Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

คลองโตน

สมบูรณ์ – สายน้ำที่ไหลมาจากคลองโตนลาดภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง เป็นต้นน้ำสายหนึ่งของคลองสะม็อง แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า บริเวณนี้คือส่วนที่น้ำจากอ่างเก็บน้ำนาปรังท่วมถึง ตามที่ระบุให้เอกสารโครงการ

 

 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 25 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดสัมมนาเรียนรู้งานพัฒนาโครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง–จะนะ และผลกระทบจากการขุดลอกคลอง แนวทางการแก้ไขปัญหาของคนอำเภอนาทวี–จะนะ เพื่อแลกเปลี่ยนและเสนอแนวคิดต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอำเภอนาทวี และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีส่วนราชการ ผู้นำส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 50 คน

นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี จากมหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ อำเภอจะนะ กล่าวต่อที่สัมมนาว่า ตนคิดว่าโครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง–จะนะ และอ่างเก็บน้ำนาปรัง อำเภอนาทวี น่าจะไม่ใช่โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่เป็นโครงการรองรับแผนพัฒนาแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล และนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นมากกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องพิจารณาคือ โครงการนี้จะแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา

นายสถาพร โรจนะ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างที่ 11 สำนักโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง–จะนะ เป็นโครงการระบายน้ำลงสู่ทะเล เพื่อป้องกันน้ำท่วม จากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นจากในอดีต หากไม่มีการขุดลอกคลองจะทำให้น้ำท่วม เพราะไม่มีที่ระบาย

“โครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง–จะนะ ไม่ได้เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า หรือตอบสนองโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัททรานส์ไทย–มาเลซีย จำกัด อย่าพยายามตั้งโจทย์ว่าโครงการนี้ต้องการสนองตอบนิคมอุตสาหกรรม และโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล” นายสถาพร กล่าว

นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายฅนรักษ์จะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมต้องมีมิติที่หลากหลาย บรรดาสัตว์น้ำ และระบบนิเวศน์ริมคลอง จะต้องเหมือนเดิม ต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหารบริเวณริมคลอง หรือจะให้คลองเป็นแค่ทางผ่านน้ำเท่านั้น ทางรอดในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและเรื่องการระบายน้ำคือ ต้องศึกษาวิจัยชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

 “อย่าคิดแค่ต้องการสร้างทางระบายน้ำ แต่ต้องมองไปถึงเรื่องที่มีการถมพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ โดยองค์การบริหารส่วนตำบล จะต้องออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในเรื่องนี้ ทุกฝ่ายต้องมาพูดคุยกัน เพื่อให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันได้ สิ่งที่คนจะนะมีความกังวลมากที่สุดในขณะนี้คือ การสร้างเขื่อนนาปรัง ที่จะสูญเสียพื้นที่ป่าบนอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง 1–2 หมื่นไร่ ทำไมเราไม่ช่วยกันรักษาป่าเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม” นายกิตติภพ กล่าว