Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

รอเก็ก หัดเหม

ไม่ว่ามรสุมพัดผ่านภาคใต้สักกี่ครั้ง ฝนจะตกสักกี่หน เกือบทุกครั้งจังหวัดตรังจะต้องประสบอุทกภัยเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นปลายเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ทุกจังหวัดในภาคใต้โดนหนักกันถ้วนหน้า อุทกภัยกลางฤดูร้อนปลายเดือนมีนาคมต่อเดือนเมษายน 2554 น้ำก็ถล่มจังหวัดตรังค่อนข้างสาหัสเอาการ ล่าสุดวันที่ 12 กันยายน 2554 พื้นที่ 2 อำเภอ ของจังหวัดตรังคือ อำเภอย่านตาขาว และอำเภอปะเหลียน น้ำคลองก็เอ่อล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชนอีกจนได้

ถึงแม้จังหวัดตรังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทว่า เมื่อคราวปี 2548 นับได้ว่าเป็นที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างหนัก จนก่อให้เกิดการรวมกลุ่มในนามของ “เครือข่ายผู้ประสบปัญหาน้ำท่วม” มีการเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง แก้ไขปัญหาตลิ่งพัง และตรวจสอบคุณภาพน้ำ

ต่อมามีการต่อยอดสู่การเฝ้าระวังแม่น้ำตรัง  ฟื้นฟู และเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) และโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ (ดับบ้านดับเมือง)

นายรอเก็ก หัดเหม ประธานเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง  เล่าถึงการเชื่อมต่อเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรังว่า เป็นการรวมกลุ่มขององค์กรชุมชนตลอดแนวแม่น้ำตรัง ตั้งแต่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ราบกลางน้ำ และปลายน้ำชายฝั่งทะเล ประกอบด้วย เครือข่ายฟื้นฟูสายน้ำคลองชี องค์กรชุมชนตำบลเขาวิเศษ องค์กรชุมชนตำบลท่าสะบ้า องค์กรชุมชนตำบลวังมะปราง กลุ่มองค์กรชุมชนตำบลหนองตรุด กลุ่มองค์กรชุมชนตำบลย่านซื่อ กลุ่มองค์กรชุมชนตำบลบางเป้า กลุ่มคนรักษ์คลองน้ำเจ็ด และกลุ่มคนรักคลองลำพู–บางหมด

สำหรับการดำเนินการของเครือข่าย เริ่มตั้งแต่สำรวจจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรชุมชน  จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ลุ่มน้ำตรัง และพัฒนาอาสาสมัครเฝ้าระวังสายน้ำ โดยเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงลุ่มน้ำทั้งในเชิงการใช้ที่ดิน  แม่น้ำ  และภัยธรรมชาติ เพื่อการเตรียมการป้องกันและวางแผนรณรงค์  ฟื้นฟู และนำไปสู่การนำเสนอยุทธศาสตร์จังหวัดตรังร่วมกัน

“ชุมชนจะไม่รอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐเพียงอย่างเดียว ชุมชนจะต้องจัดการตัวเองให้ได้ระดับหนึ่งก่อน ตั้งแต่เตรียมข้อมูลคนป่วย คนชรา เตรียมข้อมูลพื้นที่ว่า ตรงไหนเป็นจุดเสี่ยง ตรงไหนเป็นจุดปลอดภัย และจัดตั้งศูนย์ประสานความช่วยเหลือ” นายรอเก็ก หัดเหม

ส่วนการเตรียมการรับมือภัยพิบัตินั้น เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรังได้ระดมทุนซื้อเรือท้องแบนมอบให้ชุมชนเสี่ยงภัย นอกจากนี้ยังอบรมชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ใช้เรือเป็น ต้นเดือนตุลาคม 2554 ก็มีการฝึกอบรมอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัยตำบลละ 10 คน เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

นอกจากมีจุดประสานงานในพื้นที่ต่างๆ ในระดับตำบลแล้ว ยังมีการประสานงานด้วยวิทยุสื่อสารเครื่องแดง ที่ชุมชนชายฝั่งในเครือข่ายมูลนิธิอันดามันตั้งแต่จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดระนองใช้อยู่ 350 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือเพื่อการสื่อสารและแจ้งเตือนภัย

สำหรับการประสานงานในระดับจังหวัด เครือข่ายจะใช้มูลนิธิอันดามันเป็นศูนย์ เพราะหน่วยงานต่างๆ จะประสานผ่านมูลนิธิอันดามันเป็นหลัก จากนั้นจึงประสานมายังศูนย์ประสานงานในพื้นที่อีกต่อหนึ่ง

“บางเรื่องผมอยากให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง และหน่วยงานอื่นๆ ประสานงานตรงกับทางพื้นที่ ไม่ต้องผ่านมูลนิธิอันดามัน เช่น พื้นที่ต้นน้ำฝนตกหนักอีก 2 – 3 วัน น้ำจะท่วม ควรจะแจ้งตรงมายังคนกลางน้ำว่า ให้เตรียมขนของหรืออพยพ คนพื้นที่ปลายน้ำก็สามารถขึ้นมาช่วยขนของได้” นายรอเก็ก หัดเหม เสนอ

 ขณะที่เรื่องอาหารการกินนั้น นายรอเก็ก หัดเหม บอว่าไม่ต้องห่วง ชาวบ้านตุนข้าวสารอาหารแห้งสามารีถประทังชีวิตได้ประมาณ 10 วัน แก๊สหุงต้มหมดไปเติมได้ทันที ทางหอกระจายข่าวของชุมชน และรถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเตรียมพร้อมออกประกาศเตือนภัย ถ้าหากมีแนวโน้มว่าน้ำจะท่วม ชาวบ้านไม่มีปัญหากับน้ำท่วม เพราะเราชินแล้วกับการถูกน้ำท่วมปีละหลายครั้ง” นายรอเก็ก หัดเหม บอก

“ลมตะวันตกพัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับในช่วงวันที่ 11–16 พฤศจิกายน 2554 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย”

เป็นการคาดหมายลักษณะอากาศของภาคใต้ฝั่งตะวันตกในขณะนี้ โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก