Skip to main content

 ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

เตรียม เครือข่ายองค์กรชุมชนจาก 14 จังหวัดภาคใต้ เปิดรีสอร์ตริมทะเลสาบลำปำ จังหวัดพัทลุง จัดสัมมนาเตรียมรับมือภัยพิบัติ ในช่วงฤดูมรสุมระหว่างเดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม 2554 นี้

 

 

 

จากเหตุการณ์สึนามิ ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ริมฝั่งทะเลอันดามัน จากสตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง เมื่อเช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 คร่าชีวิตผู้คนไปไม่น้อยกว่า 2 แสนคน สู่เหตุการณ์น้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ และจังหวัดใกล้เคียง บวกรวมกับพายุครั้งใหญ่ ตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดปัตตานี ไปจนถึงชายฝั่งจังหวัดสงขลา เมื่อปลายปี 2553 กระทั่งปิดท้ายด้วยอุทกภัยในจังหวัดภาคใต้ตอนกลาง เมื่อเดือนมีนาคมต่อเดือนเมษายน 2554

ตามด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.5 ริกเตอร์ กลางดึกวันที่ 24 มิถุนยายน 2554 มีจุดศูนย์กลางที่อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง

นับเป็นฝันร้ายที่ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนทั้งภาคใต้

เหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด นำมาสู่การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหารือเตรียมความพร้อมเผชิญภัยธรรมชาติภาคใต้ ระหว่างวันที่ 24–25 ตุลาคม 2554 ที่หอประชุมโดม ลำปำรีสอร์ท ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

การสัมมนาที่จัดโดยสถาบันพัฒนาชุมชนเที่ยวนี้ มีสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายภาคประชาชน และชาวบ้านจาก 14 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วมประมาณ 150 คน

ทั้งหมดเห็นตรงกันว่า ควรพัฒนาหลายพื้นที่ให้มีความพร้อมในการเตรียมแผนรับมือภัยพิบัติ ที่อาจเกิดขึ้นในฤดูมรสุมของภาคใต้ช่วงปลายปี 2554

ในการบรรยายเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ความเสี่ยงภัยพิบัติ จะตั้งหลักรับมืออย่างไร” นายสมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกว่า คนไม่มีทางเอาชนะภัยพิบัติได้ ไม่ว่าโดยวิธีการใด มีแต่จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับภัยพิบัติให้ได้

“ปกติภัยพิบัติจะเกิดขึ้นตอนที่ชาวบ้านไม่มีข้อมูลอะไรเลย เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่เราจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างไร ทำอย่างไรที่จะเข้าใจธรรมชาติ เราเตรียมความพร้อมอะไรแล้วหรือยัง เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะตั้งเป้าว่า ปี 2554 คนภาคใต้ไม่มีใครตายจากภัยพิบัติ” นายสมพรตั้งคำถามสำคัญต่อผู้เข้าร่วมสัมมน

สิ่งที่นายสมพรให้ความสำคัญนำมาเน้นย้ำต่อที่สัมมนาคราวนี้ก็คือ การเตรียมฐานข้อมูลชุมชน การจัดทำฐานข้อมูลคนป่วย คนแก่ เด็ก ผู้หญิง เรือ อุปกรณ์ช่วยชีวิต สถานที่หลบภัย นวัตกรรมภูมิปัญญา ระบบการเตือนภัยธรรมชาติ โรงพยาบาลอยู่ที่ไหน ข้อมูลเสี่ยงภัยมีอะไรบ้าง การจัดเตรียมอาหารการกิน น้ำดื่ม กลไกการการขอความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ

“ชาวบ้านจะต้องจัดการดูแลตัวเองก่อน ควรวางแผนรับมือภัยพิบัติในระดับชุมชน ไม่ใช่รอขอความช่วยเหลือคนอื่น ถ้าไม่ไหวแล้วค่อยขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ควรนำบทเรียนปี 2553 มาสรุปว่าสูญเสียอะไรไปบ้าง” นายสมพรยิงคำถามชวนคิด สำหรับเตรียมการรับมือ

“ผมอาจจะทำแบบจำลองน้ำท่วม ส่งให้ศูนย์สารสนเทศของชุมชนใช้แจ้งเตือนภัย เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการสังเกตข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา ผมพร้อมที่จะสอนหรืออบรมให้” นายสมพรเสนอแนวทางดูแลตัวเองในยามเผชิญภัยพิบัติ

ขณะที่การพูดคุยในหัวข้อ “การเตือนภัยเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติภาคใต้ก่อนภัยมา” นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ได้ถอดประสบการณ์ขึ้นไปช่วยเหลือสถานการณ์อุทัยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยยกตัวอย่างกรณีจังหวัดนครราชสีมา ที่มีการสำรวจพื้นที่ขวางทางน้ำ มีการลอกคลอง เอาผักตบชวาออกจากร่องน้ำ

“คนจังหวัดนครราชสีมาเปิดประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผลักดันให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระดับจังหวัด วางแผนด้วยกันว่า ถ้าน้ำในเขื่อนลงมา จะปล่อยให้มาในระดับเท่าไหร่

“ขณะที่จังหวัดอุบลราชธานีมีการฝึกอบรมรับมือภัยพิบัติ โดยเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ มีการฝึกสังเกตุระดับน้ำ เช่น ถ้าน้ำสูง 8 เมตร จะท่วมกี่ชุมชน พวกเขาจัดทีมขนย้าย 70 คน พร้อมเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยอพยพไปกางเต็นท์พักพิงอยู่บนถนน มีการประสานกับเทศบาลของบประมาณสร้างอาคารชั่วคราวสำหรับทำศูนย์อพยพ มีการซื้อเรือเป็นของตัวเอง มีการทำหนึ่งบ้านหนึ่งแพ เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก….

จากการไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติที่เคยตั้งที่ท่าอากาศยานดอนเมือง บริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ ของบริจาคยังกองเต็ม กระบวนการจัดการยุ่งยากสับสน ศูนย์พักพิงวุ่นวายโกลาหล ไม่มีใครเข้าไปบริหารจัดการ ทั้งยังมีเกมการเมืองมากับน้ำท่วม

“ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ภาคใต้เป็นแบบนั้น” เป็นคำถามปิดท้ายจากนางปรีดา คงแป้น ในวันนั้น

นายศิริพล สัจจาพันธ์ ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา  แสดงความคิดเห็นและเสนอว่า มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าภายใน

3 เดือนนี้ ภาคใต้มีโอกาสน้ำท่วมสูง” เป็นคำคาดการณ์จากนายสิริพล สัจจาพันธ์

เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายในระดับชุมชน ตำบล และจังหวัด ที่มีการประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ เพื่อบูรณาการรับมือภัยพิบัติร่วมกัน จึงนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ในสายตาของนายสิริพล สัจจาพันธ์

อันตามมาด้วยข้อเสนอให้จัดตั้งศูนย์ประสานเพื่อขอความช่วยเหลือในระดับกลุ่มจังหวัด แยกเป็น กลุ่มจังหวัดสตูลกับสงขลา, กลุ่มจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส, กลุ่มจังหวัดชุมพร พังงา ภูเก็ต กระบี่ ระนอง และกลุ่มจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง แต่ละกลุ่มต้องมีคณะประสานงานสื่อสารระหว่างกันและกัน จังหวัดที่มีความพร้อมและเข้มแข็ง ต้องช่วยกระตุ้นจังหวัดที่ยังไม่พร้อม

“เราจะต้องกลับไปทำแผนในระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด รวมถึงอาจมีแผนระดับภาค ผมคาดหวังว่าจังหวัดต่างๆ จะกลับไปดำเนินการ ในแต่ละพื้นที่ควรจะมีนักพัฒนาเอกชน (NGOs) มีเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ช่วยกระตุ้นให้มีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง” เป็นการบ้านที่มอบให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา จากนายสิริพล สัจจาพันธ์

นายไมตรี กงไกรจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ร่วมให้การบ้านชิ้นโตกับผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนั้น

“กรณีเร่งด่วนเฉพาะหน้าถ้าเกิดภัยพิบัติคือ การส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เพื่อให้ข้อมูลเตือนภัยเบื้องต้น ระยะต่อไปควรจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือระดับภาคใต้ ที่จำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐานของแต่ละจังหวัด นั่นหมายความว่า เบื้องต้นจังหวัดต่างๆ ต้องกลับไปตรวจสอบว่า ในแต่ละจังหวัดมีพื้นที่เสี่ยงภัยกี่พื้นที่ มีกี่พื้นที่ที่มีแผนชุมชน มีอาสาสมัครภัยพิบัติอยู่กี่หมู่บ้าน แบ่งความพร้อมของพื้นที่ต่างๆ เป็นระดับๆ ตามความเข้มแข็ง มีการประสานงานกับสาธารณสุขจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น...

“ควรมีการวิเคราะห์บทเรียน สาเหตุภัยพิบัติ ค้นหาอาสาสมัครจิตอาสา ทำข้อมูล พัฒนาคนตามบทบาทในแผน ทีมอพยพ ทีมกู้ภัย โรงครัว ทีมรักษาความปลอดภัย มีการซ้อมแผน พัฒนาแผน พัฒนาอาสาสมัครด้านกู้ภัย จราจร วิทยุเครื่องแดง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ข้อมูลสารสนเทศน์เพื่อเตือนภัย พัฒนาระบบบัญชาการเหตุการณ์

“สิ่งที่ควรนำไปคิดต่อประกอบด้วย 4 เรื่องหลักๆ คือ จัดทำแผนชุมชน ตำบล และลุ่มน้ำ เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัย จัดแบ่งคนไปดำเนินการ กำหนดวันเวลาดำเนินการ จะใช้ภูมิปัญญาอะไรแก้ไขปัญหาภัยเฉพาะหน้าไปพลางก่อน...

“กระบวนการทั้งหมดนี้ จะต้องพัฒนาคน พัฒนาแผน พัฒนาระบบบัญชาการในการประสานงานให้ความช่วยเหลือ จัดเตรียมพื้นที่อพยพ จัดทำขั้นตอนการอพยพ วิเคราะห์เส้นทางหนีภัย กำหนดจุดปลอดภัยในแต่ละพื้นที่ การจัดทำศูนย์ข้อมูลก่อนเกิดภัย ใครเป็นคนรับข้อมูลจากศูนย์ไปใช้ รับด้วยวิธีไหน

“เฉพาะหน้านี้ใครจะเข้าอบรมการดูข้อมูลในเว็บไซต์อุตุนิยมวิทยาก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 จังหวัดต่างๆ ควรส่งรายชื่อผู้ที่จะเข้าอบรมจังหวัดละ 2 คน ที่จะข้าอบรมการอ่านข้อมูลเตือนภัยจากภาพถ่ายดาวเทียม และอุตุนิยมวิทยา 2 วัน กับนายสมพร ช่วยอารีย์ ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554”

เหล่านี้ล้วนเป็นการบ้านที่ชาวองค์กรชุมชน จะต้องนำกลับไปขบคิดและเตรียมการทั้งสิ้น

คำถามต่อมาของนายไมตรี จงไกรจักรก็คือ

“ศูนย์ประสานความช่วยเหลือภัยพิบัติระดับภาคใต้จะตั้งกันตอนนี้เลยหรือไม่ ถ้าตั้งโครงสร้างการทำงานควรเป็นอย่างไร”

ถึงแม้จะยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดจากวงสัมมนาในวันนั้น แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นมาเตรียมรับมือกับภัยพิบัติด้วยตัวเองของคนภาคใต้โดยรวม ได้เริ่มขึ้นแล้ว ณ บัดนี้