส้นทางสัญจรภายในชุมชน จนชาวบ้านไม่สามารถเดินทางเข้า–ออกจากชุมชนได้

ต่อมา นายทุนคู่พิพาทก็กลับมากว้านซื้อกลับไป จนปัจจุบันชาวบ้านกลับไปมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอีกระลอก

ต่างกับชุมชนบ้านทับยาง หลังจากมีการพิสูจน์สิทธิ์ จนปรากฏชัดว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ชาวบ้านก็ยืนยันที่จะครอบครองที่ดิน ภายใต้กรรมสิทธิ์ร่วมในรูปของโฉนดชุมชน

จุดเด่นของชุมชนบ้านทับยางคือ กระบวนการรวบรวมข้อมูล เอกสาร ที่เก็บสะสมมาตั้งแต่ยุคศักดินา ส่งผู้มีบรรดาศักดิ์มาเป็นเจ้าเมือง กระทั่งมาถึงยุคผู้ว่าราชการจังหวัดปกครองจังหวัด

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกองทุนชุมชน เก็บเงินจากชาวบ้านในชุมชนเดือนละ 10 บาทบ้าง 30 บาทบ้าง นำเงินมาใช้ในการต่อสู้

“ฉันเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนด้านที่ดิน ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.ชาติ) มีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานฯ ฉันจึงสามารถขอเอกสารของหน่วยราชการต่างๆ มาดูได้ ถึงเขาจะไม่ให้นำออกจากห้องประชุม ฉันก็นำเครื่องถ่ายเอกสารไปถ่ายเอกสารออกมา ฉันใช้เงินถ่ายเอกสารอีกไม่กี่บาทก็ถึงหมื่น” นางทัศนา นาเวศน์ เล่า

นอกจากนี้ ชาวชุมชนบ้านทับยาง ยังต้องทำความเข้าใจกฏหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่  พ.ศ.2483 ที่ระบุว่า พื้นที่ที่มีทรัพยากรน้ำมัน แร่ ฯลฯ จะไม่มีสิทธินำไปออกเอกสารสิทธิ์ ถ้าทราบภายหลังว่า มีผู้ถือครองสิทธิ์จะต้องคืนที่ดินนั้นให้กับรัฐ

“หลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 มีการประสานงานระหว่างชุมชน ที่มีประเด็นปัญหาร่วมกัน จนเกิดเป็นเครือข่ายระดับจังหวัด ระดับภาคใต้ จนถึงระดับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นปัญหาพื้นที่ของตัวเอง” นางทัศนา นาเวิศน์ เล่าพลางมองไปยังข้อความในกระดาษ A4 ที่แปะไว้ตรงฝาบ้าน ร้านซ่อมจักรยานยนต์

พวกเราชาวทับยาง ร่วมกันสร้างสามัคคี ผดุงความดี ให้เกิดมีกับชุมชน ...หากใครมีทุกข์ ช่วยกันลุกมาดูแล ถ้าใครรังแก ไม่ยอมแพ้ทั้งชุมชน สู้มาหลายปี พวกเรานี้ไม่เคยหน่าย หล่อหลอมหัวใจ พวกเราให้เป็นหนึ่งเดียว”

มันเป็นบทกวีจากปลายปากกาของนายพรศักดิ์ นาเวศน์ ผู้เป็นคู่ชีวิตของเธอ ผู้เป็นตัวแทนชุมชนทับยาง เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายที่ดินจังหวัดพังงา และเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)