ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
รถกระบะคันสีขาวฉาบโคลนแล่นกลางแดดเปรี้ยงตอนใกล้เที่ยงวัน ทว่าระหว่างการเดินทางกลับเจอสายฝนที่ตกหนักบ้าง เบาบ้างตลอดเส้นทางที่เป็นเนินควน ขรุขระ และคดเคี้ยว ขณะสองข้างถนนสายธารน้ำสีชาหลากไหลบ่า
“น็อต” นายนพดล ยาจิตร์ เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต ขับรถทะยานมุ่งสู่ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ที่มูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต ทำงานด้านทรัพยากรป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชนบริเวณป่าต้นน้ำคลองยัน
เป็นการเดินทางขึ้นมาสัมผัสกับกระบวนการเฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติของชาวบ้าน ในช่วงฤดูมรสุมของภาคใต้
ประวีณ จุลภักดี
น็อต เล่าถึงระบบการสื่อสารของเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและเตือนภัยพิบัติภูมินิเวศน์ลุ่มน้ำคลองยันว่า มีการเชื่อมร้อยกับอำเภอในพื้นที่ราบคือ อำเภอพุนพิน อำเภอเมือง และอำเภอที่อยู่ปลายน้ำชายฝั่งทะเลอ่าวบ้านดอนคือ อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอท่าฉาง อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ
“วิทยุเครื่องแดงทั้งหมด 200 เครื่อง มีแม่ข่ายที่มีเสาอากาศสูงไม่เกิน 60 เมตร ประมาณ 30 สถานี มีการเชื่อมโยงถึงกัน บอกกล่าวถึงสถานการณ์ว่า ตอนนี้พื้นที่ต้นน้ำมีฝนตกหนักแค่ไหน สามารถแจ้งเตือนเครือข่ายที่อยู่กลางน้ำ และปลายน้ำล่วงหน้าได้ถึง 3–5 ชั่วโมง” น็อต เล่า พร้อมกับคุยกับชาวบ้านผ่านวิทยุเป็นระยะๆ
ขณะที่ชาวบ้านปลายทางคุยตอบกลับมาว่า เมื่อขึ้นไปดูพื้นที่เสร็จแล้ว จะขออาศัยติดรถเดินทางไปร่วมเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่จะจัดขึ้นในช่วงบ่ายที่ศาลาประชาคมอำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ครั้นเมื่อขึ้นไปดูพื้นที่และสถานีแม่ข่ายที่เชื่อมโยงวิทยุแล้ว รถจึงบึ่งสู่อำเภอคีรีรัฐนิคม สู่เวทีการเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อร่างเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการภัยพิบัติน้ำท่วม ดินถล่มจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในประเด็นการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นฐาน เพื่อการป้องกันและเตรียมรับภัยพิบัติ พร้อมกับทำข้อเสนอต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดด้วย
ทว่า เวทีชาวบ้านคราวนี้มีคนเข้าร่วมค่อนข้างบางตาไม่ถึง 50 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยฯ สภาองค์กรชุมชน มีสมาชิกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หลงเข้าเวทีเพียง 1–2 คน เท่านั้น
“จังหวัดสุราษฎร์ธานียังไม่มีรูปธรรมการรับมือภัยพิบัติที่ชัดเจน ทางมูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต สภาองค์กรชุมชนจังหวัด พื้นที่ชุมชนที่เสี่ยงภัย มูลนิธิกุศลศรัทธา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี จึงร่วมกันประสานงานจัดระบบเตรียมรับมือภัยพิบัติทั้งจังหวัด ในนามสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี” นายประวีณ จุลภักดี ประธานมูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต บอกให้ฟังถึงความพยายามในการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือในระดับจังหวัด
นายประวีณ จุลภักดี บอกถึงเป้าหมายว่า ต้องการให้อำเภอต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆ กันอย่างชัดเจน ทั้งการจัดทำแผนชุมชน จัดเก็บข้อมูลให้ชัดว่ามีจำนวนคนป่วย คนแก่ เด็ก และผู้หญิงอยู่ที่ไหน อย่างไร มีการทำเส้นทางอพยพ ศูนย์อพยพ มีการเตรียมพร้อมกักตุนข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นเมื่อเกิดภัยพิบัติ
นายประวีณ จุลภักดี คาดหวังว่า การจัดเวทีร่วมกันขับเคลื่อนในนามสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะทำให้เกิดการเชื่อมร้อยระหว่างพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีระบบการสื่อสารส่งผ่านข้อมูลผ่านวิทยุเครื่องแดงเพื่อการเฝ้าระวังเตือนภัย สามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้นานเกือบ 5 ชั่วโมง เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน มีการทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ เสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด และหน่วยงานส่วนกลาง
“ชาวบ้านเคยเสนอไปยังจังหวัด ตกลงทางจังหวัดจะให้เครื่องมือสื่อสาร เรือ และอุปกรณ์กู้ชีพ แต่ทำไปทำมากลับไม่ได้รับอะไรเลย แต่ถึงอย่างไร ชุมชนก็ต้องจัดการตัวเองอยู่ดี ผมยังประสานไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ขอเครื่องมือและอุปกรณ์เตือนภัย ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ตอบกลับมาว่าให้เสร็จสิ้นภารกิจที่กรุงเทพมหานครก่อน แล้วจะเดินทางมาภาคใต้” นายประวีณ จุลภักดี เล่า
น้ำในคลองพุมดวง และในแม่น้ำตาปีสีขุ่นข้น พร้อมเสียงแจ้งเตือนจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติว่า มรสุมกำลังมาเยือนให้ระวังน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม
ขณะร่องรอยความเสียหายจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 จากฝนตกหนักต่อเนื่อง จนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เกือบทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังคงปรากฏให้เห็นร่องรอย