Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

สื่อชายแดนใต้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ห้องประชุมชั้น 2 สำนักข่าวอามาน โครงการปัตตานีเพลส อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีการจัดสนทนาเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการอบรมสื่อด้านนิติวิทยาศาสตร์ จังหวัดชายแดนใต้ มีสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 20 คน

นายตูแวดานียา มือรีงิง ว่าที่นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ แจ้งวัตถุประสงค์ของการจดสนทนาต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากที่ผ่านมา สื่อไม่ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเกาะติดและต่อเนื่องทั้งที่เป็นพื้นที่ไม่ปกติ จึงคิดจะเชิญผู้รู้ด้านกฎหมายมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคดีความมั่นคง เพื่อช่วยให้สื่อทำข่าวเรื่องนี้ได้ดีขึ้น นำไปสู่การร่างหลักสูตรและการอบรมสื่อด้านนิติวิทยาศาสตร์

ในวงสนทนาได้มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางถึงสาเหตุที่ข่าวคดีความมั่นคงไม่ได้รับความสนใจจากสื่อ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่เข้าใจยาก มีความซับซ้อนและใช้เวลานาน ในขณะเดียวกันสำนักข่าวต้นสังกัดในส่วนกลางเองก็ไม่ให้ความสำคัญกับข่าวจากพื้นที่ หรือไม่เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ทำให้มีการนำเสนอที่บิดเบือนไป

นายนครินทร์ ชินวรโกมล ช่างภาพข่าวจังหวัดยะลา กล่าวว่า การทำข่าวเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมค่อนข้างยากลำบาก ซับซ้อน เพราะเงื่อนไขของขั้นตอนระเบียบของศาล ของตำรวจและหน่วยงานต่างๆของรัฐ ปัจจุบันสื่อในพื้นที่ยังทำข่าวความไม่สงบตามปกติ แต่เมื่อส่งไปส่วนกลางแล้ว ไม่ออกข่าว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสื่อส่วนกลางมองสถานการณ์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทำให้ข่าวถูกลดทอนความสำคัญลง ทำให้สื่อกระแสหลักในพื้นที่หมดกำลังใจ

นายระพี มามะ ว่าที่เลขาธิการสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม มักจะถูกปกปิดไม่ให้เผยแพร่ ทั้งๆที่มีหลักฐานเยอะแยะ เพราะหน่วยงานรัฐกลัวได้รับผลกระทบ เช่น มักไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการถ่ายรูป

นางรอซีดะห์ ปูซู ผู้สื่อข่าวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ข้อเท็จจริงบางเรื่อง นักข่าวรู้แต่มีปัญหาเรื่องการนำเสนอ ทางออกที่เคยทำคือ ไปตามหาข้อเท็จจริงที่บ้านของแหล่งข่าว สอบถามจากครอบครัว เกี่ยวกับก่อนเกิดเหตุการณ์ เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นสถานการณ์ตอนเกิดเหตุการณ์  โดยพยายามนำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาเอง ไม่ได้ตัดสินหรือสรุป

นายสุพจ จริงจิตร บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า เห็นว่านักข่าวในพื้นที่ยังมีความกลัว ไม่กล้ากับอำนาจรัฐ อาจเป็นเพราะนักข่าวในส่วนกลางมีความปลอดภัยมากกว่านักข่าวต่างจังหวัด ข่าวกระบวนการยุติธรรมเป็นข่าวเกี่ยวคดี ความเป็นความตาย เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่ ทำให้นักข่าวไม่ค่อยกล้า กังวลเรื่องถูกคุกคาม

นายมูฮำหมัดซอบรี เจ๊ะเลาะ จาก southern peace media กล่าวว่า นักข่าวคนมลายูในพื้นที่ มีความกังวล กลัวเรื่องการถูกคุกคาม แต่ก็นึกเสมอว่า ถ้าไม่ทำแล้วใครจะทำ

นายสุวัฒน์ จามจุรี อดีตกลุ่มสื่อซอลีฮีน กล่าวว่า เห็นใจนักข่าวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีรายได้น้อย

สื่อชายแดนใต้

จากนั้นในวงสนทนาได้หารือกันว่า สื่อมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรได้รับการสนับสนุนในด้านใดบ้าง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งมีข้อเสนอที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่เห็นว่า ควรได้รับความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้กฎหมายพิเศษฉบับต่างๆ รวมทั้งกฎหมายปกติที่มีใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ ยังเสนอว่า ควรทำหนังสือถึงกองบรรณาธิการสำนักข่าวส่วนกลาง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากยิ่งขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณีการเขียนข่าวว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 แต่บรรณาธิการในส่วนกลางเข้าใจว่า ผู้ต้องสงสัยไม่สามารถควบคุมตัวได้ ทำได้เพียงการเรียกมาสอบสวนและปล่อยตัวไป ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเปลี่ยนจากคำว่าผู้ต้องสงสัยเป็นการจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับความเสียหาย

ส่วนโครงสร้างองค์กรข่าวที่มีสตริงเกอร์ หรือนักข่าวที่ขายข่าวรายชิ้น เป็นระบบที่ไม่มีความเป็นธรรมต่อนักข่าวและไม่เอื้อให้นักข่าวต้องทำข่าวที่เข้าใจยาก โดยมีข้อเสนอว่า ควรมีสวัสดิการให้กับนักข่าวท้องถิ่นให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับนักข่าวประจำ การซื้อพื้นที่ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์กระแสหลัก เพื่อนำเสนอข่าวของสื่อชายแดนใต้ ควรมีเวทีถอดบทเรียนระหว่างนักข่าวจังหวัดชายแดนใต้กับภาคประชาสังคมและกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง

ในช่วงบ่ายมีการหารือถึงการจัดทำหลักสูตรการทำข่าวกระบวนการยุติธรรม เพื่อใช้ในการอบรมนักข่าว โดยมีเป้าหมายคือการเสริมสร้างศักยภาพสื่อเพื่อสร้างความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้