นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
นายสมชาย กุลคีรีรัตนา กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ในฐานะตัวแทนจากชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล ได้รายงานต่อที่ประชุมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2554 ว่า จากกรณีที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สุ่มตรวจพบสารพันธุกรรม (DNA) ของสุกรในตัวอย่างแซนวิชไก่หยอง ตรา กุหลาบ เบเกอรี่ โดยผู้ประกอบการได้ใช้เลขเครื่องหมายฮาลาลเดียวกับ ผลิตภัณฑ์ขนมปังปอนเดิมที่ผลิตอยู่ โดยไม่ได้ขอเครื่องหมายฮาลาลใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์แซนวิชไก่หยอง
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ดังนั้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ร่วมกับชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล ซึ่งเป็นตัวแทนองค์กรประชาสังคม ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่สถานที่ผลิตเลขที่ 151 ถนนสิโรรส ซอย 6 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยจากการพูดคุยกับนายสุรินทร์ แก้วหล้า เจ้าของกิจการแซนวิชไก่หยอง ตรา กุหลาบ เบเกอรี่ พบว่า ตัวอย่างที่ตรวจพบสารพันธุกรรม (DNA) หมูเป็นตัวอย่างที่ผลิตที่บ้านเลขที่ 79/79 ถนนยะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยความยินยอมของนายสุรินทร์ ให้ญาติซึ่งไม่ใช่มุสลิมเป็นผู้ดำเนินกิจการ ภายใต้เครื่องหมายการค้าเดียวกัน
นายสมชาย กล่าวเพิ่มว่า นอกจากนี้แซนวิชไก่หยองที่ผลิตที่โรงงานที่จังหวัดยะลาไม่ได้ใส่ไก่หยอง 20 % ตามที่ระบุในฉลากมาหลายปีแล้ว เนื่องจากทางเจ้าของไม่มั่นใจว่าไก่หยองที่ใช้อยู่ฮาลาลหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้แก้ไขฉลากห่อให้ถูกต้อง ส่วนแซนวิชไก่หยองที่ผลิตที่โรงงานที่จังหวัดปัตตานียังคงใช้ไก่หยองเป็นตัวผสมอยู่ และแม้ว่าคณะทำงานได้แจ้งให้ยกเลิกการผลิตแซนวิชไก่หยองไปแล้ว ซึ่งโรงงานที่จังหวัดปัตตานีได้มีการยกเลิกการผลิตไปแล้ว แต่ที่โรงงานที่จังหวัดยะลายังมีการผลิตอยู่
“ซึ่งในพื้นที่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง แต่มีการร่างไว้แล้ว ซึ่งก็ยังไม่ผ่านสภาฯ โดยอาจจะใช้สภาประชาสังคมนี้เป็นองค์กรช่วยขับเคลื่อน” นายสมชาย กล่าว
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เสนอต่อที่ประชุมว่า การประชุมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ครั้งที่ 3/2554 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 ควรจะบรรจุวาระเพื่อพิจารณาเรื่องการแก้ปัญหาเครื่องหมายฮาลาลฉ้อฉล โดยประสานขอข้อมูลทางด้านกฎหมาย จากศูนย์ทนายความมุสลิม หรือเชิญตัวแทนศูนย์ทนายความมุสลิมมาร่วมประชุมด้วย