อารีด้า สาเม๊าะ ทวีศักดิ์ ปิ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
นายมะรอนิง สาและ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์อ่าวปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้เครือข่ายอนุรักษ์อ่าวปัตตานีได้เตรียมซักซ้อมการเตือนภัยให้ชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีตั้งแต่อำเภอหนองจิก อำเภอเมืองและอำเภอยะหริ่ง หมู่บ้านละ 2 คน ผ่านวิทยุสมัครเล่น แต่ยังติดปัญหาเนื่องจากสมาชิกยังไม่ได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงยังไม่สามารถใช้คลื่นวิทยุสมัครเล่นในการแจ้งเตือนภัยได้ แม้ผ่านการอบรมและสอบเมื่อเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
นายมะรอนิง เปิดเผยว่า คาดว่าสมาชิกจะได้รับ ประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นได้ในเดือนพฤศจิกายน 2554 ถ้าไม่ได้ ก็คงจะได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งก็คงผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปแล้ว จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการด้วย เพื่อให้ทันรับมือกับช่วงมรสุมรุนแรงที่กำลังจะมาถึง
นายมะรอนิง เปิดเผยว่า ช่วงที่มีลมพายุรุนแรงในจังหวัดปัตตานี จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมกราคม เช่นเหตุการณ์พายุดีเปรสชันพัดถล่มหมู่บ้านดาโต๊ะ หมูที่ 4 ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อปีที่แล้ว เกิดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ทำให้บ้านเรือนประชาชนรอบอ่าวปัตตานีพังเสียหายในเป็นพันหลังคาเรือน
“พายุหรือน้ำท่วมจะมาเมื่อไรไม่มีใครรู้ แต่ตนและชาวบ้านบางส่วนที่อาศัยอยู่บริเวณปากอ่าวปัตตานี ก็ได้เตรียมรับมือไว้บ้างแล้ว เช่นการยกสิ่งของไปตั้งไว้ในที่สูง แต่ชาวบ้านยังไม่ได้ย้ายไปไหน เพราะยังไม่รู้ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน” นายมะรอนิง กล่าว
นายแวอูเซ็ง สูหลง ชาวบ้านดาโต๊ะ หมูที่ 4 ตำบลแหลมโพธิ์ เปิดเผยว่า ตอนนี้ชาวบ้านเล็งไว้ว่า หากเกิดเหตุพายุพัดรุนแรงหรือน้ำท่วม จะหนีไปหลบที่มัสยิดประจำหมู่บ้านและที่อาคารโรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐาน) เนื่องตั้งอยู่บนที่สูงและมีอาคารมั่นคงแข็งแรง
“ส่วนใหญ่ชาวบ้านยังจนจำเหตุการณ์พายุถล่มและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยน มีฟ้าร้อง ก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกกลัวมากกว่าปกติ แต่ชาวบ้านที่ประสบภัยบ้านพังทั้งหลังก็ยังอยู่ที่เดิม โดยมีการปลูกบ้านใหม่หรือซ่อมแซมส่วนที่เสียหายเกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นเพียงหลังเดียวที่เจ้าของไม่กล้าอยู่ที่เดิม จึงไปสร้างบ้านหลังใหม่บริเวณอื่นที่อยู่ห่างจากชายฝั่งอ่าวปัตตานี” นายแวอูเซ็ง กล่าว
นายบือราเฮง มะดีเยาะ โต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้านปาตา ซึ่งเป็นกลุ่มบ้านย่อยของบ้านตันหยงลูโละ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเคยประสบภัยพายุและน้ำท่วมช่วงเดียวกับบ้านดาโต๊ะ กล่าวว่า แม้บ้านที่พังเสียหายทั้งหมด 13 หลัง จะปลูกสร้างขึ้นมาใหม่โดยการช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ แล้ว แต่ชาวบ้านที่นี่ก็ยังหวาดผวาอยู่ โดยเฉพาะเวลาท้องฟ้ามืดครึ้ม เพราะกลังว่าจะมีพายุถล่มอีกครั้ง แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้เตรียมการอะไร
นายมะนาเซ ยูโซะ ชาวบ้านปาตา หนึ่งในผู้ประสบภัยบ้านพังทั้งหลัง กล่าวว่า ตอนนี้เวลามีฝนตกหนักหรือลมพัดแรงก็จะรู้สึกหวาดผวา เพราะยังจำเหตุการณ์พายุพัดและน้ำท่วมเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ได้ดี ตอนนี้ยังไม่ได้เตรียมการอะไร คงได้แต่รอว่าจะเกิดภัยพิบัติอีกหรือไม่ แต่ก็ไม่คิดจะย้ายไปไหน เพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน
ชายแดนใต้รับบริจาคช่วยน้ำท่วมภาคเหนือ กลาง อีสาน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2554 ที่สำนักข่าวอามาน อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายตูแวดานียา มือรีงิง บรรณาธิการสำนักข่าวอามาน ร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชน กลุ่มรักสันติ และเครือข่ายนักศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ได้ประชุมเตรียมเปิดจุดรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งและเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทางภาคอีสาน กลาง เหนือ ระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2554
ทั้งนี้ เป็นการระดมความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในนามความช่วยเหลือจากชายแดนใต้ ภายใต้โครงการรินน้ำใจชาวใต้ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย ภาคกลาง อีสาน เหนือ
นายตูแวดานียา เปิดเผยว่า สำหรับจุดรับบริจาคมี 2 แห่ง คือบริเวณหน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี และบริเวณลานวัฒนธรรม ข้างโรงเรียนเบญจมราชูทิศ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี และจะมีการเดินขอรับบริจาคตามตลาดต่างๆในตัวเมืองปัตตานี พร้อมรถแห่รับบริจาคบริเวณอำเภอรอบนอกของจังหวัดปัตตานีด้วย
นายตูแวดานียา เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา กลุ่มรักสันติ ได้เปิดรับบริจาคในพื้นที่ 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 10 -15 ตุลาคม 2554 ด้วย โดยอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เปิดรับบริจาคที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดนราธิวาส และเตรียมจะเปิดรับบริจาคที่จังหวัดยะลาด้วย
นายตูแวดานียา เปิดเผยอีกว่า การรับบริจาคครั้งนี้ จะเน้นรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งและเตรียมเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับบริจาคเงินผ่านการโอนเงินเข้าบัญชี จากนั้นจะรวบรวมสิ่งของและเงินบริจาคส่งผ่านทีมงานของนายสุรยุทธ์ สุทัศนจินดา ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ไปยังผู้ประสบภัยต่อไป
นายตูแวดานียา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี และวิทยาลัยการอาชีพปัตตานี มาเป็นอาสาสมัครรับบริจาคครั้งนี้ โดยจะสวมเสื้อทีมสีขาว เพื่อเป็นจุดสังเกตได้ง่าย
สำหรับประชาชนที่ต้องการบริจาค นอกจากบริจาคตามจุดรับบริจาคแล้ว ยังสามารถให้ทีมงานเดินทางไปรับของบริจาคได้ โดยประสานผ่านนายตูแวดานียา มือรีงิง หมายเลขโทรศัพท์ 089 - 7321987 ระหว่างวันที่ 16 - 18 ตุลาคม 2554
ขณะที่เทศบาลนครยะลา ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศชต.) เปิดรับบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยศชต.สนับสนุนพาหนะลำเลียงสิ่งของ โดยสามารถบริจาคสิ่งของได้ที่อาคารป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สถานีดับเพลิง) เทศบาลนครยะลา ตลอด 24 ชั่วโมง หมายเลขโทรศัพท์ 073 – 212345, 073 – 223666 หรือ 199
ส่วนที่จังหวัดสงขลา มีการเปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสานโดยตรงได้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา หรือสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา ตำหนักเขาน้อย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา หมายเลขโทรศัพท์ 074-323760,074311136
ที่ฐานทัพเรือสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา พลเรือโททวีป สุขพินิจ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ทัพเรือภาคที่ 2 เป็นประธานประกาศความพร้อมของกำลังพล ยุทโธปกรณ์ เตรียมรับมือในการช่วยเหลือประชาชนกับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะภัยน้ำท่วมในฤดูมรสุมที่กำลังจะมาถึง
ตูแวดานียา มือรีงิง
ทิ้ง - บ้านบางหลังที่บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีที่ประสบภัยพายุและน้ำท่วมเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2553 เจ้าของบ้านไม่ยอมซ่อมหรือสร้างใหม่ในที่เดิม แต่ย้ายไปสร้างในที่ใหม่ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเล เพราะยังผวากับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น