Skip to main content

ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 19 ตุลาคม 2554 ที่ทำเนียบรัฐบาล สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ได้เข้าพบนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผู้กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนการปรับโครงสร้างการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ โดยตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบก.จชต. และให้ศอ.บต.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)ภาค 4 ส่วนหน้า นำโดยนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาฯ รวม 21 คน

นายอับดุลรอนิ กาหะมะ สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยหลังการเข้าพบนายยงยุทธว่า ได้มีการหารือหลายเรื่อง ซึ่งนายยงยุทธ กล่าวระหว่างการพบปะว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเน้นการกระจายอำนาจ โดยจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสมาจากเลือกตั้ง ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งในระบบราชการปัจจุบันจะปรับเป็นมนตรีจังหวัดของแต่ละจังหวัด ขณะที่ปลัดจังหวัดจะปรับเป็นเลขานุการจังหวัด

นายยงยุทธ บอกอีกว่า ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลและองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะมีอยู่เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง” นายอับดุลรอนิ กล่าว

นายอับดุลรอนิ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นายยงยุทธ บอกว่า จะเพิ่มอำนาจมากกว่าการให้ปรึกษาอย่างเดียว โดยมติของสมาชิกปรึกษาฯ รวมทั้งขอเสนอของหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะถูกนำมาแนวทางในการปฏิบัติงานด้วย แต่ต้องได้รับการสนับสนุนการประชาชนในพื้นที่ หากประชาชนไม่สนับสนุน ก็ไม่สามารถที่ดำเนินการได้

นายอับดุลรอนิ กล่าวว่า ส่วนการยื่นข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อนายยงยุทธ ครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่นายยงยุทธบอกไว้นั้น หากเกิดขึ้นจริงมันก็จะมากกว่าที่สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการเสียอีก

“นายยงยุทธยืนยันว่า ศอ.บต.จะยังมีอำนาจเหมือนเดิม ส่วนศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบก.จชต. ซึ่งจะเป็นหน่วยงานใหม่ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังไม่มีความชัดเจน เพราะยังอยู่ในกระบวนการทำประชาพิจารณ์ของรัฐบาล” นายอับดุลรอนิ กล่าว