Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

ช่วยเพื่อน จุฑามาศ ทับทิมทอง รักษาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะแม่งานรับบริจาคสิ่งของส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ในขณะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็เป็นอีกพื้นที่ต้องเฝ้าระวังภัยพิบัติ

 

ภายในเต็นท์หน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี น้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง จำนวนมากถูกจัดแจงกองอย่างเป็นสัดส่วน ท่ามกลางการดูแลของเจ้าหน้าที่ของศูนย์รับบริจาค และสิ่งของอุปโภคบริโภคจังหวัดสุราฎร์ธานี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทางภาคเหนือ อีสาน กลาง ที่สาหัสยิ่งนัก

นักธุรกิจภาคเอกชน ผู้ประกอบการร้านค้า หน่วยงานราชการ ผู้มีจิตศรัทธา จะแวะเวียนมาเยือนมาบริจาคสิ่งของ เป็นครั้งครา เกือบทุกครั้งนางจุฑามาศ ทับทิมทอง รักษาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราฎร์ธานี จะออกมารับน้ำใจที่คนสุราษฎร์ธานีมอบให้กับผู้ประสบอุทกภัย

ขณะศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ประกาศเตือนภัยให้เตรียมรับมือกับการก้าวเข้าสู่ช่วงฤดูฝนของภาคใต้ นางจุฑามาศ ทับทิมทอง รักษาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เล่าถึงอุทกภัยเมื่อช่วงเดือนมีนาคม–เมษายน 2554 ซึ่งเป็นอุบัติภัยที่ร้ายแรงที่สุดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเคยประสบ

เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อนว่า จะมีฝนตกน้ำท่วมในเดือนมีนาคม

 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นายธีรยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเตรียมการรับมือภัยพิบัติ ถึงขนาดย้ำกับส่วนราชการต่างๆ ให้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ ในทุกวาระที่มีการประชุม

จึงไม่แปลกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะลุกขึ้นมาจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 พร้อมกับการประสานให้อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มในระดับอำเภอ และท้องถิ่นขึ้นมารองรับด้วย

“ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี อนุมัติงบประมาณ 10 ล้านบาท ให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ฝึกอบรมการเฝ้าระวังภัย การกู้ภัย ใน 11 ชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย มีการจัดซื้อเรือ และอุปกรณ์กู้ภัยไว้ประจำพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำมาใช้ให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” นางจุฑามาศ เล่าถึงการเตรียมรับมือภัยพิบัติ

ก่อนหน้านี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้จัดเสวนาหาแนวร่วมเพื่อประสานงานและแลกเปลี่ยนประเด็นเกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติ ในระดับผู้บริหารไปแล้ว 1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 90 คน และในระดับผู้ปฏิบัติ ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ อีก 1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 600 คน

“เราพยายามสร้างเครือข่ายสื่อสาธารณภัย เพื่อประสานงาน และปฏิบัติการร่วมกัน ไม่ว่าจังหวัด, เหล่ากาชาดจังหวัด, จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี, กองบิน 7 กองกิจการพลเรือน, กองเรือภาคที่ 2 กองเรือยุทธการ, ศูนย์ต่อสู้ป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบกที่ 4 ประจำพื้นที่ภาคใต้, กรมทหารราบที่ 25, กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด, สาธารณสุขจังหวัด ประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น” นางจุฑามาศ ทับทิมทอง อธิบายเครือข่ายการเชื่อมต่อประสานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ

ตอนนี้ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ประสานไปยังสาธารณสุขจังหวัด ให้ช่วยรับผิดชอบช่วยเหลือผู้ประสบภัย ครั้งที่ผ่านมามีโรงพยาบาลโดนน้ำท่วมกว่า 1 เมตร ครั้งนี้จึงจัดแจงกันว่าจะให้สาธารณสุขจังหวัดเป็นพยาบาลภาคสนามเคลื่อนที่ในพื้นที่น้ำท่วมโรงพยาบาล

“เราได้ประสานไปยังการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เตรียมผลิตน้ำดื่มไว้บริการประชาชนในช่วงเกิดภัยพิบัติให้ได้ในเบื้องต้นอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ และประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขุดลอก คู คลอง และท่อระบายน้ำต่างๆ ด้วย” นางจุฑามาศ ทับทิม แจกแจงถึงรายละเอียดกระบวนการรับมือ

 นางจุฑามาศ ทับทิมทอง ยอมรับว่าบทเรียนการจัดการภัยพิบัติในอดีต มีจุดบกพร่องผิดพลาดมากมาย ไม่ว่าเรื่องของอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือใช้การได้ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้จริง ระบบสื่อสารล่ม เป็นต้น

ข้อบกพร่องเหล่านั้น นำมาสู่การทบทวนและจัดทำแผนเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม ระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ มีการปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย สถานที่อพยพหนีภัยให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น จัดเตรียมอุปกรณ์กู้ภัยและจัดกำลังเจ้าหน้าที่ให้สามารถทำงานได้จริง

รวมทั้งแก้ปัญหาสัญญาณสื่อสาร ด้วยการติดตั้งเสา 4 จุดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สามารถเชื่อมต่อกันได้ระหว่างจังหวัด ทั้งยังมีการฝึกซ้อมแผนการใช้ระบบสื่อสารด้วย

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการประชุมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) จาก 19 อำเภอ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 จะซ้อมจำลองสถานการณ์จริงในพื้นที่ต่างๆ

            จากการทบทวนบทเรียนสู่การจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติ จะส่งผลให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน นี่คือประเด็นที่กำลังรอการพิสูจน์