เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุมหลักเมือง อาคารศาลากลางจังหวัดยะลา นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เรียกหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดูแลป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติเข้าร่วมประชุมซักซ้อมแผนการป้องกัน ช่วยเหลือ และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาเหตุอุทกภัยในช่วงหน้าฝนของภาคใต้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
กฤษฎา บุญราช
นายกฤษฎา ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมในขั้นที่สามารถปฏิบัติงานได้ทันที่ เมื่อมีเหตุอุทกภัยเกิดขึ้น รวมทั้งแผนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ดินถล่ม รวมทั้งแผนการอพยพหาเกิดปัญหาอุทกภัยขั้นวิกฤต
นายฉลอง เกียรติศักดิ์โสภณ หัวหน้าโครงการชลประทานยะลา เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนการรองรับน้ำในช่วงหน้าฝนที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะที่เขื่อนบางลาง สามารถรับปริมาณน้ำได้ถึงร้อยละ 60 รวมทั้งการขุดคลองระบายน้ำ มีแผนการพร่องน้ำไว้ 3 ระยะ คือช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ปลายเดือนพฤศจิกายน และการพร่องน้ำเพื่อเตรียมรับน้ำช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ โดยประสานกับพื้นที่ปลายน้ำ คือโครงการส่งน้ำปัตตานี เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายฉลอง เปิดเผยด้วยว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดยะลา จะมีปริมาณน้ำฝนมากในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน หากมีประมาณฝนตกมากกว่า 250 มิลลิเมตรในระยะ 1-2 วัน ก็จะต้องเฝ้าระวัง โดยในจังหวัดยะลามีพื้นที่เสี่ยงที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง อำเภอรามันและอำเภอเบตง
“สำหรับพื้นที่ตำบลท่าสาป มีโครงการขุดลอกคลองตามพระราชดำริ 3 สาย คือ คลองลำดา คลองสาคอ และคลองบราแง ได้มีการขุดลอกไว้แล้ว และในปีนี้ได้รับงบประมาณดำเนินโครงการเพิ่มอีก 2 แห่ง ซึ่งในปี 2555 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะสามารถระบายน้ำได้ดี จากที่มีน้ำท่วมขังประมาณ 10 วัน ก็จะสามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้นภายใน 1-2 วัน” นายฉลอง กล่าว
นายฉลอง กล่าวอีกว่า สำหรับเขื่อนบางลางก็ได้มีการประสานกันแล้วว่า หากฝนตกเหนือเขื่อน ก็ให้เขื่อนบางลางเก็บน้ำเอาไว้ แต่ถ้าหากรับไม่ได้ก็จะมีการประสานงานเพื่อระบายน้ำ โดยยึดพื้นที่เกษตรกรเป็นหลัก ไม่ให้เกษตรกรเสียหาย ส่วนเรื่องความพร้อมในการรับมือน้ำท่วมนั้น ได้มีการประสานงานไปทุกหน่วยงานเพื่อเตรียมความพร้อมไว้แล้ว รวมทั้งแผนอพยพหากเกิดอุทกภัยขั้นวิกฤต ทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลาเตรียมแผนรองรับไว้แล้ว