ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
อารีย์ ติงหวัง
มองผิวเผินจังหวัดสตูลไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ถ้าเจอก็น่าจะแค่เจิ่งนองเหมือนฤดูน้ำหลากมากกว่า เนื่องด้วยอยู่ในที่สูงบนเทือกเขาบรรทัด จากทิศตะวันออกค่อยๆ ลาดต่ำสู่ทิศตะวันตกไหลลงสู่ทะเลอันดามันโดยมีลุ่มน้ำสำคัญแค่สายสั้นๆ คือ คลองละงู คลองดุสน และคลองท่าแพ เป็นเส้นทางน้ำผ่าน
ทว่า ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ จังหวัดสตูลถือเป็นอีกจังหวัด พลันที่มีฝนฟ้ามรสุมปกคลุมภาคใต้เมื่อไหร่ ก็จะโดนภัยพิบัติเกือบทุกครั้ง ตัวอย่างเมื่อคราวมรสุมถล่มตอนเดือนพฤศจิกายน 2553 ไม่เว้นกระทั่งครั้งปลายเดือนมีนาคม 2554 จนล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก เมื่อเดือนกันยายน 2554
จังหวัดสตูลใช่จะเสี่ยงกับภัยที่มากับน้ำเท่านั้น ด้วยเกิดเหตุแผ่นดินยุบอยู่บ่อยครั้ง ถ้าหากย้อนกลับไปยังวันที่ 27 ธันวาคม 2547 คราวเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มหมู่บ้านริมชายฝั่งจังหวัดสตูล หลังจากนั้นก็มีมูลนิธิอันดามัน และสภากาชาดอเมริกัน เข้ามาเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติให้กับหมู่บ้านริมชายฝั่งทะเงสตูล ที่ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า, ตำบลแหลมสน ตำบลปากน้ำ ตำบลละงู อำเภอละงู ตำบลตันหยงโป และตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล
“เมื่อกาลเวลาผ่านเลยทิ้งช่วงยาวนาน เป็นธรรมชาติของคนสตูลบ้านเรา ต่างพากันเฉยเมย เฉื่อยชา ทำให้ลืมไปว่า ครั้งหนึ่งเคยมีการเตรียมความพร้อมชุมชนในการรับมือภัยพิบัติ ด้วยเหตุนี้คนจังหวัดสตูล จึงคิดว่าน่าจะมีการหารือพูดคุยเตรียมการรับมือภัยพิบัติ ผ่านชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูลบ้าง ผ่านเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนบ้าง ผ่านมูลนิธิเพื่อการจัดการอย่างยั่งยืนจังหวัดสตูลบ้าง เพื่อจะได้รู้ว่าพื้นที่ที่เคยเตรียมการมาแล้ว ยังลุกขึ้นเดินต่อได้อีกหรือไม่ ส่วนพื้นที่ที่เคยเฉยหลับ จะขยับขึ้นนั่ง ยืน หรือเดินได้ไหม ทำอย่างไรให้ชุมชนต่างๆ ที่ไม่เคยขยับ พอน้ำท่วมเสียหายทีก็ไปขอความช่วยเหลือจากรัฐที จะได้ตื่นตัวลุกขึ้นมาเตรียมรับมือภัยพิบัติบ้าง”
นายอับดุลรอศักดิ์ เหมหวัง ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า เล่าถึงสภาพของชุมชนในวันนี้
ขณะที่นายอารีย์ ติงหวัง กรรมการสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ และผู้ใหญ่บ้านหลอมปืน ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล กล่าวถึงพื้นที่ที่เตรียมรับมือภัยพิบัติที่เป็นรูปธรรมที่สุดว่า น่าจะเป็นตำบลกำแพง และตำบลละงู อำเภอละงู มีการสื่อสารทางวิทยุสื่อสาร 80 เครื่อง ใช้ชื่อศูนย์ว่า “ศูนย์นาคราช” มีการสื่อสารการเตือภัยพิบัติ ระหว่างคนใน 2 ตำบลนี้ รวมทั้งพยายามติดต่อสื่อสารกับเครือข่ายวิทยุสื่อสารของอำเภอควนกาหลง อำเภอควนโดน และอำเภอเมืองด้วย
“การเชื่อมต่อเครือข่ายเพื่อรับมือัยพิบัติในระดับจังหวัด ดำเนินการไปได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ให้ผมประเมินจังหวัดตัวเอง ผมว่าจังหวัดสตูลเตรียมการได้แค่ 30% เท่านั้น” นายอารีย์ ยอมรับสภาพความจริงในจังหวัดสตูล
ถึงกระนั้นที่บ้านหลอมปืนของผู้ใหญ่อารีย์ ติงหวัง ก็มีการรับบริจาคเงินเพื่อจัดซื้อวิทยุสื่อสารเครื่องแดง ให้องค์การบริหารส่วนตำบลละงู 1 เครื่อง ให้ที่ว่าการอำเภอละงู 1 เครื่อง และประจำไว้ที่หมู่บ้าน 1 เครื่อง เพื่อใช้ประสานงานในเรื่องต่างๆ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการมีเฉพาะวิทยุสื่อสารเครื่องดำ ซี่งหมู่บ้านไม่มี
เหตุที่นายอารีย์ให้ความสำคัญกับวิทยุสื่อสาร เนื่องจากครั้งเกิดเหตุสึนามิเมื่อปี 2547 ชาวประมงพื้นบ้านสื่อสารถึงกันผ่านวิทยุเครื่องแดง บอกคนในเครือข่ายสื่อสารไม่ให้เข้าบริเวณคลื่นยักษ์ซัดถล่ม ทำให้ชาวบ้านหลายชีวิตรอดพ้นจากเหตุการณ์เลวร้ายคราวนั้นไปได้
นอกจากนี้ ชาวบ้านหลอมปืนยังได้ซื้อเครื่องปั่นไฟไว้ เพื่อชาร์จแบตเตอร์รี่ของวิทยุสื่อสารและโทรศัพท์ รวมทั้งใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับศูนย์ประสานงานด้วย
“ผมตั้งโจทย์ให้คนในหมู่บ้านจัดกระบวนการทำข้อมูลชุมชน ให้รู้สภาพว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ไหนปลอดภัยสามารถอพยพไปอยู่ได้ รวมถึงจัดทำข้อมูลคนแก่คนเฒ่า คนป่วย ลูกเล็กเด็กแดง เพื่อให้หน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือได้ตรงจุด ตรงเป้าหมายกับผู้ประสบความเดือดร้อนจริงๆ” นายอารีย์ เล่าถึงกระบวนการเตรียมความพร้อมของหมู่บ้าน