Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

จากเหตุการณ์ฝนตกหนัก จากพายุดีเปรสชั่นพัดเข้าสู่ชายฝั่ทะเลงภาคใต้ เมื่อคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติใหญ่หลวงนานัปการกระหน่ำซัด ก่อนเหตุการณ์ปลายเดือนมีนาคม–เมษายน 2554 ประสบเข้ามาอีกคำรบ ทั้งน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขัง เป็นตัวกระตุ้นให้ชาวจังหวัดพัทลุงตื่นตัวเตรียมรับมือภัยพิบัติในเวลาต่อมา

ปลายปี 2553 สมาคมรักษ์ทะเลไทยได้ของบประมาณ ทำโครงการแผนฟื้นฟูหลังภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับชุมชนชายฝั่งรอบทะเลสาบสงขลา เพื่อฟื้นฟูชุมชนประมงรอบทะเลสาบสงขลา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เบญจวรรณ เพ็งหนู

เบญจวรรณ  เพ็งหนู

นางเบญจวรรณ  เพ็งหนู ผู้ประสานงานสมาคมรักษ์ทะเลไทย หนึ่งในคณะทำงานโครงการสร้างสุขสู่เมืองลุงน่าอยู่ เล่าถึงกระบวนการที่สมาคมรักษ์ทะเลไทยเข้าไปจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติในระยะแรกๆ ว่า มีการจัดตั้งศูนย์สื่อสารภาคประชาชนรอบทะเลสาบสงขลา มีอุปกรณ์ประจำศูนย์ประสานงานและเฝ้าระวังคือ วิทยุสื่อสารแม่ข่าย วิทยุลูกข่ายเครื่องแดงประจำศูนย์ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

ต้นปี 2554 เกิดความร่วมมือในระดับจังหวัดพัทลุง ระหว่างภาคีเทศบาลเมืองพัทลุงกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม 14 องค์กร เช่น สมาคมครอบครัวเข้มแข็ง เครือข่ายสตรีรอบทะเลสาบสงขลา เครือข่ายชุมชนรักษ์ลุ่มน้ำจังหวัดพัทลุง สมาคมรักษ์ทะเลไทย เป็นต้น

ความร่วมมือดังกล่าว เป็นที่มาของงบประมาณจำนวน 16 ล้านบาท จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการศึกษาและพัฒนาจังหวัดพัทลุงให้เป็นไปในทิศทางที่เกื้อกูลต่อวิถีชีวิตของคนพัทลุง กำหนดระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2554–2557 ภายใต้โครงการสร้างสุขสู่เมืองลุงน่าอยู่

มีดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก (SEA START RC) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการในการวิเคราะห์ทิศทางของภัยพิบัติ รวมถึงการวางแผนป้องกันและรับมือภัยพิบัติด้วย

“ลักษณะการเชื่อมโยงของจังหวัดพัทลุง จะมีเครือข่ายตามระบบนิเวศน์ พื้นที่ต้นน้ำคลองท่าเชียด ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด กลุ่มรักษ์เขาบรรทัด ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ พื้นที่กลางน้ำคือ อำเภอบางแก้วและอำเภอใกล้เคียง พื้นที่ปลายน้ำคือ ชุมชายฝั่งรอบทะเลสาบสงขลา” นางเบญจวรรณ  เพ็งหนู เล่าถึงกระบวนการเชื่อมร้อยความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดพัทลุง

ภายใต้ความร่วมมือชาวบ้านได้จัดทำฐานข้อมูลชุมชน เช่น ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเสี่ยงภัยในชุมชนคือ คนแก่ คนพิการ เด็ก และผู้หญิงท้องว่าอยู่ตรงจุดไหนของชุมชน จุดไหนเป็นจุดเสี่ยงในการเกิดภัย ไม่ว่าที่ลุ่มน้ำท่วมขัง พื้นที่น้ำไหลหลาก มีการสำรวจข้อมูลเส้นทางการอพยพ จุดประสานงานในการช่วยเหลือ ตลอดทั้งเครือข่ายวิทยุเครื่องแดง

พร้อมกับสร้างทีมอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายในชุมชน ซึ่งมาจากตัวแทนกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน กลุ่มรับซื้อน้ำยาง กลุ่มประมงอาสา คอยเก็บรวบรวมข้อมูล จัดทำแผนชุมชน มีการประชุมทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง

จากประสบการณ์น้ำท่วม เมื่อปี 2553 นางเบญจวรรณ เพ็งหนู และเพื่อนผู้ประสบภัยพบว่า สิ่งของที่มาช่วยเหลือไม่ได้ถูกกระจายไปถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ใครอยู่ติดถนนจะได้รับความช่วยเหลือ คนก้นซอยที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่า กลับไม่ได้สิ่งของที่ส่งเข้ามาบรรเทาความเดือดร้อน เนื่องจากเส้นทางเข้าไปยังชุมชนลำบาก มีต้นยาง เสาไฟฟ้าล้มขวางเส้นทางสัญจร

“จึงมีแนวทางว่า เมื่อหน่วยงานของรัฐตั้งศูนย์กลางประสานให้ความช่วยเหลือ ให้คณะกรรมการของแต่ละชุมชนคอยตรวจสอบข้อมูลว่า จะช่วยเหลือใครก่อนหลังอย่างไร แจกสิ่งของอย่างไรไม่ให้ซ้ำซ้อน แจกอย่างไรให้ทั่วถึง เป็นต้น” เป็นคำอธิบายจากนางเบญจวรรณ เพ็งหนู

ในแผนของเครือข่ายระดับจังหวัด ภาคประชาชนเสนอให้มีการวางผังเมืองระดับจังหวัด และระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้เหตุผลว่าปัญหาน้ำท่วมส่วนหนึ่งมาจากการวางผังเมือง โดยเฉพาะการสร้างถนนกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำขังและไหลช้า

รวมทั้งประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ขุดลอก คู คลอง ท่อระบายน้ำด้วย

ฝนตกติดต่อกันมา 10 กว่าวันแล้ว แม้ปริมาณอาจไม่มาก แต่กระแสน้ำข้างถนนไหลแรงเอ่อล้นคูท่วมทุ่งนา ที่รอบข้างถูกทับถมเป็นอาคาร บ้าน และถนนสูง

บนท้องฟ้าปกคลุมด้วยเมฆครึ้มดำ มีทีท่าว่าจะกระหน่ำลงมาเป็นฝนห่าใหญ่ ฤดูฝนของภาคใต้ถึงเวลามาเยือนแล้ว