Skip to main content

ฮัสซัน โตะดง, นูรยา เก็บบุญเกิด, จริงใจ จริงจิตร โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 11 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี มีการปะชุมเรื่องการเตรียมการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนกล่ม ประจำปี 2554 มีหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี เข้าร่วมประมาณ 30 คน มีว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการปัตตานี เป็นประธาน

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ ได้สั่งให้นายอำเภอทุกอำเภอเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย และดินโคลนกล่มที่อาจจะเกิดขึ้นในอีกไม่วันข้างหน้า เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน โดยให้ทำงานร่วมกับผู้นำท้องถิ่น และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ส่วนจังหวัดจะดูแลด้านนโยบายและดูแลในส่วนที่ทางอำเภอไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ ได้สั่งการให้แต่ละอำเภอ แต่งตั้งชุดอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เพื่อติดตามเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัย วาตภัย และโคลนดินกล่ม การแจ้งเตือนและมีแผนซักซ้อมการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้สำรวจคนพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้ง่ายต่อการช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ กล่าวว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือนั้น ขอให้นายอำเภอเตรียมเครื่องมือต่างๆ ให้พร้อม เช่น เรือ น้ำดื่ม น้ำใช้ เทียนไข เสบียงอาหาร รวมทั้งสำรวจเส้นทางเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ในกรณีเกิดภัยพิบัติ

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ ยังได้สั่งการให้นายอำเภอสำรวจเส้นทางน้ำไหล เพื่อหาทางเร่งระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เกิดเหตุน้ำท่วมซ้ำซาก

ส่วนการฟื้นฟู่หลังจากน้ำลด ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติสั่งการให้เกษตรอำเภอ ประมงอำเภอและปศุสัตว์อำเภอรีบจดทะเบียนเกษตรกรโดยเร็ว เพื่อให้มีหลักฐานในการให้ช่วยเหลือประชาชนหลังเกิดเหตุน้ำท่วม

ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ กล่าวว่า กรณีเกิดภัยพิบัติอย่างรุนแรง ให้อำเภอยกร่างประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ โดยต้องถ่ายรูปทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ เพื่อประกอบการเบิกใช้งบประมาณฉุกเฉินได้

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ ยังสั่งการให้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปัตตานี ประชาสัมพันธ์เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือภัยพิบัติ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก่อนในเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของหน่วยงานของรัฐได้

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ แจ้งต่อที่ประชุมด้วยว่า จังหวัดได้ตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันแก้ไข อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มจังหวัดปัตตานีแล้ว และได้เปิดหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1880 เพื่อแจ้งเหตุแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ แจ้งด้วยว่า เวลาประมาณ 11.00 น.วันที่ 12 ตุลาคม 2454 ชาวมุสลิมในจังหวัดปัตตานีจะร่วมละหมาดฮายัต (ละหมาดขอพร) ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เพื่อขอพรจากอัลลอฮ ขอให้คนไทยทุกภูมิภาคผ่านพ้นภัยพิบัติโดยเร็วที่สุด และขอให้ป้องกันจังหวัดปัตตานีไม่ให้ประสบภัยด้วย

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ แจ้งอีกว่า ส่วนคนไทยพุทธจะร่วมขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้คนไทยผ่านพ้นภัยพิบัติและขอให้ปัตตานีปลอดภัย โดยจะร่วมขอพรที่วัดใหม่หรือวัดหลักเมืองปัตตานี เวลาประมาณ 11.00 น. ในวันเดียวกันด้วย

นายปัญญศักดิ์ โสภณวสุ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า มีชุมชนที่มักมีปัญหาน้ำท่วมขังในเขตอำเภอเมืองปัตตานี ส่วนมากจะอยู่ในตำบลปะกาฮะรัง ตำบลตะลุโบะ ตำบลบาราเฮาะ เช่น บริเวณหมู่บ้านจางา ตำบลปะกาฮะรัง บ้านจือโระ ตำบลบานา อำเภอเมือง ที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่สำรวจความพร้อมรองรับน้ำท่วมแล้ว พบว่าจะต้องสร้างท่อระบายน้ำเพิ่ม เพื่อให้การระบายน้ำได้ดีขึ้น

นายปัญญศักดิ์ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติของจังหวัดปัตตานีปีนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ  โดยได้บทเรียนจากเหตุน้ำท่วมเมื่อปี 2548 ซึ่งจังหวัดปัตตานีเป็นที่รับน้ำมาจากจังหวัดยะลา เพื่อระบายลงสู่ทะเล โดยมีการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้แล้ว เช่น เรือเล็ก เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 3 เครื่อง ขนาดเล็ก 3 เครื่อง และสุขาเคลื่อนที่ 21 ห้อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมจุดรองรับการอพยพประชาชนให้เพียงพอต่อการอพยพแล้ว

“หากเกิดพายุดีเปรสชั่นพัดถล่มชายฝั่งปัตตานีเหมือนปีที่แล้ว ซึ่งจะทำให้คลื่นซัดเข้าฝั่งอย่างรวดเร็วนั้น ต้องอพยพคนออกจากพื้นที่ประสบภัยอย่างเดียว เพื่อเอาชีวิตรอด แต่การรับมือปีนี้ย่อมดีกว่าแน่นอน” นายปัญญศักดิ์ กล่าว

 

สื่อมวลชนยะลา-ภาคเอกชนร่วมบริจาค

เมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน ที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเทศบาลนครยะลา ถนนเพชรเกษม อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายกฤษฎา  บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายพงษ์ศักดิ์  ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา  ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่เทศบาลนครยะลาตั้งขึ้น เพื่อให้ชาวจังหวัดยะลา ได้ร่วมบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง รวมทั้งสิ่งของต่างๆ ที่จะนำไปช่วยเหลือกับผู้ประสบอุทกภัย

ทั้งนี้ มีประชาชนนำข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม บะหมี่สำเร็จรูป มามอบบริจาค โดยเฉพาะนายอวิรุทธิ์ จันทร์อำนวยสุข จากห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงเจริญนาประดู่ ได้นำข้าวสารจำนวน 5,000 กิโลกรัมมาบริจาค นอกจากนั้น นางสุนิสา รามแก้ว ตัวแทนสื่อมวลชนจังหวัดยะลา ได้นำน้ำดื่มบรรจุขวด และปลากระป๋อง มาร่วมบริจาคด้วย

ศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมแห่งนี้ จะเปิดรับบริจาคทุกวัน และจะขนส่งสิ่งของที่ได้รับบริจาค นำไปให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง โดยรถบรรทุกคันแรก เช้าวันพฤหัสที่ 13 ตุลาคม 2554

เทศบาลนครยะลา แจ้งว่า ขอรับเพียงข้าวสาร อาหารแห้งต่างๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งผ้าอนามัย ซึ่งประชาชนสามารถเดินทางมาบริจาคได้ตลอด 24 ชั่วโมง