Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

เตรียม ส่วนราชการในจังหวัดสงขลา ร่วมประชุมเตรียมรับมือภัยพิบัติ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนว่า ภาคใต้ฝั่งตะวันออกอาจจะเกิดดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันได้

 

เมื่อเวลา 13.30.–16.30 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุมศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกจังหวัดสงขลา นายพีรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานประชุม

 

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก แจ้งต่อที่ประชุมว่า ช่วงเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน 2554 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส มีแนวโน้มว่าจะมีฝนตกหนัก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จึงควรเตรียมคณะทำงานศูนย์วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยให้พร้อม

นายโส เหมกุล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา แจ้งต่อประชุมว่า ขณะนี้นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจใช้เป็นศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งเป็น 4 เขต เขตที่ 1 อำเภอเมือง สิงหนคร สทิงพระ ระโนด และกระแสสินธุ์ ให้นายสุรพล พนัสอำพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลารับผิดชอบ เขตที่ 2 อำเภอหาดใหญ่ นาหม่อม รัตภูมิ ควนเนียง และบางกล่ำ ให้นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลารับผิดชอบ เขตที่ 3 อำเภอคลองหอยโข่ง และสะเดา ให้นายพีรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รับผิดชอบ เขตที่ 4 อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา ให้นายอัครพล บุณยนิตย์ ปลัดจังหวัดสงขลา รับผิดชอบ

นายดนัยวิทย์ สายบัณฑิต ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดสงขลา แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำสะเดา อ่างเก็บน้ำคลองจำไหร อ่างเก็บน้ำคลองหลา 930 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีรถแบ็คโฮขนาดเล็ก 50 คัน มีการขุดลอกคลอง 14 สาย มีสถานีสูบน้ำ 10 จุด มีเครื่องสูบน้ำ 50 เครื่อง เพื่อผลักดันลงสู่ทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 7 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ถ้าหากเกิดจำนวนน้ำฝนมาก จะมีสถานีเฝ้าระวัง 43 จุด สามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้าก่อน 10–11 ชั่วโมง

ผ.ศ.วรวิทย์  วณิชาภิชาติ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เคยเรียกประชุมคณะทำงานศูนย์วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจังหวัดสงขลา ส่งผลให้บริหารจัดการน้ำไม่ได้ ขนาดจัดระบบแจ้งภัยล่วงหน้าได้ 10–11 ชั่วโมง น้ำยังท่วมขนาดหนัก ทั้งที่ปริมาณน้ำอยู่ในระดับจัดการได้ ตนจึงไม่ค่อยเชื่อระบบราชการว่า จะจัดการไม่ให้น้ำท่วมได้ เฉพาะหน้านี้จึงควรมีการซ้อมแผน 2 แบบคือ แผนในวันปกติกับวันหยุดราชการ